เมื่อศิลปินเป็นดั่งนักสำรวจ (ทางความคิด)

กฤชสรัช วงษ์วรเนตร: 15 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2435 ครั้ง


Open Studio ณ ถนนเจริญกรุง 67 (บ้านหมู 3 ตัว)

ชมพูทวีป ดินแดนตามอุดมคติจากคัมภีร์โบราณของพุทธศาสนา ความหลากหลายที่เบ่งบานในพื้นที่นี้ทำให้มีกลุ่มเชื้อชาติมากมายหรืออาจกล่าวได้ว่าคือทวีปที่มีมนุษย์มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งมีถึง 16 กลุ่มชน ตั้งแต่ อังคะ มัลละ อวันดี เจดี โกศล จนถึงกัมโพชะ เหตุที่เรียกว่าชมพูทวีปนั้นเนื่องมาจากสีของดอกไม้ประจำทวีปคือ ไม้หว้า หรือดอก “ชมพู” ส่วนมนุษย์ในชมพูทวีปก็มีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมาก บ้างสุขสม บ้างทุกข์ระทม บ้างพอมีพอกิน โดยทั้งมวลนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำหรือตามคุณธรรมของแต่ละนามที่สั่งสมมานั่นเอง และการปกครองในแคว้นของชมพูทวีปนี้คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชามีอำนาจเด็กขาด เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบันก็อาจเห็นเป็นระบอบการปกครองที่ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่เปลี่ยนจากพระราชาเป็น รัฐ ที่มีอำนาจเด็ดขาดแทน

Open Studio ของ ออร่า (อรวรรณ อรุณรักษ์) จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27-30 เมษายน 2561 ณ บ้านหมู 3 ตัว ถนนเจริญกรุง 67 ย่านพำนักของผู้รอนแรมพลัดถิ่นหลากเชื้อชาติ เธอนำเอากระบวนการทำงาน วิธีคิด การนำเสนอ หรืออาจกล่าวให้ง่ายกว่านั้นคือการแสดงทุกกระบวนการในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตนให้เหล่าผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษา ดั่งการเปลือยร่าง (ทางความคิด) ให้ผู้คนเข้าไปเสพชม ตั้งแต่ที่มาของแนวคิด จนถึงวิธีการแสดงผลงาน เนื้อหาส่วนมากนั้นเป็นเรื่องราวในพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เอเชียอาคเนย์) หรืออนุชมพูทวีป

การเปิดพื้นที่ดังกล่าวของอรวรรณมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ชมเข้ามาสอดส่องอย่างเพ่งพินิจในกระบวนการสร้างสรรค์ตั้งแต่ผลงาน What are they doing inside? (Bangkok/Tokyo 2013), Come in (Phnom Penh, Cambodia 2014), The Owner (Ho Chi Minh City, Vietnam 2015) และ Process ก่อนที่จะเป็นผลงานจริงของผลงานชิ้นล่าสุดซึ่งชื่อว่า Exit-Entrance (Berlin, Germany 2016-17) งานทั้งมวลที่ได้กล่าวมานั้นล้วนมีเนื้อหาที่เน้นไปในแง่ของ มนุษย์และพื้นที่ (Human and Space)

What are they doing inside? (2013) เป็นผลงานที่เกิดจากแนวคิดของศิลปินที่ได้ร่วมงานกับ BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น อรวรรณ ได้เป็นผู้นำชม ติดตั้ง รวมถึงแสดงความคิดในกระบวนการต่างๆ ทั้งยังได้สังเกตผู้คนมากหน้าหลายตา ที่เข้าไปรับชมงานและผลงานศิลปะในพื้นที่ทางศิลปะที่เปิดกว้างทางความคิด (ในระดับหนึ่ง-ยิ่งแล้วในสังคมไทยที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจเพียงว่าผลงานศิลปะ=ภาพวาด/ปั้น) จนเกิดคำถามต่อตนเองในบริบทของคนนอกที่ว่า พวกเขาทำสิ่งใดกันในที่แห่งนั้น ยิ่งนานวันคำถามยิ่งดังกึกก้องอยู่ภายในใจมากขึ้น นอกจากนั้นเธอยังได้สังเกตผู้คนที่เข้าไปชมงาน (ส่วนใหญ่) ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นานแล้วจึงเดินผ่านไป สถานที่แห่งศิลปะที่อุดมไปด้วยชุดความคิดที่ล้นเหลือเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้นหรือ ?

ผลงานชิ้นดังกล่าวนั้นอรวรรณได้วาดภาพด้วยลายเส้นตามความถนัดของตน ซึ่งมีขนาดเล็กลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ให้ผู้ชมได้เพ่งพินิจ เพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดไม่มากก็น้อยผ่านการชมงานศิลปะ ตัวผลงานจึงเป็นดั่งประตูหรือหน้าต่างที่ถูกมองลอดเข้าไป ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่าศิลปินต้องการส่งสารที่เป็นคำถามไปยังผลงานศิลปะและศิลปินในเมืองเทพสร้างนี้ว่า ต้องการให้ผู้ชมเข้าใจงานศิลปะหรือไม่? รวมทั้งในแง่ของเนื้อหายังเป็นการสร้างความเคลื่อนไหวให้วงการศิลปะของประเทศไทยอย่างจริงจังก็ว่าได้

เมื่อมาถึงงาน Come in (2014) อรวรรณได้มีโอกาสไปพำนักยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ณ ดินแดนปราสาทขอมนั่นเอง เธอได้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างความเข้าใจต่อตนเองรวมถึงผู้คนในที่แห่งนั้นให้มากขึ้น ผ่านการวาดเส้นเช่นเดิม แน่นอนว่าใช้วิธีการสำรวจทางความคิดผ่านการสัมภาษณ์ ด้วยการเปิดพื้นที่ในการสนทนา เนื่องจากผู้คนในละแวกดังกล่าวที่ไม่เคยหรือไม่ค่อยได้พูดจากันก็จะได้มาพบปะกันในการนี้ การไม่พูดคุยย่อมไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้และความไม่เข้าใจนี้เองก็อาจนำไปสู่ปัญหานานาได้ (ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่) เมื่อผู้คนที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนบทสนทนาต่างๆกันที่โต๊ะสี่เหลี่ยมเตี้ยๆที่ตั้งอยู่บนผืนเสื่อที่พวกเขาใช้กันอยู่อย่างเป็นประจำ ย่อมสามารถสร้างคุ้นเคย ความเข้าใจกันได้มากขึ้นไม่มากก็น้อย

อรวรรณวาดภาพจากบทสนทนาที่พวกเขาพูดคุยกันในเรื่องของบ้านที่ตนเองอาศัยอยู่ เพื่อนำมาเป็น Art Object ของเธอ แต่วัตถุประสงค์หลักของเธอกลับไม่ใช่เพียง Object ดังกล่าว แต่เป็นการร่วมสร้างความสัมพันธ์ให้คนในสังคมเข้าใจกันมากขึ้น ผ่านการร่วมสนทนาเล็กๆน้อยๆ ยิ่งแล้วเมื่อผู้คนที่เคยได้มอบข้อมูลกลับมาชมผลงานเหล่านั้นกันทั้งครอบครัว ล้วนจะทำให้พวกเขากล้านำเสนอตนเองเพิ่มมากขึ้นหรืออย่างน้อยก็กล้าที่จะสนทนากันถึงงานศิลปะที่พวกเขาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ขึ้นมาพร้อมกับศิลปิน และแน่นอนว่าทำให้สามารถเข้าใจในความคิดของตนเองเพิ่มมากขึ้น ผ่านกระบวนการแบบนักมานุษยวิทยาเพียงแต่นำเสนอในรูปแบบศิลปะ ในฐานะศิลปินเท่านั้นเอง

The Owner (2015) อรวรรณได้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบเดียวกันกับงานก่อนหน้า โดยได้ตั้งคำถามถึงผู้ร่วมให้ข้อมูลว่า พื้นที่ไหนที่คุณต้องการเป็นเจ้าของในประเทศเวียดนาม ? แต่ครั้งนี้มิได้เพียงบันทึกแค่รูปวาด แต่ยังรวมถึงลายนิ้วมือด้วยสีชมพูที่อร่ามไปทั่วภาคพื้นอนุชมพูทวีปนี้ นอกเหนือจากการตีความของศิลปินเองนั้นก็จะเป็นเรื่องของความระมัดระวังทางกรรมสิทธิ์ต่างๆที่เป็นผลจากลายนิ้วมือ

ผู้เขียนได้ตีความว่าเป็นดั่งการเล่า (บอก) เรื่องที่เราต้องการแต่ไม่กล้าที่จะเอื้อนเอ่ยมันออกมา โดยเฉพาะหากคิดในบริบทของประเทศเวียตนามที่เคยระอุไปด้วยไฟสงครามจากการรุกรานของผู้นำโลกเสรีอย่าง สหรัฐอเมริกา จนเกิดการแบ่งประเทศไปในระยะเวลาหนึ่ง แม้ภัยสงครามจะจบลงไปนานแล้ว ประเทศเวียตนามไม่มีการแบ่งแยกทางกายภาพอีกต่อไป แต่จินตภาพและความเจ็บปวดต่างๆยังคงฝังรากมิได้หายไปโดยสิ้นเชิง ส่งผลให้คนเวียตนาม (เหนือ-ใต้) ยังมีการแบ่งแยกกันอยู่ภายในจินตภาพของพวกเขา ประกอบกับระบอบสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ที่เข้มงวดกับการแสดงความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งคนจากเวียตนามใต้ก็ต้องการพื้นที่ทางเหนือ ในทางกลับกันคนจากเวียตนามเหนือก็ต้องการพื้นที่ทางใต้

ออร่าได้เก็บข้อมูลด้วยวิธีการที่คล้ายคลึงกับนักมานุษยวิทยาคือ การสัมภาษณ์ผู้คนที่หลากหลายในบริเวณพื้นที่ต่างๆที่ได้ตนได้ไปพำนัก (Residency) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาและโฮจิมินท์ซิตี้ ประเทศเวียตนาม นอกจากนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะแล้ว ยังเป็นการสร้างพื้นที่ให้เหล่าผู้คนในละแวกต่างๆมาพบปะสังสรรค์ พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนา ทั้งยังทำให้ผู้คนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย และยังลดระยะห่างระหว่างศิลปินกับผู้ชมไปโดยปริยาย ถือเป็นการนำเสนอผลงานที่แตกต่างและมีความสดใหม่ให้กับแวดวงศิลปะกระแสหลักในประเทศไทย รวมถึงการนำเสนอผลงานเพื่อมอบเนื้อหาสาระของผลงานให้กับผู้เข้าชมนำไปศึกษาค้นคว้าต่อได้ สร้างประสบการณ์ใหม่และการปฏิสัมพันธ์ผ่านการชมงานและพูดคุยในการเปิดพื้นที่ Open Studio ของอรวรรณ อรุณรักษณ์ นอกจากนี้เธอยังได้นำเสนอโปรเจ็กต์ที่กำลังดำเนินการอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เสมือนหนึ่งเป็นโครงร่างทางวัตถุที่สามารถสัมผัสกระบวนการของโครงสร้างที่กำลังเดินทาง นับเป็นสุนทรียะของการตั้งคำถามและการแสดงออกที่เริ่มจะเพิ่มมากขึ้นในดินแดนอันอุดมไปด้วยแอ่งอ่าวข้าว-ปลาอาหารแห่งนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: