บทบันทึกการสังเกตการณ์ของนักศึกษาครู ‘ชีวิตในรั้วโรงเรียน’

กานดา ประชุมวงค์ TCIJ School 4: 13 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 17554 ครั้ง


บทบันทึกจากการสังเกตการสอนและทดลองสอนก่อนที่จะออกไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ของ นศ.ครู ในโรงเรียนต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง

หลายคนอาจจะพอได้ยินได้ทราบมาบ้างแล้วว่า หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิตเดิมนั้นเป็นหลักสูตร 4 ปี แต่เมื่อปีการศึกษา 2547 ได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการผลิตบัณฑิตจากหลักสูตร 4 ปี เป็นหลักสูตร 5 ปี ตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ แน่นอนว่าอาชีพข้าราชการครูถูกจัดว่าเป็นวิชาชีพขั้นสูง อันเนื่องมาจากต้องใช้เวลาในการศึกษานานถึง 5 ปี ซึ่งน้อยกว่าเรียนหมอเพียงปีเดียวเท่านั้น

ในแวดวงการศึกษาที่ไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษา ครู อาจารย์ รวมถึงนิสิตที่ศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิตมักจะเป็นที่รับรู้อยู่แล้วว่า ระหว่างการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย การทำงานบรรจุเป็นข้าราชการครู หรือการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ทางกระทรวงมักจะเปลี่ยนแปลงนโยบายให้ลุ้นกันอยู่บ่อยครั้ง อย่างที่ผ่านมาเรื่องที่ถูกพูดถึงกันอย่างหนาหูเห็นจะเป็นกรณีที่ให้ผู้ที่เรียนหลักสูตร 4 ปี มาสอบบรรจุครูได้ หรือล่าสุดคือมีการปรับเปลี่ยนให้นักศึกษาครูตั้งแต่รหัส 2557 ต้องสอบเอาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งแต่เดิมไม่ต้องสอบ ประเด็นเหล่านี้จึงมักจะถูกนักศึกษาครู รวมถึงครูรุ่นใหม่ก็ออกมาพูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์ให้เห็นบนโลกโซเชียลกันต่าง ๆ นานา ส่งผลให้นักศึกษาครูหลายส่วนไม่พอใจกับการประกาศนโยบายออกมาแต่ละครั้งของกระทรวงศึกษาธิการ

ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 ทางฝ่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูได้กำหนดระยะเวลาของการสังเกตการสอนและทดลองสอนก่อนที่จะออกไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นเวลา 1 ปี เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้ที่ดีจำเป็นต้องเริ่มจากการสังเกตและการทดลอง ผู้เขียนตัดสินใจเลือกโรงเรียนสังเกตการสอนและทดลองสอนเป็นโรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่และขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนในฝัน หรือจะพูดให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็คือ ในการลงสังเกตการสอนนั้นได้เลือกลงโรงเรียนประจำจังหวัด และในการทดลองสอนนั้นได้เลือกลงโรงเรียนประจำอำเภอ ทั้งสองโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มีระบบระเบียบการจัดการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน อาทิเช่น การจัดวิชาเรียนหลักและวิชาเรียนเพิ่มเติม กิจกรรมลูกเสือสำรอง-ยุวกาชาด การจัดกิจกรรมชุมนุม เป็นต้น

เมื่อพูดถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ แน่นอนว่าจะต้องมีนักเรียนจำนวนมาก และก็จำเป็นต้องมีครูที่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มองเห็นปัญหาระหว่างครูกับครูในลักษณะการพรรคแบ่งพวก การปฏิบัติระหว่างครูกับนักเรียน การปฏิบัติระหว่างครูกับนักศึกษาฝึกสอน

เมื่อพูดถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ แน่นอนว่าจะต้องมีนักเรียนจำนวนมาก และก็จำเป็นต้องมีครูที่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มองเห็นปัญหาระหว่างครูกับครูในลักษณะการพรรคแบ่งพวก การปฏิบัติระหว่างครูกับนักเรียน การปฏิบัติระหว่างครูกับนักศึกษาฝึกสอน

ผู้เขียนต้องเดินทางไปโรงเรียนก่อน 7.00 น. และจะต้องให้ถึงโรงเรียนประมาณ 07.15 นาที เมื่อถึงห้องเรียนต้องเปิดหน้าต่าง ลบกระดาน และเขียนวันที่ลงบนกระดาน กวาดห้อง ไปเก็บขณะกับเด็ก ๆ ในบริเวณที่เด็กรับผิดชอบ ทำเช่นนี้อยู่เป็นประจำทุกวัน เพราะไม่อยากจะถูกตำหนิจากคณะครู

เนื่องจากผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพข้าราชการ เวลาการเลิกงานของพวกเขาอย่างเร็วที่สุดก็ 16.30 น. เป็นเวลาเลิกงานตามเวลาราชการ เมื่อถึงเวลาเลิกเรียน ผู้ปกครองบางคนก็ติดธุระ บางคนยังไม่เลิกงาน ทำให้มารับลูกช้า จึงเป็นหน้าที่ครูที่ต้องรอผู้ปกครองมารับนักเรียนให้หมดก่อน ครูจึงจะสามารถกลับบ้านได้

บรรยากาศของห้องเรียน ถูกจัดให้เป็นแหล่งความรู้อย่างชัดเจน การจัดบอร์ดในห้องเรียนของแต่ละห้องเรียน ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีบางส่วนที่แตกต่างกัน อาทิเช่น ในห้องของครูประชั้นสาขาภาษาไทย ลักษณะของมุมต่าง ๆ คือ หนังสือนิทาน หนังสือฝึกอ่าน บัตรคำ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ รวมถึงความรู้เกี่ยวประชาคมอาเซียน ที่มีมาเพิ่มให้นักเรียนเรียนรู้เพิ่มเติมในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551

การเรียนตามหนังสือเรียน จะขอยกเป็นหนังสือภาษาพาที เนื้อหาในหนังสือนี้ส่วนใหญ่จะสอดแทรกเกี่ยวกับลักษณะของคนดี ชาวพุทธที่ดี การมีน้ำใจ การเคารพผู้สูงอายุ การยกย่องภูมิใจในความเป็นไทย การซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเนื้อหาที่ได้สอดแทรกไว้ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหากับสิ่งที่จะได้เผชิญในความเป็นจริง

สิ่งหนึ่งที่นักศึกษาครูลงโรงเรียนแล้วต้องการนำกลับมาเสร็จสิ้นกำหนดการนั้นคือ “คะแนน” ที่ได้จากการสังเกตและทดลองสอนของตนเองโดยการประเมินของครูพี่เลี้ยง  สิ่งนี้จึงเป็นชนวนที่ทำให้นักศึกษาต้องทำทุกอย่างที่ครูพี่เลี้ยงสั่ง นักศึกษาครูจะต้องไม่แต่งหน้าแต่งตาเข้ม หรือสวยกว่าครูในโรงเรียน เวลาเดินผ่านครูต้องยกมือไหว้ทุกครั้ง แม้ว่าจะไหว้มาก่อนหน้านั้นแล้ว

นอกจากนี้แล้วยังต้องเจอและต้องจำยอมต่อการปฏิบัติของครูในโรงเรียนที่กระทำกับเราด้วย ทว่ายังมีนักศึกษาบางคนได้คะแนนมาจากความสนิทสนมระหว่างตนเองกับครูในโรงเรียน

ความต่างของนักเรียนโรงเรียนใน-นอกเมือง

นักเรียนที่เข้ามาศึกษาส่วนใหญ่เป็นลูกข้าราชการ รอง ๆ ลงมาก็คือลูกของผู้ที่ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกคนรวย คนจน พ่อแม่ต่างรักและห่วงลูกเสมอ มันก็จริงตามคำกล่าวที่ว่า “ลูกใคร ใครก็รัก” แต่เท่าที่จำความได้ในสมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา เวลาแม่เจอหน้าครูที่โรงเรียน ในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวันเด็ก งานวันแม่ หรือประชุมผู้ปกครอง แม่มักจะบอกกับครูว่า “ถ้ามันดื้อก็ตีมันเลยนะครู” แต่ที่นี่โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนประจำอำเภอมันไม่ใช่แบบนั้น นักศึกษาครูหรือแม้แต่ครูก็ไม่สามารถกระทำแบบนั้นได้ หากเกิดทำให้เด็กมีรอยฟกช้ำ และเด็กนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง เรื่องต้องถึงผู้อำนวยการโรงเรียน จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินหลักหมื่น ตามที่ทางโรงเรียนกับผู้ปกครองได้ตกลงกันไว้  

หลังเลิกเรียนในช่วงเวลา 17.00 – 19.00 น. หรือวันเสาร์ – อาทิตย์ 09.00 – 15.00 น. เป็นปกติที่จะเห็นเด็ก ๆ ในเมืองมาเรียนพิเศษ “อยากเรียนคณิตศาสตร์ อยากเรียนดนตรีไหมลูก” นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองของพวกเขานั้นได้คิดถึงอนาคตของลูก ในขณะที่เด็กนักเรียนชนบทบ้างก็วิ่งเล่น กระโดดยาง เตะฟุตบอล ไร้การทบทวนหนังสือ และนี่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองไม่ได้ให้ความสนใจถึงการเรียนการสอนอย่างบ้าคลั่ง แต่เขากับกำลังคิดว่า “พรุ่งนี้ จะทำอะไรให้ลูกกิน” “เย็นนี้จะกินอะไรดี”

พวกเราเป็นเพียงนักศึกษาครู ยังไม่ใช่ครูที่แท้จริงสำหรับพวกเขา เมื่อโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานทางด้านการจัดการเรียนการสอน ผู้ปกครองย่อมต้องการและคาดหวังว่าสถานศึกษานั้นๆ จะต้องเป็นสถานที่ทีทำให้ลูกของเขาพัฒนาดีขึ้น การที่ทางโรงเรียนจะรับนักศึกษาเข้าไปทดลองงานนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่คิดหนักสำหรับพอสมควร เพราะครูและผู้ปกครองบางท่านถึงขั้นเอ่ยปากออกมาว่า “ไม่ต้องการนักศึกษาฝึกสอน”

เมื่อเราเป็นแค่นักศึกษาครู มาสอนแค่ระยะเวลาสั้น ๆ การที่จะทำให้ผู้เรียนฟังและทำตามคำสั่งของเราเหมือนที่ครูประจำชั้นเขาเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เด็กจะฟังไม่ฟังขึ้นอยู่กับความสามารถของเราว่า คุณมีอะไรเทคนิค วิธีการอะไรบ้างมาใช่เก็บเก็บ (เก็บเด็ก หมายถึง การทำให้เด็กลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาลงและอยู่ในลักษณะที่ครูต้องการ) เช่น การให้เด็กปรบมือหนึ่ง สอง สาม ครั้ง ตามลำดับ ก็จะสามารถช่วยให้เด็กที่คุยกันอยู่หันมาสนใจครูผู้สอนได้

เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาการลงทดลองสอนในโรงเรียนของผู้เขียน ได้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้ามาประเมินโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ทำให้เห็นว่าจากปกติที่ครูไม่ได้มาคุม มาดูแลนักเรียนรับประทานอาหาร ครูต่างพากันมาดูเด็ก ซึ่งผิดไปจากปกติ แล้วลองย้อนไปดูว่า ที่ผ่านมาก็ยังมีการประเมินอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสถานศึกษาและคณะครู อาทิเช่น การประเมินคุณภาพภายใน การประเมินคุณภาพภายนอก โดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่เมื่อใกล้จะถึงการประเมิน ครูก็ใช้เวลาที่ต้องจัดการเรียนการสอนมาเตรียมการประเมินแทน เพราะการประเมินเหล่านี้มีผลต่อความมั่นคงต่อตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน หรือแม้กระทั่งการสอบวัดผลระดับประเทศ ที่รู้จักกันในชื่อ O – NET ซึ่งสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ ลักษณะของข้อสอบมักจะยากเกินกว่าที่เด็กได้เรียนมาในห้องเรียน เมื่อผลการสอบออกมาก็ปรากฏว่านักเรียนต่างได้คะแนนมากน้อยแตกต่างกันไป สำหรับนักเรียนที่ได้เรียนกวดวิชานอกเวลาเรียน เด็กเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะได้คะแนนสอบมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนที่โรงเรียนกวดวิชา แต่สิ่งที่เป็นที่น่าสนใจคือ สิ่งที่นำมาวัดประเมินนักเรียนนั้นส่วนใหญ่มันไม่สามารถที่จะนำไปแก้ปัญหาหรือประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ จากภาพเหตุการณ์ต่างๆ จึงสะท้อนให้เห็นว่า การนำสิ่งที่ยากเกินไปหรือนำเรื่องที่ไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ รวมถึงการประเมินคุณภาพของโรงเรียน ครูและบุคลากรนั้นไม่ได้สะท้อนผลที่แท้จริงของโรงเรียนแต่อย่างใด

 

ที่มาภาพ: FlickrLickr (CC BY-2.0)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: