การขยายการลงทุนของจีนในต่างประเทศ ในมุมมอง 'สิทธิแรงงาน'

แปลสรุปโดย พัชณีย์ คำหนัก 18 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3172 ครั้ง

การขยายการลงทุนของจีนในต่างประเทศ ในมุมมอง 'สิทธิแรงงาน'

พบปัญหาการลงทุนของจีนในต่างประเทศ ละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น จ้างงานราคาถูก สภาพการทำงานที่เลวร้าย นอกจากนี้จีนยังสร้างความขัดแย้งในเรื่องการจ้างงานโดยนำเข้าคนงานจีน ซึ่งไมได้สร้างผลประโยชน์ให้แก่คนงานในประเทศที่รับการลงทุน ที่มาภาพประกอบ: Knowledge@Wharton - University of Pennsylvania

ประเทศจีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและมีนโยบายเปิดประเทศในปี ค.ศ.1979 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของชีวิตประชาชนในประเทศที่น่าหวาดหวั่น พร้อมกับกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบทุนนิยมโลก จากนั้นผันตัวเองเป็น “โรงงานของโลก” ในปี 1990 โดยเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ใช้แรงงานย้ายถิ่นจากส่วนต่างๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ มีบรรษัทขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐขยายการลงทุนในต่างประเทศ จากปี 1995 มีบรรษัทจีนเพียง 2 แห่งลงทุนในต่างประเทศ ในปี 2007 ขยายจำนวนเป็น 22 บริษัท และในปี 2016 มีกว่า 100 แห่ง โดย 3 แห่งในจำนวนนี้ติดอันดับ Top 5 ที่มีรายได้สูงสุดของโลกจากการจัดอันดับของ Global Fortune นั่นคือ บ. State Grid, China Natural Petroleum และ Sinopec Group ภายใต้ยุทธศาสตร์ Going out/Going Global โดยรัฐมีบทบาทในการส่งเสริมบริษัทเอกชนให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ จนเป็นประเทศที่ลงทุนในต่างประเทศมากเป็นอันดับสองของโลกในปี 2015

จีนยังพยายามขยายอิทธิพลระดับโลกเพื่อถ่วงดุลกับมหาอำนาจอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา ยกระดับการแข่งขันกันในเวทีเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ คือ เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศ BRICS 5 ประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย บราซิล อินเดียและแอฟริกาใต้ รวมทั้งโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One belt, one road -OBOR) พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในยุคของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ในปี 2013 และเข้าถึงแหล่งเงินทุนขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ซึ่งนั่นคือ เป็นการผลิตซ้ำระบบโลกาภิวัตน์ ตอกย้ำยุคโลกาภิวัตน์ 2.0 ผลกระทบที่ตามมาคือ การทำลายสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิเสรีภาพของแรงงาน ที่ประเทศรับการลงทุนจากจีนกำลังเผชิญ รวมทั้งในจีนเองด้วย และจึงกลายเป็นวาระของภาคประชาสังคมในการปกป้องผลประโยชน์ทางสังคมทั่วโลก เนื่องจากไม่เชื่อมั่นว่า จีนจะเป็นทางเลือกในการสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างสันติภาพของโลกและความเป็นอยู่ที่ดีตามที่จีนอ้าง (เช่นการประชุมในภาคประชาสังคม ภาคแรงงานในฮ่องกง เมื่อปี 2017)

โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ไปเยือนเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต้องการต่อยอดมรดกเส้นทางสายไหมที่มีความยาว 6,000 กิโลเมตรเชื่อมกับยุโรป มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการค้าและโครงสร้างพื้นฐานในเมืองใหญ่ สร้างเขตเศรษฐกิจ 6 เขต ได้แก่ 1) การเชื่อมต่อกับยุโรป 2) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย 3) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก 4) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-แหลมอินโดจีน 5) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน และ 6) ระเบียงเศรษฐกิจบังคลาเทศ-จีน-อินเดีย-พม่า

ยุทธศาสตร์ OBOR มีเป้าหมายการลงทุน 5 ประการคือ 1) ความร่วมมือทางนโยบาย 2) การเชื่อมต่อสิ่งอำนวยความสะดวก 3) การค้าเสรี 4) การบูรณาการด้านการเงินและ 5) การเชื่อมโยงเคลื่อนย้ายผู้คน ล่าสุดในการประชุม A Belt and Road Forum ที่กรุงปักกิ่ง ปี 2017 มีรัฐมนตรีจากกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วม 29 ประเทศ มีระดับนำของสหประชาชาติ ธนาคารโลก และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ตัวแทนจาก 130 ประเทศเข้าร่วมประชุม ล่าสุดมีประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่ตกลงร่วมมือในโครงการนี้กับจีนแล้ว 68 ประเทศ ซึ่งโครงการ OBOR จะลงทุนก่อสร้างท่าเรือ สถานีพลังงาน ท่อก๊าซ ทางรถไฟ สะพาน การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและเกษตรกรรม

สำหรับจีนเองจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มศักยภาพในการลงทุนให้แก่บริษัทของจีนในโครงการก่อสร้าง พลังงาน เป็นต้น อีกทั้ง ยกระดับค่าเงินหยวน สร้างความมั่งคั่งให้แก่พื้นที่ด้อยพัฒนาของจีน โดยเฉพาะภาคตะวันตก เปิดตลาดใหม่ให้ระบายสินค้าและบริการของจีน สร้างบทบาทการเป็นมหาอำนาจแทนสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย

ผู้ที่ดำเนินโครงการ OBOR คือ คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ หรือ NDRC เป็นกลุ่มเล็ก นำโดยรองนายกรัฐมนตรี นาย Zhang Gaoli รวมทั้งทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ด้วย เมื่อปี 2013 ได้รับเงินทุนจากธนาคารพัฒนาของจีน (China Development Bank) กว่า 890 พันล้าน USD ดำเนินโครงการ 900 โครงการ และยังได้รับการอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาทางสายไหม 50 พันล้าน USD และธนาคารลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) อีก 100 พันล้าน USD
ปัญหาการลงทุนของจีน

1. การทำลายสิ่งแวดล้อมของประเทศที่รับการลงทุน เช่น การขุดเอาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เช่น ขุดลอกทรายจากชายหาด การทำลายที่อยู่อาศัย การก่อมลพิษ ซึ่งโครงการต่างๆ ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ
2. การไล่ที่ของประชาชนในท้องถิ่น และขาดการปรึกษาหารือกับประชาชนในชุมชน
3. การละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น จ้างงานราคาถูก สภาพการทำงานที่เลวร้าย นอกจากนี้จีนยังสร้างความขัดแย้งในเรื่องการจ้างงานโดยนำเข้าคนงานจีน ซึ่งไมได้สร้างผลประโยชน์ให้แก่คนงานในประเทศที่รับการลงทุน เช่น ในเคนย่า โครงการก่อสร้างถนนและสะพาน สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากเมืองมอมบาซาไปยังเมืองไนโรบิ เป็นต้น
4. การสร้างภาระหนี้สินผูกพันในประเทศที่ด้อยพัฒนา เช่น ศรีลังกา
5. การทุจริตโครงการ การขาดการตรวจสอบจากประชาชน ในบางประเทศมีการต่อต้านการลงทุนจากจีน เช่น เวียดนาม

จีนถือว่าเป็นประเทศขนาดใหญ่มีประชากรจำนวนมหาศาล จึงมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชีย อัฟริกา และเอาเปรียบทางการค้า จีนผลิตซ้ำลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่เคยก่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาแล้ว ล่าสุดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 การลงทุนของจีนอาจคุกคามต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนคนส่วนใหญ่ เพราะโครงการมีลักษณะกำหนดจากบนลงล่าง ขาดประชาธิปไตย มุ่งทำกำไรให้แก่ภาคเอกชนและชนชั้นนำของจีน จึงจำเป็นที่ภาคประชาสังคมจะต้องติดตามผลกระทบจากการลงทุนของจีนอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความคุ้มค่าของการลงทุน การผลิตซ้ำของระบบทุนนิยมเสรีนิยม สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่จบสิ้น และจำเป็นที่จะต้องต่อต้านการละเมิดสิทธิ ขยายความร่วมมือในหมู่ภาคประชาสังคมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งจับตานักการเมือง ข้าราชการ รัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศที่รับการลงทุนด้วย


ที่มา: ศูนย์ทรัพยากรเอเชีย, สมาพันธ์แรงงานฮ่องกงและองค์กรอื่นๆ. China’s Overseas Expansion: An Introduction to Its One Belt, One Road and BRICS strategies. กุมภาพันธ์ 2018. ฮ่องกง: พิมพ์ครั้งที่ 2

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: