ผุด 'นครสวรรค์ Biocomplex' เฟสแรกลงทุน 7.65 พันล้าน เฟสสอง 1-3 หมื่นล้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ก.พ. 2561 | อ่านแล้ว 3878 ครั้ง

ผุด 'นครสวรรค์ Biocomplex' เฟสแรกลงทุน 7.65 พันล้าน เฟสสอง 1-3 หมื่นล้าน

GGC จับมือ KTIS ขับเคลื่อนโครงการก่อสร้าง 'นครสวรรค์ Biocomplex' บนพื้นที่ 2,000 ไร่ ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ หนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)โดยแบ่งการลงทุนเป็น2ระยะ วงเงินลงทุนระยะแรกประมาณ 7,650 ล้านบาท และระยะที่สองอีก 10,000-30,000 ล้านบาท ที่มาภาพ: Energy News Center

เว็บไซต์ Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 ว่านายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ร่วมเป็นสักขีพยานใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการลงทุน Biocomplex เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในพื้นที่นำร่อง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และนายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ร่วมในพิธีฯ

โดยGGC จะร่วมทุนกับ KTIS ในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อ ขับเคลื่อนโครงการ นครสวรรค์ Biocomplex หรือ NBC บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจะแบ่งโครงการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่งเป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐานรองรับโครงการระยะที่สอง (มูลค่าโครงการจากการประเมินราว 7,650 ล้านบาท) ต่อด้วยโครงการระยะที่สองประกอบด้วย โรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม (มูลค่าการลงทุนจากการประเมินราว 10,000-30,000 ล้านบาท)

นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ GGC ในฐานะผู้ร่วมลงนาม กล่าวว่า คาดว่าการลงทุนก่อสร้างนครสวรรค์ Biocomplex จะช่วยมูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ในระยะเริ่มต้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 – 75,000 บาทต่อคนต่อปี (ประมาณ 300,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี) จากอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10,000 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 400 ตำแหน่ง ช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนมากกว่า 180 ล้านลิตรต่อปี (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558 - 2579)

โดยการพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 10,000-30,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีจากนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: