เส้นทางวิบากของธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา

มุทิตา เชื้อชั่ง: 30 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 7219 ครั้ง

หลังทางการสหรัฐฯ สั่งปรับร้านอาหารไทย 3 แห่งรวมเป็นเงินถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะละเมิดกฎหมายแรงงาน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอลเจลิส ต้องติวเข้มกฎหมายให้ผู้ประกอบการไทย ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิแรงงาน การขอใบอนุญาต และการดำเนินการตามกฎระเบียบด้านต่างๆ’ นอกจากนี้ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ยังพบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ‘พ่อครัว-แม่ครัว’ เนื่องจากการเข้มงวดเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับคนเข้าเมือง ที่มาภาพประกอบ: Wonderlane (CC BY 2.0)

เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นั่นคือสำนักงานแรงงานรัฐแคลิฟอร์เนียได้ลงโทษปรับร้านอาหารไทย 3 แห่งให้จ่ายค่าปรับรวมแล้วเป็นเงินถึง 1,065,646 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 34 ล้านบาท จากการละเมิดกฎหมายแรงงานจ่ายค่าจ้างให้พนักงานรวม 22 คนต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

ร้านทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ 1.ร้านสนามหลวง คาเฟ่ นอร์ธ ฮอลลีวูด 2.ออร์คิดไทย สาขาอาร์คาเดีย 3.ออร์คิดไทย สาขาบอลวิน ปาร์ค โดยเว็บไซต์สยามทาวน์ยูเอสระบุว่า พนักงานของร้านอาหารทั้ง 3 แห่ง ต้องทำงานกะละ 10 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพัก อีกทั้งยังจ่ายค่าแรงในอัตราเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 7.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับรายละเอียดค่าปรับ ร้านสนามหลวงคาเฟ่ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 833,707 ดอลลาร์สหรัฐฯ  แบ่งเป็น 1. ค่าแรงและค่าล่วงเวลาย้อนหลังของพนักงาน 9 คน รวมถึงค่าชดเชยความเสียหาย, ค่าปรับฐานประวิงเวลาการจ่ายค่าแรงหลังการเลิกจ้าง (waiting time penalties) ค่าชดเชยเวลาพักหรือเวลาอาหาร ฯลฯ เป็นเงิน 708,457 ดอลลาร์สหรัฐฯ  2.ค่าปรับในคดีแพ่งที่ทางร้านจะต้องจ่ายให้กับรัฐอีก 125,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ร้านออร์คิดไทยคูซีน สาขาอาร์คาเดีย ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 407,883 ดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นเงินที่จะต้องจ่ายให้กับพนักงาน 11 คน 307,133 ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าปรับคดีแพ่งอีก 100,750 ดอลลาร์สหรัฐฯ และร้านออร์คิดไทย คูซีน ในเมืองบอลวิน ปาร์ค ถูกสั่งปรับเป็นเงินรวม 85,856 ดอลลาร์ เป็นค่าแรงชดเชยให้กับพนักงาน 2 คน 50,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าปรับในคดีแพ่งอีก 35,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ

กรณีที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นกรณีที่ 3 ของปี 2018 ก่อนหน้านี้มีอีก 2 กรณีใหญ่ นั่นคือ ร้านชีสเค้กเฟ็กตอรี่ (Cheesecake Factory) ที่มีสาขาในรัฐแคลิฟอร์เนียมากกว่า 30 แห่งถูกสั่งให้จ่ายเงินชดเชยมากกว่า 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับพนักงานทำความสะอาด 559 คน และคดีของร้าน Shrimp Lover บนถนนฮอลลีวูด ซึ่งเป็นร้านอาหารของคนไทยถูกสั่งปรับเป็นเงินประมาณ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ [1]

สถานกงสุลติวกฎหมายแรงงานให้ผู้ประกอบการไทย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอลเจลิส จัดงาน ‘การสัมมนากฎหมายแรงงานเพื่อธุรกิจร้าอาหารไทย’ ที่ Hollyview Meeting Hall ไทยทาวน์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ที่มาภาพ: Royal Thai Consulate-General Los Angeles

ต่อกรณีนี้เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2561 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ร่วมกับหอการค้าไทยอเมริกันแห่งแคลิฟอร์เนียได้จัดสัมมนาเรื่อง ‘การสัมมนากฎหมายแรงงานเพื่อธุรกิจร้าอาหารไทย’ ที่ Hollyview Meeting Hall ไทยทาวน์ โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ประกอบการร้านนวด และประชาชนที่สนใจจะเปิดร้าน มาเข้าร่วมประมาณ 40 คน

ประเด็นกฎหมายแรงงานระดับรัฐบาลกลาง บรรยายโดยผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต (Assistant District Director) และนักสืบ (Investigator) จากกองค่าแรงและชั่วโมงการทำงาน (Wage and Hour Division) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor) ให้ภาพว่ากฎหมายแรงงานของสหรัฐฯ มี 4 ระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลาง (Federal) ระดับมลรัฐ (State) ระดับเคาน์ตี้ (County) และระดับเมือง (City) โดยการบังคับใช้จะยึดหลักว่า กฎหมายระดับใดที่เข้มที่สุดให้บังคับใช้กฎหมายนั้นก่อน เช่น ถ้ากฎหมายเมืองกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ในขณะที่กฎหมายรัฐบาลกลางกำหนดไว้ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ก็ให้บังคับใช้ค่าแรงขั้นต่ำของระดับเมือง

ส่วนกฎหมายมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม (Fair Labor Standards Act) ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ค่อนข้างเบาเมื่อ เทียบกับกฎหมายมลรัฐ โดยการตรวจสอบ (audit) มีเงื่อนไขสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1) Coverage : จะพิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจ (ทั้งในรูปของบริษัทและบุคคล) มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องบังคับ ใช้กฎหมายนี้หรือไม่ และมีความสัมพันธ์แบบนายจ้างกับลูกจ้างเกิดขึ้นหรือไม่ 2) Minimum wage : นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกลางกำหนดหรือไม่ กล่าวคือ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง (ตั้งแต่ปี 2552) อย่างไรก็ดีค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละมลรัฐเคาน์ตี้/เมือง อาจกำหนดไว้สูงกว่านี้ (เช่นปี 2561 มลรัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 11.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ในขณะที่นครลอสแอนเจลิสกำหนดไว้ที่ 12.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง) ดังนั้นนายจ้างจึงจำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นด้วย

3) Overtime pay : นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา (1 เท่าครึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ) หรือไม่ โดยจะคิดเมื่อลูกจ้างทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และคำนวณจากค่าแรงขั้นต่ำของท้องถิ่นนั้น ๆ 4) Record keeping : นายจ้างเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไว้ครบถ้วน อย่างน้อย 2-3 ปีย้อนหลัง หรือไม่ หากไม่มีเอกสารหลักฐาน จะถือเอาข้อมูลจากสัมภาษณ์ลูกจ้างเป็นหลัก และ 5) Youth employment : มีการจ้างงานเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 14 ปี หรือไม่ ทั้งนี้กฎหมายอนุญาตให้เยาวชน 14-15 ปี ทำงานได้นอกเวลาเรียน ในงานที่ไม่อันตรายหรือไม่ใช้เครื่องจักร และให้เยาวชน 16-17 ปี ทำงาน ได้เกือบทุกประเภท (ยกเว้นงานในสถานที่ที่จำกัดอายุ เช่น ผับ และไม่จำกัดชั่วโมง)

กฎหมายของรัฐบาลกลางฉบับนี้แตกต่างจากกฎหมายแรงงานระดับท้องถิ่น กล่าวคือมิได้กำหนดให้นายจ้างต้องให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ แก่ลูกจ้างอีก เช่น วันลาพักผ่อนอาหาร การหยุดพักระหว่างชั่วโมงทำงาน เป็นต้น รวมทั้งมิได้กำหนดรูปแบบการจ่ายค่าแรง (สามารถจ่ายเป็นเงินสดได้) และมิได้กำหนดเรื่องการตอกบัตร (สามารถจดบันทึก เวลาทำงานแบบใดก็ได้) และสามารถนับชั่วโมงการทำงานเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งความผิดตามกฎหมายฉบับนี้มีอายุความ 2 ปี (ในกรณีที่นายจ้างไม่เคยกระทำผิดมาก่อน) และ 3 ปี (ในกรณีที่นายจ้างเคยกระทำผิดซ้ำ) ซึ่งบทลงโทษจะมีทั้งการเสียค่าปรับให้รัฐ (civil money penalty) สูงสุด 90,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ การชดใช้ค่าแรงค้างจ่ายให้ลูกจ้าง การจ่ายค่าทำขวัญ (liquidated damage) ให้ลูกจ้างและอาจถูกลูกจ้างฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งต่อได้

ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กำลังมีโครงการนำร่องที่เรียกว่า PAID (Payrol Audit Independent Determination) Program เพื่อให้นายจ้างที่สมัครใจจะปรับปรุงระบบการจ้างงานของตนเองสามารถส่งข้อมูลต่างๆ ให้ เจ้าหน้าที่ เพื่อทบทวนว่าสิ่งที่ปฏิบัติอยู่หรือเคยปฏิบัติมาในอดีตเข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดบ้าง และดำเนินการแก้ไขให้ ถูกต้องโดยไม่ถือเป็นความผิด โดยจ่ายค่าแรงค้างจ่ายให้ลูกจ้างแต่ไม่ต้องเสียค่าปรับและจ่ายค่าทำขวัญ

นายจ้างควรเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงกรณีมีการฟ้องร้อง

เรลา ปะทานชัย ที่ปรึกษาด้านภาษี หอการค้าไทยอเมริกันแห่งแคลิฟอร์เนีย อธิบายว่าสำหรับกฎหมายแรงงานมลรัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดว่าให้ลูกจ้างทำงานได้วันละ 6 ชั่วโมง หากเกินกว่านั้น ต้องได้ค่าล่วงเวลา ทั้งนี้นายจ้างควรเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้อย่างน้อย 5 ปี หรือนานกว่านั้น เพื่อเป็นหลักฐาน อ้างอิงกรณีมีการฟ้องร้องในภายหลัง สำหรับสิทธิ์ลาป่วย ลูกจ้างมีสิทธิ์อย่างน้อยปีละ 24 ชั่วโมง (หรือ 3 วัน) หากสิ้นปียังมีวันลาเหลือแต่ลูกจ้างมิได้ขอใช้ให้ถือว่าสละสิทธิ์ ส่วนวันลาพักผ่อนจะมีหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน แต่หากนายจ้างให้สิทธิ์นี้กับลูกจ้างคนใด ลูกจ้างที่เหลือจะต้องได้รับด้วย และนายจ้าง-ลูกจ้างควรจัดทำคู่มือของลูกจ้าง (Employee Handbook) เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างทราบสิทธิ์ของตนเองตั้งแต่ก่อนจ้างงาน

ลูกจ้างทั้งที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและผิดกฎหมายต้องเสียภาษีเพื่อมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อเกษียณอายุ

การเสียภาษีมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับลูกจ้างทั้งที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เพราะหากเสียภาษีครบตามจำนวนที่ภาครัฐกำหนด (ทำงานครบ 40 ไตรมาส ภายใน 10 ปี) ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อเกษียณอายุ ทั้งนี้พนักงานประจำของร้านนวดและร้านอาหารถือเป็นลูกจ้าง (employee) ตามแบบฟอร์มภาษี W-2 (ซึ่งนายจ้างต้องหักภาษีค่าจ้าง ณ ที่จ่ายไว้ และต้องสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง) ไม่ใช่ผู้รับ จ้างอิสระ (independent contractor) ตามแบบฟอร์มภาษี 1099 เพราะไม่เข้าข่าย เนื่องจากพนักงานยังต้องปฏิบัติ ตามคำสั่งของนายจ้างกฎของร้าน งานที่ทำก็เป็นงานในธุรกิจปกติของนายจ้าง และไม่ได้ทำงานให้ร้านอื่นด้วย) ดังนั้นร้านที่ยังจ้างงานแบบ 1099 มีความสุมเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบจาก Employment Development Department (EDD)

ในด้านการปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เรลาชี้ว่าแม้จะทำถูกแล้วในระดับ Federal Law แต่ปรากฏว่า State Law มีมาตรการเข้มงวดมากกว่าก็ต้องยึดถือ State Law ยกตัวอย่างเช่น ใน Feral Law ระบุเพียงว่าหากลูกจ้างทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะต้องจ่าย Over Time (OT) แต่ใน State Law ระบุว่า ในวันหนึ่งๆ หากลูกจ้างทำงาน 14 ชั่วโมง 8 ชั่วโมงแรกจ่ายตามค่าแรงขั้นต่ำ หลังจากนั้นอีก 4 ชั่วโมงจะต้องจ่าย OT เท่าครึ่ง และหลังจากนั้น OT จะต้องเป็น 2 เท่า เป็นต้น

“คนอาจสับสนว่าทำไมไม่เหมือนกัน  Federal Law นั้นครอบคลุมทั้งประเทศ แต่คดีเราอยู่ในรัฐที่ State Law มาตรฐานสูงกว่าเยอะ เราต้องยึดอันที่แรงกว่า” เรลา กล่าว [2]

ขาดแคลนแรงงาน ‘พ่อครัว-แม่ครัว’ เนื่องจากการเข้มงวดเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับคนเข้าเมือง

สำนักข่าว VOA นำเสนอรายงานพิเศษ ‘ร้านอาหารไทยทั่วอเมริกากระทบหนัก เงือนไขขอวีซ่า ‘พ่อครัวแม่ครัว’ สุดยาก’  เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ที่มาภาพ: VOA

นอกเหนือจากปัญหาการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานที่เข้มข้นและซับซ้อนหลายระดับแล้ว ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ก็กำลังเผชิญอีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือ การขาดแคลนแรงงาน ‘พ่อครัว-แม่ครัว’ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับคนเข้าเมืองเพื่อเอื้อให้ตำแหน่งงานตกอยู่กับประชาชนอเมริกัน มาตรการเหล่านี้กระทบกับร้านอาหารไทยหลายพันแห่งทั่วสหรัฐ แค่เพียงแคลิฟอร์เนียรัฐเดียวก็มีร้านอาหารไทยกว่า 1,000 แห่งแล้ว

ทวีศักดิ์ อุกฤษฏ์นุกูล ผู้ประกอบการร้านอาหาร Thai Pavilion วอชิงตัน ให้ความเห็นผ่าน VOA เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ว่าการขอวีซ่าเพื่อว่าจ้างพ่อครัวแม่ครัวจากไทยมาทำงานที่นี่ยากและได้อนุมัติน้อยมากใน 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากนโยบาย America First กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติมาตรฐานสูงจนมีน้อยคนที่รับการอนุมัติ ทำให้เกิดปัญหาหาคนไม่ได้

“เราเข้าใจว่าอยากให้คนอเมริกันมีงานทำ แต่การเทรนคนเพื่อทำครัวไทยนั้นยาก มันไม่เหมือนการทำแฮมเบอร์เกอร์ เทคนิคในการทำอาหารไทยเยอะมาก” ทวีศักดิ์กล่าวและว่าหากต้องรับแรงงานที่ไม่ใช่แรงงานไทยมาทำอาหาร ผู้ประกอบการจำนวนมากก็มีความกังวลเรื่องรสชาติที่จะเปลี่ยนไป การบริการก็ด้อยลงด้วย [3]

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำสหรัฐฯ ได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ ได้ขึ้นทะเบียนคนไทยกว่า1,000คน เพื่อรอพิสูจน์สัญชาติก่อนส่งกลับประเทศไทย ปรากฏว่าหลังมีข่าวออกมา ตัวแทนชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้มีการหารือกันเพื่อนัดประชุมและเตรียมรับผลกระทบจากการส่งกลับคนไทยที่ถูกขึ้นบัญชีไว้ โดยเฉพาะเจ้าของกิจการคนไทยที่จ้างแรงงานไทย โดยบางคนพอรู้ตัวแล้วว่าใครอยู่ในข่ายถูกส่งกลับบ้าน มีทั้งผู้ที่กระทำผิดในคดีต่างๆ เช่น เข้าเมืองผิดกฎหมาย อยู่เกินกำหนด รวมถึงผู้ที่หมดสัญญาจ้างงานและทำเรื่องขออนุญาตทำงานต่อ

นายคิด ฉัตรประภาชัย ผู้ช่วยนายอำเภอ สำนักงานนายอำเภอลอสแอนเจลิส ซึ่งได้รับการร้องขอจากชุมชนไทยให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย กล่าวว่าในจำนวนคนไทยที่ถูกขึ้นบัญชีส่งกลับกว่า 1,000 คนนั้น เท่าที่ทราบไม่ใช่คนไทยทั้งหมด แต่อ้างว่ามีต้นทางมาจากประเทศไทย มีทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย เชื่อว่าทางเมืองไทยคงตรวจสอบพิสูจน์สัญชาติได้ชัดเจน ใครสวมทะเบียนชื่อปลอมเป็นคนไทย และคนไทยที่สวมทะเบียนเป็นประเทศเพื่อนบ้านด้วย ส่วนคนที่ถูกขึ้นทะเบียนรอส่งกลับบ้านนั้น ปัจจุบันยังคงอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้ทำงานตามปกติ แต่ต้องไปรายงานตัวเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกตัว

ด้านนายพิสิษฐ์ จรูญศรีสวัสดี นายกสมาคมธุรกิจอาหารไทยแห่งรัฐนิวยอร์ค เปิดเผยว่ามาตรการกวดขันของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรื่องผลักดันคนอยู่ผิดกฎหมายออกนอกประเทศนั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจคนไทยบ้าง ร้านอาหารไทยใน 5 เขตใหญ่ของนครนิวยอร์กมีประมาณ 350 ร้าน มากที่สุดอยู่ในเขตเมือง แมนฮัตตัน ประมาณเกือบ 200 ร้านนอกนั้นกระจายอยู่รอนนอก ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยตลอดมา แรงงานไทยที่ทำงานในร้านอาหารไทยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อ หลายๆ คนไม่มีใบอนุญาติให้ทำงาน บางคนเรียนจบแล้วอยู่ต่อวีซ่าขาดแล้วไม่ยอมกลับบ้าน หลายคนอ้างไปเที่ยวแล้วอยู่ทำงานต่ออย่างผิดกฎหมาย เจ้าของร้านอาหารไทยเลยจำเป็นที่จะต้องจ้างแรงงานต่างชาติ ทั้งอยู่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) มีนโยบายจริงจังกับเรื่องคนต่างชาติที่อยู่อย่างผิดกฎหมายโดยเริ่มจากรัฐทางตอนใต้ก่อนเช่น ฟลอริดา ลอสแอลเจลิส ชิคาโก ฯลฯ คิดว่าคงจะเอาจริงกับรัฐทางเหนือเช่น นิวยอร์ก นิวเจอร์ซี่ ในระยะใกล้นี้ เรื่องนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารและธุระกิจต่างๆ ได้เตรียมตัวรับมือกับกฎหมายแรงงาน และกฎหมายที่ให้ผู้ที่อยู่อย่างผิดกฎหมายทำงานนั้นก็จะทำให้เดือดร้อนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง [4]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สามร้านอาหารไทยชื่อดัง ถูกปรับกว่าล้านคดี 'ค่าแรง' (Siamtown US, 11/10/2018)
[2] เก็บความจาก ‘การสัมมนากฎหมายแรงงานเพื่อธุรกิจร้าอาหารไทย’ จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ร่วมกับหอการค้าไทยอเมริกันแห่งแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561
[3] ร้านอาหารไทยทั่วอเมริกากระทบหนัก เงือนไขขอวีซ่า ‘พ่อครัวแม่ครัว’ สุดยาก (VOA, 21/10/2018)
[4] เจ้าของธุรกิจไทยเตรียมรับมือ แรงงานในสหรัฐฯ ถูกส่งกลับ (ไทยรัฐออนไลน์, 18/3/2561)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ข้อกำหนดตามมาตรฐานการจ้างงานพนักงานอย่างเป็นธรรมในสหรัฐอเมริกา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: