มอเตอร์เวย์ ‘บางปะอิน-โคราช' คืบหน้ารุก ‘ลำตะคอง' แล้ว!

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 9314 ครั้ง


กลุ่มจับตาโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา เผยโครงการฯ เริ่มก่อสร้างรุก ‘ลำตะคอง’ แล้ว หวั่นทำลายแหล่งน้ำที่สำคัญของภาคอีสานตอนล่าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอแนะกรมทางหลวงแก้ปัญหาโครงการฯ เนื่องจาก EIA เก่าแล้ว ด้านนักวิชาการแนะรัฐพิจารณาแนวเส้นทางใหม่ที่ชาวบ้านเสนอ หากผ่านไปนานก็จะยิ่งแก้ไขยากขึ้น

กลุ่มจับตาโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ได้ให้ข้อมูลกับ TCIJ ว่าเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา การก่อสร้างทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา เริ่มมีการรุกล้ำทำลาย ‘ลำตะคอง’ ซึ่งเป็นสายน้ำหลักจากเขาใหญ่ มีความยาวของสายน้ำนับจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง ไหลผ่าน อ.สีคิ้ว, อ.สูงเนิน, อ.ขามทะเลสอ, อ.เมืองนครราชสีมา และไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ที่ ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร  และเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาในทุกพื้นที่ที่ไหลผ่าน ลำตะคองจึงเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของภาคอีสานตอนล่าง

จากการดำเนินการก่อสร้างบางส่วนขณะนี้ได้มีการทำลายสภาพและโครงสร้างทางธรรมชาติของลำตะคองซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและมิอาจแก้ไขได้โดยเฉพาะในกรณีเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ตัดโค่นทำลายต้นไม้บริเวณทั้งสองฝั่งลำตะคองที่ช่วง กม.111 ของโครงการ (ฝั่งด้านตะวันตกของลำตะคองอยู่ในตำบลหนองน้ำแดง และฝั่งด้านตะวันออกอยู่ใน ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา) จากนั้นได้ใช้ดินและหินถมชายฝั่งลำตะคองทางด้านทิศตะวันตกซึ่งอยู่ใน ต.หนองน้ำแดง ลำตะคองช่วงดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 35 เมตร ถูกกลบถมเป็นระยะประมาณ 20 เมตร ทำให้ความกว้างของลำน้ำเหลือเพียง 15 เมตรเป็นระยะทางยาวตามลำน้ำ 40 เมตร จากนั้นใช้ดินและหินเทถมลงในลำตะคองจากความลึกเดิมประมาณ 5-6 เมตร เหลือเพียง 1.5 เมตรแล้วใช้ท่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตรวางลงจำนวน 3 ช่องแล้วใช้ดินและหินกลบทับด้านบน (ตามภาพ) จุดประสงค์เพื่อให้รถบรรทุกดินของโครงการแล่นผ่าน

สภาพเดิมของลำตะคอง ลึก 5-6 เมตร

ตัดโค่นไม้ชายฝั่งแล้วใช้ดินหินกลบถมลำน้ำ

กลบถมชายฝั่งเข้าไปในลำน้ำ 20 เมตร

วางท่อ 3 ช่องแล้วใช้ดิน-หินกลบทับด้านบน

กลุ่มจับตาโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ระบุว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สามารถแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพให้คืนดังเดิมได้ จนเกิดกระแสต่อต้านคัดค้านการกระทำดังกล่าวจากชาวบ้าน ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นวงกว้าง

กสม.ระบุมาตรการลดผลกระทบไม่สอดคล้องสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงรายงานผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี

เตือนใจ ระบุว่าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ร้องทั้งในคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว โดยหน่วยงานรัฐย่อมต้องมีหน้าที่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กสม. พบว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของทั้ง 2 โครงการ เป็นข้อมูลที่มีการศึกษามานานกว่า 10 ปี  จึงทำให้มาตรการลดผลกระทบไม่สอดคล้องสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพสังคม ชุมชนในปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมาก และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมทางหลวงศึกษาจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ แต่การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนดังกล่าวไม่ทั่วถึง เช่น ไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจ เผยแพร่เอกสารหรือข้อมูลให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอก่อนการจัดรับฟังความคิดเห็น การเชิญประชุมในระยะกระชั้นชิด ส่งผลให้กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการกลับไม่สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานรัฐนำข้อเสนอไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนได้อย่างเหมาะสม จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ทั้งสองสาย ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจของรัฐที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรงนั้น  กสม. เห็นว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่บริการทางหลวง (Service Area) บริเวณ ต.ดอนแฝก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม (กม.19+500) ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 140-200 ไร่นั้น เป็นการเวนคืนที่ดินเกินความจำเป็น อีกทั้งหากมีการนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปให้เอกชนเข้าดำเนินการในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจขัดต่อหลักการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้ทำได้เฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

เตือนใจ ยังมีความเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนซึ่งมิใช้ราคาที่ดินที่ซื้อขายในปัจจุบัน ทำให้ผู้ถูกเวนคืนที่ดินต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำประโยชน์ในราคาที่สูงกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืน การจ่ายค่าทดแทนการเวนคืน ควรพิจารณาถึงความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนและประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนจะได้รับ การจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนควรอยู่บนหลักการว่าค่าทดแทนและความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ต้องเพียงพอให้ประชาชนผู้ถูกเวนคืนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยไม่ด้อยไปกว่าก่อนการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

เตือนใจ กล่าวต่อว่า กสม.จะมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงควรแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของประชาชน ผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์  และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อพิจารณาการกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม และพิจารณาทบทวนตำแหน่งจุดที่ตั้งและขนาดพื้นที่บริการทางหลวง (Service Area) ให้ใช้พื้นที่เท่าที่จำเป็นและต้องใช้ที่ดินนั้นตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเท่านั้น ทั้งนี้ ควรร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น และตัวแทนประชาชน จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ร่วมในการออกแบบและก่อสร้างหน้างานเพื่อแก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

นอกจากนี้ จะมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ว่าด้วยเรื่องการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการหรือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอายุไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ให้สอดคล้องกับหลักการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วย

นักวิชาการแนะรัฐพิจารณาแนวเส้นทางใหม่ที่ชาวบ้านเสนอ

และจากงานเสวนา ‘หยุด! เขื่อนยักษ์มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช’ ที่จัดโดย TCIJ ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา นายณรงค์ เหล็งหวาน ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มจับตาโครงการฯ ได้ระบุว่า กรมทางหลวงเคยอ้างว่าเส้นทางที่ประชาชนเสนอให้สร้างยกระดับตามแนว ถ.มิตรภาพ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีความคดโค้งและมีระดับความลาดชันที่แตกต่างกันมาก แต่เมื่อพิจารณาเส้นทางบางช่วงที่กรมทางหลวงสร้าง พบว่ามีความคดโค้งและลาดชันยิ่งกว่า กลับสามารถสร้างได้โดยไม่เป็นอุปสรรคทางวิศวกรรมตามที่กล่าวอ้าง ส่วนประเด็นที่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างศูนย์บริการมากเกินความจำเป็น โดยใช้กฎหมายบังคับเวนคืนจากชาวบ้านในราคาถูก แต่ใช้พื้นที่ในการสร้างทางและสาธารณะประโยชน์เพียงบางส่วน ขณะเดียวกันก็เก็บพื้นที่ในส่วนที่มากกว่าไว้ เพื่อให้เอกชนหรือนักธุรกิจมาใช้ประโยชน์ในภายหลัง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านเจ้าของที่ดิน เป็นการดำเนินโครงการที่ไม่โปร่งใสและขาดธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง

“ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ เราเห็นด้วยกับการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง แต่ที่พวกเราออกมาเรียกร้องเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติของผู้ดำเนินโครงการที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน ถนนสายนี้สามารถสร้างได้โดยเลือกพื้นที่และเส้นทางที่เหมาะสม พร้อมเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อโครงการสายอื่น ๆ ที่จะตามมา” ณรงค์ระบุ

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านมาตั้งแต่ปี 2542 โดยชาวบ้านได้ยื่นหนังสือและข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกที่ แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนชาวบ้านต้องใช้กระบวนการทางศาลปกครอง แต่ถูกยกฟ้อง และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์สู่ศาลปกครองสูงสุด

“สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คือกรมทางหลวงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ขอเข้ารางวัดพื้นที่ของชาวบ้านมาโดยตลอด ซึ่งส่วนใหญ่ยินยอมเนื่องจากเกรงกลัวอำนาจรัฐ และเชื่อว่าถึงจะสู้ไปอย่างไรก็ไม่ชนะ แต่มีชาวบ้านกลุ่มนี้ที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้”   ศรีสุวรรณ กล่าว

ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล ผู้อำนวยการคลีนิคช่วยเหลือประชาชนทางสังคมและกฎหมาย และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าโครงการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ทั้งในส่วนที่ขาดการมีส่วนร่วม การไม่เปิดเผยข้อมูล และปัญหาจากตัวกิจกรรมโครงการ เช่น การเวนคืนมากเกินความจำเป็น การเลือกปฏิบัติในชุมชนที่ไม่มีพลังเสียง การชดเชยที่ไม่เป็นธรรม

“ในด้านหนึ่งถ้ารัฐบอกว่าโครงการนี้เป็นบริการสาธารณะ เป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก แต่อีกด้านหนึ่งต้องไม่ลืมคุ้มครองคนอีกส่วน ชดเชยให้ผู้ที่ต้องเสียสละ ซึ่งในหลายโครงการรัฐบาลมักจะไม่เติมเต็มความสมดุลให้กับคนส่วนนี้ รัฐอาจเข้าใจว่ามีหน้าที่เดียวคือรักษาผลประโยชน์ประเทศ แต่อย่าลืมว่าหน้าที่รัฐคือต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย” ดร.ศักดิ์ณรงค์ กล่าว

สำหรับเรียกร้องของ ดร.ศักดิ์ณรงค์ คือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาแนวเส้นทางใหม่ที่ชาวบ้านเสนอ เพราะหากผ่านไปนานก็จะยิ่งแก้ไขยากขึ้น แต่หากสุดท้ายไม่สามารถเปลี่ยนได้ ก็ต้องเลือกทำเท่าที่จำเป็นที่สุด ใช้ทางเลือกที่ส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด และชดเชยความเสียหายเพื่อเติมเต็มให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนมอเตอร์เวย์ ‘บางปะอิน-โคราช' ของ กสม.
พบประเด็นใหม่ 'เขื่อนยักษ์' โครงการ 'มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช'
เปิดแผนมอเตอร์เวย์ 'บางปะอิน-โคราช' ผ่าชุมชน-รุกป่าสงวน-ถมลำตะคอง!
จับตา: คาดการณ์รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ผ่านช่วง อ.ปากช่อง ในปี 2574

อนึ่งสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ได้ที่ เฟสบุ๊คมอเตอร์เวย์ ปากช่อง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: