ปี 2560 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ใช้งบ 266 ล้าน-แก้ไข 716 เรื่อง สนช.จี้ทำงานเชิงรุก

ทีมข่าว TCIJ : 15 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4219 ครั้ง

ปีงบประมาณ 2560 ‘สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ได้งบประมาณ 266,574,100 บาท รายจ่ายมากกว่ารายได้ เป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 177,076,884.45 บาท รับเรื่องร้องเรียน 5,339 เรื่อง พิจารณาแล้วเสร็จแต่ไม่ดำเนินการใดๆ 2,526 เรื่อง แก้ไขเยียวยา 716 เรื่อง ระบุมีข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับจัดสรรก่อนหน้านี้ไม่แสดงงบก็ได้ สนช. แนะนำทำงานเชิงรุกกว่านี้

จาก รายงานประจำปี 2560 ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แสดงสถิติผลการดำเนินการเรื่องร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ไว้โดยมีเรื่องร้องเรียนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินรับไว้พิจารณาทั้งสิ้นจำนวน 5,339 จำแนกเป็น เรื่องร้องเรียนรับไว้พิจารณาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 2,539 เรื่อง เรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณายกมาจากปีงบประมาณก่อนจำนวน 2,800 เรื่อง ในด้านเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตามรายงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ระบุว่ามีจำนวน 3,242 เรื่อง จำแนกเป็น เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจำนวน 3,112 เรื่อง เรื่องที่ไม่เข้าข่ายว่าเป็นคำร้องเรียนและเรื่องที่ผู้ร้องเรียนถอนคำร้องเรียนจำนวน 130 เรื่อง

แต่ใน รายงานการพิจารณาศึกษารายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2560 โดยคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การนำเสนอตัวเลขตามรายงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งตัวเลขและคำอธิบายสร้างความสับสนได้ง่าย โดยคณะกรรมาธิการการเมือง สนช. ได้สรุปโดยรวมตัวเลขใหม่คือ มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 5,339 เรื่อง พิจารณาดำเนินการแล้วเสร็จ 3,242 เรื่อง โดยเป็นการพิจารณาแต่ไม่ดำเนินการใดๆ 2,526 เรื่อง (มีเรื่องที่ไม่เข้าข่ายรวมอยู่ในนี้ 130 เรื่อง) ส่วนเรื่องที่ดำเนินการพิจารณาและแก้ไขเยียวยาเรียบร้อยนั้นมีเพียง 716 เรื่อง ประกอบด้วย เยียวยาเรียบร้อย 581 เรื่อง เสนอแนะปรับปรุง 130 เรื่อง และส่งให้หน่วยงานแก้ไข 5 เรื่อง

ตัวอย่างผลงาน ‘ครอบจักรวาล’ ของ สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีงบ 2560

รู้หรือไม่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบดูดทรายนอกเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตได้ด้วย ที่มาภาพ: สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

สำหรับตัวอย่างผลการดำเนินงานด้านการพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนที่ระบุไว้ในรายงานประจำปี 2560 ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แก่

เรื่องร้องเรียนกรณีเกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลย, คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ประกอบรัฐธรรมนูญูแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 265 มาตรา 52 ประกอบมาตรา 26 มาตรา 75 มาตรา 76 มาตรา 77 ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 178 หรือไม่

เรื่องร้องเรียนกรณีการปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการขุดลอกลำห้วยรุกล้ำที่ดินของผู้ร้องเรียน, หน่วยงานของรัฐขยายถนนรุกลำเข้าเขตของผู้ร้องเรียนและอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่เป็นธรรม, หน่วยงานกันเขตถนนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ร้องเรียน, การประกอบการกิจการดูดทรายในแม่น้ำโขงก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที, ปัญหาฝุ่นละอองและเสียงจากการประกอบผลิตคอนกรีตผสมเสร็จก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่, หน่วยงานเปลี่ยนแปลงสิทธิรักษาพยาบาลของผู้พิการโดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน, ปัญหาความเดือดร้อนจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559, การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

เรื่องร้องเรียนกรณีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน ปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินการเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินที่ล่าช้าและไม่ถูกต้อง, หน่วยงานที่รับผิดชอบขาดการติดตามเพื่อบังคับให้เอกชนผู้ทำละเมิดคืนสภาพบ่อบำบัดน้ำเสียของหมู่บ้าน, หน่วยงานไม่ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมสะพานข้ามคลองและถนนที่ชำรุดเสียหาย, ปัญหาถนนสาธารณะชำรุดเสียหาย ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทาง, ปัญหาในการดำเนินการบังคับตามสัญญาให้เช่าพื้นที่ของรัฐอันทำให้รัฐเสียประโยชน, หน่วยงานไม่ดำเนินการตรวจสอบการบุกรุกสระน้ำสาธารณประโยชน์และที่ดินสาธารณประโยชน์, หน่วยงานละเลยไม่แก้ไขปัญหาระบบส่งน้ำที่ชำรุด, หน่วยงานของรัฐละเลยไม่จัดให้มีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในพื้นที่

เรื่องร้องเรียนกรณีหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับโอนที่นาโดยผลของกฎหมายหากประสงค์จะนำสินทรัพย์ที่ได้ออกประมูลขายทอดตลาดจะต้องให้ผู้เช่าเดิมใช้สิทธิซื้อทรัพย์ก่อนหรือไม่, การปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของบุคคลผู้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง เป็นต้น

 

ระบุมีข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณที่ได้

ในรายงานประจำปี 2560 ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ระบุถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับจัดสรร ไว้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ในส่วนของงบดำเนินงาน ในสัดส่วนที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานตามภารกิจพื้นฐาน ค่าใช้จ่ายประจำ และงาน/โครงการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง แต่ยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อการสนับสนุนการดำเนินงานแบบมุ่งเน้นผลงานตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในเชิงรุกในหลายด้าน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้วางนโยบายในการดำเนินงานดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และความคาดหวังของผู้ร้องเรียน อาทิ การจัดกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ผู้ตรวจการแผ่นดินเชิงรุกและในส่วนภูมิภาค การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ การศึกษาและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเชิงระบบ ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์อย่างไรก็ดี เนื่องจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นงบเงินอุดหนุน จึงจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการด้านงบประมาณและการบริหารโครงการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่มีความสำคัญให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

หลักเกณฑ์ อัตราค่าใช้จ่าย ที่ใช้ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งถูกกำหนดตามระเบียบการเบิกจ่ายของกระทรวงการคลัง ปรากฏว่ามีอัตราค่าใช้จ่ายในหลายรายการที่ไม่สอดคล้องกับอัตราค่าใช้จ่ายตามระเบียบของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่บังคับใช้อยู่ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติราชการภายในประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเบิกจ่ายในกิจกรรมการเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินและสิทธิการร้องเรียนของประชาชน ทำให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต้องปรับแผนและเป้าหมายการดำเนินงานให้สอดคล้องหลักเกณฑ์ อัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าว และทำให้เกิดส่วนต่างระหว่างวงเงินที่ได้รับการจัดสรรกับงบประมาณที่ใช้ในการเบิกจ่ายตามระเบียบซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต้องอาศัยการบริหารจัดการเพื่อดำเนินกิจกรรม โครงการตามแผนงานให้ได้ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณดังกล่าว นอกจากนี้ งบประมาณที่ได้รับจัดสรรในค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จำเป็นตามหลักเกณฑ์อัตราที่สำนักงบประมาณกำหนดไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าซ่อมแซม ครุภัณฑ์และวัสดุ

ขึ้นเงินเดือนตุลาการ-องค์กรอิสระ ผู้ตรวจการแผ่นดิน-กรรมการ ได้ขึ้นด้วย

เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าคณะรัฐมนตรีจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการและองค์กรอิสระ สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2.ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 3.ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 4.ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 5.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ [1]

โดยบัญชีอัตราเงินเดือนและประจำตำแหน่งมีดังนี้ 1.ข้าราชการตุลาการ ประธานศาลฎีกา เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท 2.ตุลาการศาลปกครอง ประธานศาลปกครองสูงสุด เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท 3.ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท 4.ข้าราชการอัยการ อัยการสูงสุด เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท 5.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์อิสระดังกล่าว เงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท [2]

ใช้งบเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรสูงสุด รายจ่ายมากกว่ารายได้ ก่อนหน้านี้ไม่แสดงงบก็ได้

ทั้งนี้ใน เอกสารประกอบการพิจารณารายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2560 โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แสดงรายละเอียดรายได้ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2560 ไว้ว่ามีรายได้จากงบประมาณ 266,574,100.00 บาท รายได้จากการอุดหนุนและบริจาค 41,214.95 บาท และรายได้อื่น 5,990,750.74 บาท รวมรายได้ 272,606,065.69 บาท ส่วนในด้านรายจ่ายนั้นมีค่าใช้จ่ายรวมถึง 293,232,339.66 บาท (สูงกว่ารายได้) โดยมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงสุดที่ 177,076,884.45 บาท

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อปีงบประมาณ 2559 พบว่าในรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณแสดงไว้ โดยใน 'เอกสารประกอบการพิจารณารายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2559' โดยกลุ่มงานติดตามผลการดำเนินงาน สำนักกำกับและตรวจสอบ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอ ‘บทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2559' ได้สรุปการวิเคราะห์ไว้ว่า

"ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องกับภารกิจที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดตั้งหน่วยงาน แต่อย่างไรก็ตามในรายงานประจำปี 2559 ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการจัดสรรและรายการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ในขณะที่รายงานประจำปีขององค์กรอิสระอื่นปรากฏรายละเอียดในส่วนนี้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเรื่องดังกล่าวมิได้ถูกกำหนดไว้ในรายงานการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องนำเสนอไว้ในรายงานประจำปีตามบทบัญญัติมาตรา 43 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552"

สนช.แนะทำงานเชิงรุกกว่านี้

นอกจากนี้ใน รายงานการพิจารณาศึกษารายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2560 โดยคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ระบุไว้ว่ามีข้อเสนอแนะต่อรายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2560 ว่ารายงานฯ ฉบับนี้ เป็นรายงานการปฏิบัติหน้าที่และอำนาจ ภายใต้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ซึ่งแตกต่างไปจากหน้าที่และอำนาจภายใต้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 เป็นอันมาก ดังนั้นรายงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2560 ฉบับนี้ในหลายๆ ประเด็นจึงไม่อาจจะสร้างความต่อเนื่องไปยังปี 2561 ได้ เช่น งานในด้านการเสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการเมือง สนช. ยังแนะนำว่าให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานในเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับรอเรื่อง ตามที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวในที่ประชุมสัมมนาเรื่อง บทบาท หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ว่า "รัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินสืบเสาะแสวงหาปัญหา และข้อเดือดร้อนที่เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ อย่างกว้างขวาง" ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมในเชิงระบบ เพื่อให้ได้ผลในวงกว้างกว่าการเน้นแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล ซึ่งการเปลี่ยนหลักการมาทำงานในเชิงรุกและเชิงระบบมากขึ้นนี้ ย่อมส่งผลให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต้องปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการดำเนินงาน ตลอดจนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับบทบาท หน้าที่และอำนาจใหม่ดังกล่าวด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] สนช.เตรียมเคาะ กม.ขึ้นเงินเดือนศาล-องค์กรอิสระสัปดาห์หน้า เพื่อให้สอดคล้องภาวะ ศก. (มติชนออนไลน์, 4/7/2561)
[2] เปิดอัตราเงินเดือนศาล-องค์กรอิสระ ตาม กม.ใหม่ (มติชนออนไลน์, 4/7/2561)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
ปี 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินรับร้องเรียน 3,616 เรื่อง แต่ตัวเองไม่แจงการใช้งบก็ได้
จับตา: 'บทบาท อำนาจ หน้าที่' ของ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: