วิจัยพบ ‘ผักชี’ ใน จ.ลำพูน-ลำปาง สารเคมีตกค้างมากที่สุด

ทีมข่าว TCIJ : 18 ก.พ. 2561 | อ่านแล้ว 10729 ครั้ง

เปิดงานวิจัยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุ 'ผักชี' ที่วางขายในตลาดสด จ.ลำพูน-ลำปาง มีสารตกค้างและความถี่ในการพบสารเคมีมากที่สุด พบ ‘พาราควอต’ ตกค้างในดินความเข้มข้นสูงสุด คนลำพูน-ลำปางเกิน 85% มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาสุขภาพ ด้าน Thai-PAN ชี้งานวิจัยนี้สนับสนุนการวิจัยและข้อสรุปของ 'รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล' ที่กำลังถูกคุกคาม หลังชี้ว่าพาราควอตที่ใช้ในการเกษตรสามารถเคลื่อนย้ายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้

จากงานวิจัยล่าสุดของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ‘การศึกษาพัฒนาแนวทางการจัดการความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนด้วยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ปีที่ 2: จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง’ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ที่ได้ทำการศึกษาโดยเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และพืช ในพื้นที่เกษตรและในแหล่งน้ำธรรมชาติจากทุกอำเภอของ จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง เพื่อวิเคราะห์สารตกค้าง รวม 174 ตัวอย่าง เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะจากอาสาสมัครในทุกอำเภอของ จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง จำนวน 426 และ 415 ราย ตามลำดับ เพื่อวิเคราะห์กิจกรรมของ ‘เอนไซม์โคลินเอสเตอเรส’ และ ‘สารไดอัลคิลฟอสเฟตเมตาโบไลท์’ และประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ในด้านผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อม ผลการวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด 32 ชนิด ในตัวอย่างดิน น้ำ และพืช พบว่ามีสารตกค้างจำนวน 8 ชนิดได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, เฟนิโตรไทออน, อีไทออน, เมโทมิล, คาร์เบนดาซิม, ไกลโฟเสท, เอเอ็มพีเอ และพาราควอต ในระดับความเข้มข้นที่ไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำ และมาตรฐานคุณภาพดินของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่มีค่าไม่เกิน 1 มก./กก. ในตัวอย่างดิน และไม่เกิน 0.1 มก./ล. ในตัวอย่างน้ำ ยกเว้นสารกำจัดวัชพืช ‘พาราควอต’ ซึ่งพบตกค้างในดินความเข้มข้นสูงสุด 25.1 มก./กก. อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐานคุณภาพดินที่กำหนดไว้สำหรับสารดังกล่าว ส่วนสารตกค้างในพืชที่ตรวจพบมีค่าสูงสุดไม่เกิน 0.7 มก./กก.

ในด้านผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพประชาชน ผลการวิเคราะห์ระดับกิจกรรมของเอนไซม์ในตัวอย่างเลือดและระดับสารเคมีปนเปื้อนในตัวอย่างปัสสาวะของกลุ่มอาสาสมัครใน จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร และนักศึกษา พบว่ากลุ่มอาสาสมัครทั้ง 3 กลุ่ม ได้รับสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีแนวโน้มการได้รับสารเข้าสู่ร่างกายมากที่สุด และมีค่าเฉลี่ยของ AChE และ BChE ต่ำกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาของ จ.ลำพูน มีค่าเฉลี่ยเอนไซม์ต่ำกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ อาสาสมัครกลุ่มนักศึกษายังมีจำนวนผู้ที่ตรวจพบสารไดอัลคิลฟอสเฟตเมตาโบไลท์ในปัสสาวะมากที่สุด (ร้อยละ 95.58-96.67) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเกษตรกรและประชาชนทั่วไป (ร้อยละ 81.82-94.25)

พบ ‘ผักชี’ สารเคมีตกค้างมากที่สุด

ผลการวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ปนเปื้อนในพืชผักและผลไม้ที่รวบรวมจากตลาดสดในพื้นที่ศึกษาวิจัย จำนวน 459 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วยผักและผลไม้จำนวน 13 ชนิด ที่ได้รับความนิยมในการบริโภคมากที่สุด ได้แก่ ต้นหอม แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักชี ผักบุ้ง กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ลำไย ส้มเขียวหวาน ส้มจีน แอปเปิ้ล สาลี่ และ องุ่นแดง พบว่ามีสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตตกค้างในผักและผลไม้เหล่านี้ จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส, ไดอะซีนอน, อีไทออน, เฟนิโตรไทออน, มาลาไทออน, เมทิดาไธออน, พาราไทออน-เมทิล, โปรฟีโนฟอส, โปรไทโอฟอส และไตรอะโซฟอส โดยสารกำจัดศัตรูพืชที่ตรวจพบในผักและผลไม้ทุกชนิด คือ ‘คลอร์ไพริฟอส’ โดย ‘ผักชี’ เป็นผักที่มีสารตกค้างจำนวนหลายชนิดมากที่สุด (จำนวน 4-6 ชนิด) มีสารตกค้างในปริมาณความเข้มข้นมากที่สุด (พบคลอร์ไพริฟอสตกค้างที่ความเข้มข้น 187.2 ไมโครกรัม/กก.) และเป็นผักที่พบความถี่ในการตรวจพบสารเคมีมากที่สุด (ร้อยละ 100) ส่วนผลไม้ที่มีสารตกค้างจำนวนหลายชนิดมากที่สุด ได้แก่ ส้มเขียวหวาน และส้มจีน โดยพบสารเคมีตกค้างจำนวน 6-7 ชนิด ผลไม้ที่มีสารตกค้างในปริมาณความเข้มข้นมากที่สุด ได้แก่ ส้มเขียวหวานและแอปเปิ้ล โดยพบคลอร์ไพริฟอสตกค้างที่ความเข้มข้น 80.56 และ 47.56 ไมโครกรัม/กก. ตามลำดับ

เมื่อคำนวณการบริโภคและปริมาณการตกค้างของสารเคมีในร่างกาย พบว่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่ยอมรับให้เข้าสู่ร่างกายได้ในแต่ละวัน (Acceptable Daily Intake; ADI) อย่างไรก็ตามการประเมินความเสี่ยงด้วยการเปรียบเทียบค่าอ้างอิง (BMD10 chlorpyrifos/100) ที่ระดับ 14.8 ไมโครกรัม/กก.นํ้าหนักตัว/วัน พบว่าประชากรใน จ.ลำพูนและ จ.ลำปาง ที่มีค่าความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารสูงกว่าค่าดังกล่าวนั้นมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 90.59 และ 86.47 ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มประชากรเกินร้อยละ 85 ของ จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาด้านการสื่อสารในระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบต่อมไร้ท่ออื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตเข้าสู่ร่างกายโดย จ.ลำพูน มีประชากรในกลุ่มเสี่ยงมากกว่า จ.ลำปาง

อนึ่ง สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) รูปแบบส่วนใหญ่ของสารกลุ่มนี้ เป็นสารเคมีกำจัดแมลงที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสแบบถาวร เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายทั้งทางปาก ผิวหนัง และสูดดม จะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อม ๆ แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า น้ำลายออกมากกว่าปกติ ในกรณีที่มีอาการพิษรุนแรงจะหมดสติ น้ำลายฟูมปาก อุจจาระและปัสสาวะราด ชัก หายใจลำบาก และหยุดหายใจ สำหรับตัวอย่างของสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่มีจำหน่ายและค่าความเป็นพิษของสารเคมี อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ผลกระทบต่อสุขภาพจากสารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต

Thai-PAN ชี้งานวิจัยตอกย้ำควรแบนสารเคมี 'พาราควอต' และ 'คลอร์ไพริฟอส'

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ระบุว่างานวิจัยนี้ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ตอกย้ำ ความจำเป็นในการแบนสารเคมี 'พาราควอต' และ 'คลอร์ไพริฟอส' ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข และยังสนับสนุนการวิจัยและข้อสรุปของ รศ. ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล (นักวิจัยดีเด่นประจำปี 2557 สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวร) ที่พบว่าพาราควอตที่ใช้ในการเกษตรสามารถเคลื่อนย้ายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้

“งานวิจัยเชิงประจักษ์ชิ้นนี้ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงลบล้างคำกล่าวอ้างของบรรษัทสารพิษที่เผยแพร่ข้อมูล บิดเบือนว่าพาราควอตไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะถูกยึดไว้ในดินอย่างเหนียวแน่น เสื่อมฤทธิ์ และไม่เคลื่อนย้าย” Thai-PAN ระบุ [1]

NGO ชี้ ‘สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย’ ที่ฟ้องนักวิจัย อาจเป็นตัวแทนของบริษัทสารเคมี

การรณรงค์ 'ร่วมปกป้อง รศ.ดร. พวงรัตน์ - "เสรีภาพทางวิชาการ" ต้องได้รับความคุ้มครองจากการคุกคาม' โดยกลุ่ม 'เครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพ/สิ่งแวดล้อม และประชาชน' ผ่าน change.org

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย’ ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิชาการ นักวิจัย และผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ลาออกจากมหาวิทยาลัยนเรศวรภายในเดือน มี.ค. 2561 นี้ เพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ จากกรณีที่ รศ.ดร.พวงรัตน์ ได้เปิดเผยข้อมูลการตกค้างของพาราควอตในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลการทำงานวิจัยเพื่อรับใช้ชุมชนในจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ นอกจากนี้กลุ่มดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณายุติข้อเสนอที่จะให้มีการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตภายในเดือน มี.ค. 2561 นี้เช่นกัน [2]

ต่อกรณีนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่าการที่มีการล่ารายชื่อ 30,000 รายชื่อเพื่อคัดค้านการระงับการนำเข้าพาราควอตไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส นั้นพบว่าทางเครือข่ายที่ล่ารายชื่ออาจะมีความสัมพันธ์กับสมาคมอารักขาพืชไทย ที่มีกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตรวมอยู่ด้วย และที่มีการระบุว่าส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในเรื่องรายได้จำนวนมากนั้น ก็มีการตรวจสอบไปยังกรมวิชาการเกษตรแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ทางกรมวิชาการเกษตรไม่เคยมีข้อมูลตามที่กล่าวอ้าง

“หากพาราควอตไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ 53 ประเทศทั่วโลกคงไม่แบน แม้แต่ประเทศบราซิลที่เป็นประเทศที่มีการปลูกอ้อยมากที่สุดในโลกก็มีการประกาศแบน และก่อนหน้านี้ทางเครือข่าย 369 เครือข่ายเกษตรกร จาก 50 จังหวัดก็มีการคัดค้านการต่อทะเบียนพาราควอตไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เห็นด้วย ดังนั้นหากนายกฯ ยืนยันว่าต้องการคุ้มครองผู้บริโภคก็ควรยึดหลักตรงนี้ในการยืนข้างประชาชน ไม่ใช่วนกลับไปที่เดิมที่ทางหน่วยงานหลัก 4 กระทรวงมีการออกนโยบายร่วมกันชัดเจนแล้ว” นายวิฑูรย์ กล่าว [3]

รวมทั้งได้มีการรณรงค์ 'ร่วมปกป้อง รศ.ดร. พวงรัตน์ - "เสรีภาพทางวิชาการ" ต้องได้รับความคุ้มครองจากการคุกคาม' โดยกลุ่ม 'เครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพ/สิ่งแวดล้อม และประชาชน' ผ่าน change.org ร้องเรียนต่อ สถาบันวิชาการ เกษตรกร นักวิชาการ และประชาชนในสังคมไทย การรณรงค์นี้ระบุว่ากลุ่มที่ใช้ชื่อว่า 'สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย' นั้นถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็น front group ของบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากเป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากการมีข้อเสนอให้มีการแบนพาราควอต โดยผู้ก่อตั้งมักปรากฏตัวและทำกิจกรรมร่วมกับสมาคมอารักขาพืชไทย ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยซินเจนทา มอนซานโต้ และดาวเคมีคอล ผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส  โดยองค์กรและเครือข่ายด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และประชาชนที่ทำการรณรงค์ร่วมปกป้อง รศ.ดร. พวงรัตน์ นี้มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามอย่างร้ายแรงต่อการทำงานของนักวิชาการอิสระ ที่ได้นำความเชี่ยวชาญทางวิชาการมารับใช้สังคม จึงขอร่วมกันส่งกำลังใจไปยังรศ.ดร.พวงรัตน์ และคณะ รวมทั้งขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบกรณีนี้ ตลอดจนการใช้วิธีการที่มิชอบแทรกแซงนโยบายการแบนและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษภัยร้ายแรงโดยเร็ว และร่วมยืนยันว่าเสรีภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาปกป้องคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม จะต้องได้รับความคุ้มครองจากการคุกคามของอำนาจอิทธิพลทุกประเภท [4]

อนึ่ง รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล หรือ ‘อาจารย์พวงรัตน์’ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปี 2557 นักวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยนเรศวรปี 2554 และเป็นหัวหน้าทีมศึกษาวิจัยผลกระทบจากการตกค้างของพาราควอตในสิ่งแวดล้อม โดยได้นำทีมลงพื้นที่หาปัจจัยของสารเคมีทางการเกษตรต่อการเป็นโรคเนื้อเน่า ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู หลังมียอดผู้ป่วยนับร้อยราย จนนำมาสู่การคุกคามเพื่อกดดันให้อาจารย์พวงรัตน์ ลาออกจากมหาวิทยาลัยนเรศวร

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) (20/1/2561)
[2] เกษตรกรกว่า 30,000 ราย ลงชื่อค้านเลิก “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” (ประชาชาติธุรกิจ, 26/1/2561)
[3] จวกกรมวิชาการเกษตรให้ข้อมูล"พาราควอต"นายกฯไม่หมด (ไทยโพสต์, 1/2/2561)
[4] ร่วมปกป้อง รศ.ดร. พวงรัตน์ - "เสรีภาพทางวิชาการ" ต้องได้รับความคุ้มครองจากการคุกคาม (change.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15/2/2561)

 

อ่านเพิ่มเติม
จับตา: วัตถุอันตรายที่มีการนำสูงสุด 10 อันดับแรก
อลหม่านสารพิษ 'พาราควอต' เมื่อ 'สุขภาพ vs ต้นทุนผลผลิตเกษตร'

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: