คนไทยรู้ยัง: คาดปลายปีนี้ ‘คนกรุง’ เที่ยว‘ต่างจังหวัด’ เงินสะพัด 58,025 ล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ: 14 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2306 ครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดช่วงไตรมาส 4 ของปี 2561 คนกรุงเทพฯ เที่ยวไทย สร้างรายได้ท่องเที่ยวในประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 58,025 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณ 7,000 บาทต่อคนต่อทริป แม้จะเที่ยวเมืองรองเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง โซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่มาภาพประกอบ: pxhere (CC0)

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทย ด้วยบรรยากาศและภูมิอากาศในหลายพื้นที่ที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว กอปรกับในช่วงท้ายปีจะมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวันและงานเทศกาลต่างๆ รวมถึงการจัดการแข่งขันกีฬา ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวจะคึกคักเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ในปี 2561 นี้ รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ อย่างมาตรการหักลดหย่อนภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในตลาดของการท่องเที่ยวในประเทศ คือ คนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่มีทั้งการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกลับภูมิลำเนา และการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการสัมมนา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 510 ตัวอย่าง ซึ่งการสำรวจเน้นไปยังกลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและมีการพักค้างในพื้นที่ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยว การเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

ปี 2561 คนกรุงเทพฯ เดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น

ตั้งแต่ต้นปี 2561 หน่วยงานการท่องเที่ยวของภาครัฐได้จัดกิจกรรมการตลาดประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ รวมถึงมาตรการหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาในเมืองท่องเที่ยวรอง 55 จังหวัด เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เช่นเดียวกับในส่วนของภาคธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวทั้งโรงแรมและที่พัก รวมถึงธุรกิจสายการบิน มีการใช้กลยุทธ์การตลาดด้านราคาออกมากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง

ความเข้มข้นของกิจกรรมการตลาดทั้งจากภาครัฐและเอกชน ส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ ในปี 2561 สะท้อนจากผลสำรวจที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยสาเหตุของการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าท่องเที่ยวมากขึ้น และธุรกิจท่องเที่ยวอย่างสายการบินและที่พักมีการจัดแคมเปญด้านราคา เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศเท่าเดิม มีสัดส่วนร้อยละ 32.0 และเดินทางท่องเที่ยวในประเทศลดลง คิดเป็นร้อยละ 30.0 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

คนกรุงเทพฯ เลือกเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง

ในปี 2561 ภาครัฐได้ออกมาตรการหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในด้านบริการ เช่น ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักโรงแรมหรือโฮมสเตย์ ในเมืองท่องเที่ยวรอง ซึ่งจากผลสำรวจการรับรู้มาตรการดังกล่าว พบว่า คนกรุงเทพฯ รับรู้เรื่องมาตรการหักลดหย่อนภาษีฯ การท่องเที่ยวเมืองรองคิดเป็นร้อยละ 59.7 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่รู้เรื่องมาตรการหักลดหย่อนภาษีฯ การท่องเที่ยวเมืองรองคิดเป็นร้อยละ 40.3 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด สำหรับสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างไม่รู้เรื่องมาตรการ เนื่องจากไม่ได้รับรู้ข่าวสาร และไม่รู้ว่าเมืองท่องเที่ยวรองครอบคลุมจังหวัดใดบ้าง

เมื่อพิจารณาจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 พบว่า คนกรุงเทพฯ มีการเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น โดยมีการกระจายตัวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ จากผลสำรวจสะท้อนว่า ในไตรมาส 4 ปี 2561 จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 58.8 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยว โดยจังหวัดที่เป็นที่นิยมทุกปี ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา จ.ชลบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ขณะที่คนกรุงเทพฯ เลือกเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองท่องเที่ยวรองคิดเป็นร้อยละ 41.2 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวรองส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือ เช่น จ.เชียงราย จ.น่าน จ.เพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.เลย และ จ.มุกดาหาร เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เลือกเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองท่องเที่ยวรอง ผู้ตอบแบบสอบถามให้เหตุผลว่า ไม่รู้จัก/ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองมีน้อย การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวรองยังไม่สะดวก และแหล่งท่องเที่ยวมีน้อยและไม่หลากหลาย ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองท่องเที่ยวรองเพิ่มขึ้น นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว ควรมีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองต่อเนื่อง การลงทุนหรือการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งไปยังแหล่งท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ไตรมาส 4 ปี 2561 คาดรายได้ท่องเที่ยวในประเทศมีมูลค่า 58,025 ล้านบาท

สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 คนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ (เป็นการท่องเที่ยวที่มีการพักค้างคืนในจังหวัด) คิดเป็นร้อยละ 76.2 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้จากผลสำรวจ พบว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ คนกรุงเทพฯ ที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.0 ครั้ง (ทริป) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับจำนวนวันพักค้างเฉลี่ยต่อทริป 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณทริปละ 4 คน

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 23.8 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ เนื่องจากหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวช่วงปลายปีเนื่องจากมีผู้คนหนาแน่นและค่าใช้จ่ายสูง กลุ่มตัวอย่างมีแผนเดินทางไปต่างประเทศ และอาจจะไปเที่ยวปลายทางระยะใกล้/ไม่ต้องใช้เวลาวางแผนล่วงหน้านาน เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาทต่อคนต่อทริป ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยค่าใช้จ่ายในทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น จำแนกรายละเอียดได้ดังนี้

การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถส่วนตัวเป็นหลัก (ร้อยละ 53.8) ขณะที่รองลงมา คือ โดยสารเครื่องบินร้อยละ 22.5 นอกจากนี้จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวโดยการเช่ารถที่มีคนขับ การเดินทางโดยรถบริการขนส่งสาธารณะ รถไฟ เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายการเดินทางของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,250 บาทต่อคนต่อทริป

การสำรองห้องพักผ่าน Online Travel Agents: คนกรุงเทพฯ ใช้บริการ OTAs มากขึ้น การรุกตลาดของธุรกิจ OTAs ที่เข้มข้นขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรง กอปรกับการเกิดขึ้นของระบบ Meta Search ที่รวบรวมข้อมูลของที่พักในระบบ OTAs ทำให้เกิดการเปรียบเทียบด้านราคาได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวในการที่จะเลือกจองห้องพัก สำหรับผลสำรวจช่องทางการจองห้องพักของคนกรุงเทพฯ พบว่า การสำรองที่พักโดยตรงกับทางโรงแรม/ที่พัก (โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะสำรองผ่านเว็บไซต์ของโรงแรมและที่พัก และบางส่วนโทรจอง) มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 52.2 ขณะที่การสำรองห้องพักผ่าน OTAs มีสัดส่วนร้อยละ 47.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายในด้านที่พักของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ประมาณ 1,580 บาทต่อคนต่อทริป

สินค้า OTOP นวัตวิถีอาหารและขนมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ของฝากยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ จากผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ซื้อของฝากในพื้นที่ที่เดินทางท่องเที่ยวมีสัดส่วนร้อยละ 87.7 และกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ซื้อของฝากมีสัดส่วนร้อยละ 12.3 สำหรับสินค้าที่กลุ่มตัวอย่างนิยมซื้อเป็นของฝากเป็นส่วนใหญ่ คือ อาหารและขนมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด รองลงมา คือ ของที่ระลึกที่มีสัญลักษณ์พื้นเมือง เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า และผ้าไทย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่มีการประยุกต์สินค้าพื้นเมืองให้มีความร่วมสมัย หรือที่เรียกว่า “นวัตวิถี” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนของการซื้อของฝากเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,020 บาทต่อคนต่อทริป

กิจกรรมระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ชมความสวยงามทางธรรมชาติ ทำบุญไหว้พระ และไปตามหาร้านอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง เมืองท่องเที่ยวหลายแห่งมีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว โดยการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว อย่างการท่องเที่ยวชุมชน วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยม สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ระหว่างท่องเที่ยวในพื้นที่ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องของการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ร้อยละ 69.4) รองลงมา คือ การทำบุญไหว้พระ (ร้อยละ 38.1) การไปตามร้านอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง (ร้อยละ 33.3) การไปท่องเที่ยวเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่น (ร้อยละ 27.7) และถนนคนเดิน (ร้อยละ 26.5) สำหรับค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่าง (การใช้จ่ายในการซื้อสินค้า รวมถึงค่าอาหารและเครื่องดื่ม) เฉลี่ยอยู่ที่ 2,150 บาทต่อคนต่อทริป

โซเชียลมีเดียมีผลต่อการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว

สำหรับช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวและการเลือกใช้บริการโรงแรมที่พักและอื่นๆ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีการค้นหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกที่มีชื่อเสียงในเมืองท่องเที่ยวจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการรีวิวหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อนำมาประกอบ การตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว (ร้อยละ 39.5) การได้รับข้อมูลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 32.1) และการสอบถามจากคนรู้จัก (ร้อยละ 24.9) นอกจากนี้ ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ กลุ่มตัวอย่างจะใช้การค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าและบริการ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน

โดยสรุป จากผลสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 นี้ สะท้อนแนวโน้มการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ น่าจะก่อให้เกิดรายได้กระจายลงสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นมูลค่า 58,025 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้น มาจากจำนวนทริปที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกประเภท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: