สื่อเผย 'คอนโด' อีกหนึ่งต้นเหตุ 'น้ำท่วม กทม.'

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3805 ครั้ง

สื่อเผย 'คอนโด' อีกหนึ่งต้นเหตุ 'น้ำท่วม กทม.'

'ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์' ทำข่าวเจาะหาสาเหตุน้ำท่วม กทม. เปิดรายชื่อ 17 จุด เสี่ยงน้ำท่วม ชี้การขยายตัวของเมืองจนไม่เหลือพื้นดินรับน้ำและเกิดคอนโดผุดขึ้นมากมาย ส่งผลให้น้ำใช้จากครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ท่อระบายน้ำรับภาระมากขึ้น ที่มาภาพประกอบ: Pxhere (CC0)

ไทยรัฐออนไลน์ เผยแพร่รายงานพิเศษ 'ดินทรุดปีละเซนต์!17 จุดเสี่ยงน้ำท่วม กทม. แผ่รัศมีกว้าง เหตุคอนโดเกลื่อนเมือง' ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าที่ผ่านมาเป็นที่ทราบว่าเวลาฝนตกหนักไม่ถึงครึ่งชั่วโมง สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมทุกที มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่ประชาชนอาจนึกไม่ถึง คือ คอนโดฯ ที่ผุดขึ้นมากมายในเมืองกรุง หลายคนคงแปลกใจ และสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร

จากคำยืนยันของ นายสรรเสริญ เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานระบบโทรมาตร อดีตหัวหน้าศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม. ให้ข้อมูลว่า จุดเสี่ยงน้ำท่วม คือ พื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมกรณีฝนตกปานกลางถึงหนัก ใน กทม. มี 17 จุดดังนี้ 1. ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณวงเวียนหลักสี่ หน้า สน.บางเขน (เขตบางเขน) 2. ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร (เขตหลักสี่) 3. ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ (เขตจตุจักร) 4. ถนนพหลโยธิน ช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์ และแยกเกษตร (เขตจตุจักร) 5. ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน (เขตบางซื่อ) 6. ถนนราชวิถี ช่วงหน้าราชภัฎสวนดุสิต และเชิงสะพานกรุงธน (เขตดุสิต) 7. ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ (เขตราชเทวี) 8. ถนนศรีอยุธยา ช่วงหน้า สน.พญาไท (เขตราชเทวี)

9. ถนนเจริญกรุง (แยกหมอมี) จากถนนแปลงนามถึงแยกหมอมี (เขตสัมพันธวงศ์) 10. ถนนเยาวราช ฝั่งเหนือ จากถนนทรงสวัสดิ์ถึงถนนราชวงศ์ (เขตสัมพันธวงศ์) 11. ถนนจันทน์ จากซอยบ้าเพ็ญกุศลถึงไปรษณีย์ยานนาวา (เขตสาทร) 12. ถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ถึงถนนนางลิ้นจี่ (เขตสาทร) 13. ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ (เขตสาทร) 14. ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวา ถึงคลองแสนแสบ พื้นที่ฝั่งธนบุรี (เขตมีนบุรี ) 15. ถนนเพชรเกษม จากคลองทวีวัฒนาถึง คลองราชมนตรี (เขตบางแค) 16. ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ (เขตบางแค) 17. ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2 ถึงถนนบางขุนเทียนชายทะเล (เขตบางขุนเทียน)

ซึ่ง นายสรรเสริญ อธิบายอีกว่าทั้ง 17 จุดเสี่ยงจากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากประชาชน ถ้ามีระบบระบายน้ำเพิ่มเติมในปีนี้บางจุด ปีหน้าจุดเสี่ยงอาจลดระดับเป็นเฝ้าระวัง หรืออาจจะหายไปเลย โดยมีทั้งจุดเก่าสะสมตั้งแต่ในอดีต และมีจุดใหม่เพิ่มจากการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในถนนสายหลักอีกจำนวน 53 จุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วม หากฝนตกหนักถึงหนักมาก หรือบริเวณที่มีปัญหา อุปสรรค เกี่ยวกับระบบระบายน้ำ เช่น บริเวณงานก่อสร้าง

ดินทรุดปีละเซนต์ ท่อระบายน้ำถูกตัดตอน ปัจจัยน้ำท่วมหนักเป็นวงกว้าง

สำหรับข้อสงสัยไฉนฝนตกหนักทีไร น้ำท่วมถนนจนกลายเป็นคลองไปชั่วพริบตา นายสรรเสริญ อธิบายว่า เกิดจาก 5 ปัจจัย ดังนี้ 1. เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ จนเกิดเหตุฝนตกหนักมากขึ้นในเวลาสั้น 2. พื้นผิวจราจรใน กทม. ทรุดตัวทุกวัน ปีละ 1 เซนต์ จากการใช้น้ำประปา ทำให้พื้นผิวมีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายหลุมขนมครก เมื่อฝนตกในปริมาณมาก ทำให้ต้องรอน้ำระบายออกสู่กระบวนการลำเลียงน้ำ 3. ฝีมือมนุษย์ ทุกครั้งที่ฝนตกหนัก กทม. ประสบปัญหาระบายน้ำช้า เนื่องจากปริมาณขยะ เช่น กิ่งไม้ ที่นอน รวมถึงขยะชิ้นใหญ่ทั้งหมด ไหลไปรวมอยู่หน้าตะแกรงขวางทางระบายน้ำ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง และใช้เวลาระบายที่ยาวนานขึ้น ล่าสุด บ่อสูบน้ำอโศก เจอขยะที่เป็นป้ายโฆษณาไวนิลจำนวนมาก และพบเป็นประจำ แม้ยามหมดฤดูฝน กทม. ลอกท่อ ลอกคลองเป็นประจำทุกปี แต่ขยะก็มีมาเติมทุกวัน 4. พื้นที่ที่มีการก่อสร้าง น้ำจะท่วมง่าย เพราะระบบท่อระบายน้ำถูกตัดตอนไปบางส่วน เพื่อสร้างรถไฟฟ้า หลังสร้างเสร็จก็จะมีการคืนพื้นที่

“ใน กทม. แผ่นดินทรุดทุกวัน ทุกปี ปีละเซนต์ เห็นได้ชัดเจน ตอม่อสะพานลอยเหมือนจะสูงขึ้น แต่จริงๆ ดินทรุดปีละเซนต์ ฝนตกก็ไปขังตามแอ่งได้ง่าย ระบบสูบน้ำในกรุงเทพมหานคร จะสูบน้ำในท่อระบายน้ำใต้ถนนลงสู่คลอง (ถ้าไม่มีเครื่องสูบ ก็ปล่อยไหลลงคลอง) และสูบน้ำจากคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ท่อที่ออกแบบไว้ รองรับปริมาณฝนได้ ประมาณ 60 มิลลิเมตร ในจุดที่มีปัญหาหนักจริงๆ ก็จะแก้ไขโดยการสร้างท่อน้ำขนาดใหญ่ใต้ถนน” นายสรรเสริญ กล่าว

การขยายของตัวเมือง ภาวะคอนโดฯ เกิดเกร่อ น้ำใช้ครัวเรือนหนุนน้ำฝน

และปัจจัยลำดับที่ 5 คือ การขยายตัวของเมืองจนไม่เหลือพื้นดินรับน้ำ และเกิดคอนโดฯ ผุดขึ้นมากมาย ส่งผลให้น้ำใช้จากครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนายสรรเสริญชี้แจงว่า เดิมก่อนหน้าที่ไม่มีคอนโดฯ การใช้น้ำในครัวเรือนมีไม่มากเท่าไร ฝนตกไม่เท่าไร ท่อก็สามารถรับน้ำได้ แต่เมื่อเกิดคอนโดฯ ขึ้นเกร่อ จึงส่งผลต่อการระบายน้ำยามฝนตก

โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เช่น คอนโดฯ ห้องหนึ่งใช้น้ำประมาณ 100 ลิตร หากตึกหนึ่งมี 100 ห้อง ก็ใช้น้ำทั้งหมด 1 หมื่นลิตร เป็นปริมาณน้ำที่เกิดจากการใช้งานแต่ละวันที่ต้องระบายน้ำในกรณีที่ฝนไม่ตก มีส่วนทำให้ท่อระบายน้ำรับภาระมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนไม่ทันคิดว่า แท้จริงแล้วน้ำใช้จากครัวเรือนมีเยอะพอสมควรในยุคปัจจุบัน จากการขยายตัวของเมือง และเกิดคอนโดขึ้นมากกมายหลายร้อยโครงการ

“น้ำใช้ในครัวเรือนที่ต้องระบายเยอะอยู่แล้วในแต่ละวัน พอฝนตกก็มีน้ำมาเพิ่มมากขึ้นทำให้ระบายน้ำไม่ทัน เดิมสมัยก่อน แถบสุขุมวิท บางนา พระโขนง แต่ก่อนสองข้างทางเป็นป่าเป็นสวน ยังมีพื้นดินว่างรองรับฝนได้ สมัยนี้เป็นคอนโด แท่งปูน ไม่เหลือพื้นดินรับน้ำ ไม่มีใครเก็บกักน้ำเท่าไหร่ ทุกคนทิ้งน้ำออกจากบ้านตัวเองหมด

น้ำที่ตกมาแทนที่จะซึมลงดินเยอะๆ ก็กลายเป็นว่าถูกปล่อยลงผิวจราจร สภาพน้ำที่เกิดขึ้นจึงดูเยอะ โดยที่ท่อยังมีขนาดเท่าเดิม และออกแบบมา 10 ปี รองรับฝนได้จำกัด แต่ระบบระบายน้ำ กทม. อย่างไรเสียก็ต้องสูบออกให้ทัน บางครั้งท่อไม่พอ ฝนตกหนักๆ ก็หาทางแก้ไข นำเครื่องสูบน้ำมาเพิ่ม ทำท่อขนาดใหญ่เสริมใต้ดินมากขึ้น” นายสรรเสริญ ชี้แจง

แก้มลิงระดับครัวเรือน ช่วย กทม.ป้องกันน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม นายสรรเสริญ เปิดเผยอีกว่า เครื่องสูบน้ำในกรุงเทพฯ มีจำนวนหลายพันเครื่อง และมีหลายขนาดด้วยกัน สามารถสูบได้เต็มประสิทธิภาพ ในกำลังสูบ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยระบบการทำงานของเครื่องสูบจะทำงานอย่างต่อเนื่อง และกระจายทั่วพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเครื่องสูบน้ำจะแยกออกเป็น สถานีสูบน้ำหลัก และ สถานีสูบน้ำย่อย รวมถึงบ่อสูบและเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ โดยการทำงานของเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จะเก็บไว้ช่วยสูบในพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง

ทั้งนี้ กทม.ยังคงปรับปรุง พัฒนา ระบบระบายน้ำ ให้ทัน และเพียงพอต่อปัญหาที่ทวีเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่าง ระบบท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ อุโมงค์ระบายน้ำ สร้างเขื่อน ขุดลอกคูคลอง ทำความสะอาด ล้างท่อ ฯลฯ แต่ประชาชนก็สามารถช่วย กทม. ในการป้องกัน และลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมได้ เช่น การวางแผนการเดินทางโดยใช้ข้อมูล การช่วยเก็บน้ำ (แก้มลิงเล็ก) การช่วยกันดูแล ขยะ ลด งด ทิ้งขยะลงทางน้ำ ฯลฯ

“ปัญหาขยะนิดๆ หน่อย ช่วยกันได้เยอะเลย หากประชาชนช่วยกันดูแล หรือหากมีพื้นที่รองรับก็เก็บน้ำในช่วงฝนตกหนัก หาตุ่มมารอง คล้ายๆ แก้มลิงในครัวเรือนเล็กๆ อาจไม่เห็นผลมาก แต่ก็พอช่วยการระบายน้ำได้ดีขึ้น และติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐ พยากรณ์ฝนฟ้าอากาศ จากเรดาร์ของ กทม. เพื่อเฝ้าระวังและใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจในการใช้ชีวิตประจำวัน” นายสรรเสริญ กล่าว

กทม. เร่งผุด Pipe Jacking แก้น้ำท่วมซ้ำซาก จ่อเสร็จปี 2562

สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ที่ดำเนินการอยู่ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า สำนักการระบายน้ำ กทม. มีโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำ ด้วยวิธีดันท่อลอด (pipe jacking) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งหมด 14 โครงการ กทม.ลงนามว่าจ้างผู้รับเหมาแล้ว 10 โครงการ ได้แก่

1. ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) 2. ซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี 3. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู 4. ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง 5. ซอยสุขุมวิท 4 นานาใต้ 6. ถนนศรีอยุธยา และถนนพระรามที่ 6 7. ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ 8. ถนนสุขุมวิท 63 (เอกมัย) 9. ซอยสุขุมวิท 39 10. ซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา

และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 4 โครงการ ดังนี้ 1. สุขุมวิทซอย 14 2. ถนนจันทน์ 3. ถนนสุวินทวงศ์ และ 4. บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งกรมศิลปากรแนะนำให้ กทม.ขุดสำรวจทางโบราณคดีก่อนดำเนินโครงการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ โดยการก่อสร้างเน้นย้ำถึงความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจรในบริเวณดังกล่าวด้วย จากแผนการทำงาน 3 ส่วน

ส่วนแรก เป็นการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ส่วนที่ 2 จะก่อสร้างบ่อรับและบ่อดัน และส่วนที่ 3 เป็นการดันท่อ ซึ่งการทำงานบางอย่างแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ ดำเนินการควบคู่กันไป อย่างเช่น การก่อสร้างสถานีสูบน้ำ การก่อสร้างบ่อรับและบ่อดัน การดันท่อ เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วขึ้น ทั้งนี้ผู้รับจ้างจะทำงานในช่วงกลางคืน ระหว่างเวลา 22.00-05.00 น. จากนั้นจะคืนผิวการจราจรชั่วคราวเมื่อทำงานเสร็จในแต่ละวัน โดยวางแผ่น Top Slab ปิดฝาบ่อ เพื่อให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนเดินทางสัญจรได้ตามปกติในตอนเช้า ซึ่งคาดว่าทั้ง 7 โครงการจะทยอยเสร็จประมาณปี 2562

ธนาคารน้ำใต้ดิน 5 จุด โครงการชื่อเท่ แก้น้ำท่วมซ้ำซาก

อย่างไรก็ดี สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ยังมีอีกโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คือ โครงการ Water Bank หรือ ธนาคารน้ำใต้ดิน บริเวณ สน.บางเขน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แห่งที่ กทม.ดำเนินการในปี 2561 เพื่อเป็นจุดพักน้ำในช่วงฝนตก โดยลักษณะโครงการคล้ายกับแก้มลิง ที่ใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ แต่ธนาคารน้ำสร้างอยู่ใต้ดิน เพื่อให้ด้านบนใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ สำหรับธนาคารน้ำใต้ดิน บริเวณ สน.บางเขน กทม.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 61 กำหนดการทำงาน 120 วัน จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 6 พ.ย. 61

ทั้งนี้ หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน ซึ่งบริเวณดังกล่าวถือเป็น 1 ใน 17 จุดอ่อนน้ำท่วมขัง เพราะท่อระบายน้ำมีขนาดเพียง 1.20 เมตร การระบายน้ำลงสู่คลองบางบัวมีระยะทางไกล ทำให้ระบายน้ำได้ช้า เมื่อเกิดฝนตกปานกลางถึงหนัก มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. จึงมอบหมายให้ สนน.ทำพื้นที่จัดเก็บน้ำ หรือบ่อหน่วงน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดินแห่งนี้ มีความสามารถรับน้ำได้ 1,000 ลบ.ม.

ส่วนธนาคารน้ำใต้ดินอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดีรังสิต, บริเวณสะพานข้ามแยกถนนกรุงเทพกรีฑาตัดถนนศรีนครินทร์, บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 ถนนอโศกดินแดง และบริเวณหมู่บ้านเศรษฐกิจ ถนนเพชรเกษม คาดว่าจะสร้างเสร็จทั้งหมดภายในปี 2561 โดยทั้ง 5 แห่ง จะสามารถเก็บน้ำได้รวม 27,030 ลบ.ม.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: