คนไทยรู้ยัง: 6 ประเทศอาเซียน ใช้มือถือเข้าเว็บอีคอมเมิร์ซมากกว่าคอมพิวเตอร์

ทีมข่าว TCIJ : 13 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2160 ครั้ง

บริษัท iPrice วิเคราะห์ข้อมูลจากกว่า 1,000 ร้านค้าใน อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบการใช้โทรศัพท์มือถือในการซื้อสินค้าสูง 72% ของจำนวนคนเข้าเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซมาจากโทรศัพท์มือถือ ไม่มีประเทศใดที่มีจำนวนคนเข้าเว็บไซต์จากคอมพิวเตอร์สูงกว่า 30% จำนวนในการสั่งซื้อพุ่งสูงสุดในช่วงเวลา 9.00-17.00 น. นิยมการเก็บเงินปลายทาง-โอนผ่านธนาคารมากกว่าจ่ายจากบัตรเครดิต ที่มาภาพประกอบ: aec.utcc.ac.th

จากการศึกษา The State of eCommerce in Southeast Asia 2017 โดย บริษัท iPrice ที่ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากกว่า 1,000 ร้านค้าใน 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) พบว่าปี 2017 เป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญสำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลค่าตลาดหรือ Gross Merchandise Value (GMV) สำหรับตลาดสินค้ามือหนึ่งมีมูลค่าสูงถึง 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2015 อันมีมูลค่าเพียง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กล่าวได้ว่ามีอัตราการเติบโต (CAGR) ถึง 41% ในช่วงสองปีที่ผ่านมาผลการศึกษาโดย Google-Temasek eConomy SEA Spotlight 2017

และปี 2017 เป็นหนึ่งในปีที่มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในโลกอีคอมเมิร์ซเช่น Amazon ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรุกตลาดอย่างหนักของ Shopee ที่มุ่งเน้นในการทำตลาดผ่านทางแอพฯ และ การทำยอดขายทะลุ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐของ Lazada ในแคมเปญ Online Revolution และการเพิ่มเงินลงทุนจากบริษัทอย่าง Alibaba และ Tencent ที่พยายามจะขึ้นเป็นที่หนึ่งครองตลาด

เบื้องหลังการแข่งขันอย่างดุเดือด และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ มีร้านค้าอีคอมเมิร์ซมากมายที่ทำธุรกิจอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้สภาพการแข่งขันที่แตกต่างกันออกไป จุดประสงค์ในการจัดทำรายงาน State of eCommerce ประจำปี 2017 นี้ เพื่อเป็นการไฮไลท์การแข่งขันที่สำคัญของอีคอมเมิร์ซในมุมมองของอีกหลายพันร้านค้า ที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยตัวอย่างประเด็นค้นพบที่น่าสนใจของ iPrice มีดังนี้

การเพิ่มอัตราการใช้งานโทรศัพท์มือถือ

โทรศัพท์มือถือมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้เข้าซื้อสินค้าออนไลน์จากโทรศัพท์มือถือในแถบนี้ เป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตเร็วกว่าตลาดในโลกตะวันตก

การใช้โทรศัพท์มือถือในการซื้อสินค้าในอีคอมเมิร์ซของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงขึ้น ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอัตราการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ย 19% ซึ่งในขณะนี้ 72% ของจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ (traffic) บนอีคอมเมิร์ซมาจากโทรศัพท์มือถือ โดยประเทศอินโดนีเซียมีการใช้โทรศัพท์มือถือในอีคอมเมิร์ซสูงสุดคิดเป็น 87% และไม่มีประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีจำนวนคนเข้าเว็บไซต์จากคอมพิวเตอร์สูงกว่า 30%

เวลาในการซื้อสินค้า

ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงเวลาใดมากที่สุด? และพฤติกรรมนี้เหมือนกันในทุกประเทศหรือไม่? หากใช้ค่าเฉลี่ยจำนวนการสั่งซื้อของทุกประเทศเป็นเกณฑ์ โดยมีค่า 100% จำนวนในการสั่งซื้อพุ่งสูงสุดในช่วงเวลา 9.00-17.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคอยู่ในที่ทำงานหรือโรงเรียน แต่ดูจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับคนสิงคโปร์ที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงเย็นมากกว่า โดยมีการซื้อสินค้าสูงสุดในช่วง 22.00 น.

การซื้อสินค้าออนไลน์มียอดต่ำสุดในช่วง 17.00-19.00 น. ซึ่งเหมือนกันในทุกประเทศทางแถบนี้ เนื่องจากผู้บริโภคอยู่ในระหว่างการเดินทาง และการรับประทานอาหารเย็น แต่พวกเขาจะกลับมาซื้อสินค้าออนไลน์อีกครั้งจนถึงช่วง 23.00 น.

ช่องทางในการชำระค่าสินค้า

ร้านค้ามีช่องทางการชำระค่าสินค้าแบบใดให้แก่ผู้บริโภค? เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนผู้ใช้เครดิตการ์ดต่ำ (ยกเว้นประเทศสิงคโปร์) ร้านค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงพบกับปัญหาที่แตกต่างจากร้านค้าในประเทศโลกตะวันตก จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ร้านค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยแนวคิดรูปแบบการชำระค่าสินค้าใหม่ ๆ ขึ้น

จากการศึกษาพบว่า ในแต่ละประเทศมีรูปแบบการชำระค่าสินค้าที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นปัญหากับร้านค้ายักษ์ใหญ่ที่ต้องการใช้กลยุทธ์ในการขยายธุรกิจแบบ one-size fits all มีร้านค้ามากกว่า 80% ในประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่ให้บริการเก็บเงินปลายทาง

การชำระค่าสินค้าผ่านทางธนาคารเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีร้านค้าที่ให้บริการชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การให้บริการดังนี้ อินโดนีเซีย 94%, เวียดนาม 86% และไทย 79% ในประเทศไทยและเวียดนาม มากกว่า 50% ของร้านค้าให้บริการชำระค่าสินค้าผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เช่น 7-Eleven

การชำระค่าสินค้าแบบผ่อนส่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยประเทศเวียดนามมีร้านค้าที่ให้บริการนี้กว่า 47% และอินโดนีเซีย 42%

คลิ๊กอ่านงานศึกษา The State of eCommerce in Southeast Asia 2017 ได้ที่นี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: