รถไฟกับกำเนิดสำนึกทางเวลาแบบใหม่ในยุคจักรวรรดิอินเดีย (British Raj)

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์: 4 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3189 ครั้ง


ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถไฟ การดูตารางรถไฟ หรือแม้แต่การดูเวลาจากนาฬิกากลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกคนคุ้นเคย แต่เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เพิ่งจะเกิดขึ้นราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น มิหนำซ้ำ ในบางพื้นที่ของโลก การเกิดสำนึกทางเวลาแบบใหม่ที่มาพร้อมกับการเดินทางด้วยรถไฟยังสัมพันธ์อยู่กับการจัดการพื้นที่ภายในประเทศอาณานิคมอย่างแยกไม่ออก

‘Time-Sense’: Railways and Temporality in Colonial India. โดย Ritika Prasad เป็นงานที่เสนอภาพ 50 ปีของการเปลี่ยนแปลงสำนึกทางเวลาและการเดินทางของชาวอินเดีย นั่นคือ ช่วงเวลาระหว่างทศวรรษ 1850-1900 (1854-1905) ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของปฏิบัติการของเวลาที่ส่งผลต่อความรู้สึก ชีวิต ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอาณานิคมกับผู้ถูกปกครองในสังคมอินเดียยุคอาณานิคมอีกด้วย โดยบทความแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ การเปลี่ยนแปลงจากเวลาท้องถิ่นไปสู่เวลาของรถไฟและเขตการปกครอง (Presidency) การเปลี่ยนแปลงเวลาของเขตการปกครอง (Presidency) ไปสู่เวลาของอินเดียที่เป็นแบบแผนเดียวกัน และสุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงเวลาของอินเดียไปสู่การเชื่อมโยงกับเวลาของโลกหรือเวลามาตรฐานกรีนิช (Greenwich Mean Time)

ในช่วงแรก การมาถึงของรถไฟในประเทศอินเดีย ค.ศ.1854 ตามมาด้วยการถกเถียงระหว่างรัฐบาลอังกฤษ บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าของอังกฤษที่แต่เดิมเคยมีอำนาจในการปกครองอินเดีย และข้าหลวงที่ปกครองเขตปกครองต่างๆของอินเดียเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องจัดระเบียบเวลาให้เป็นมาตรฐาน เนื่องจากเวลามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินการของรถไฟ ขณะนั้นเวลาในประเทศอินเดียแตกต่างหลากหลายไปตามแต่ละท้องถิ่น เท่ากับว่าในแต่ละท้องที่จะมีเวลาที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดความสับสนในการเดินรถไฟ บริษัทอินเดียตะวันออกจึงเสนอให้มีการทำเวลาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดเหมือนกับในอังกฤษ ด้วยเหตุผลด้านการดำเนินงานและความเรียบร้อยปลอดภัยของพนักงาน

แม้จะเข้าใจเหตุผลของบริษัทอินเดียตะวันออก รัฐบาลอังกฤษกลับมองว่าในประเทศอังกฤษ ความสำคัญของธุรกิจและการทำงานทำให้รถไฟจำเป็นต้องมีมาตรฐานเวลาแบบเดียวกัน แต่สำหรับประชาชนอินเดียที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาและการเดินทางด้วยรถไฟ ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงสำนึกของเวลาแบบโลกสมัยใหม่ การมีเวลามาตรฐานที่เป็นแบบแผนนั้นดูจะไม่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนเท่าใดนัก

ปัญหาเกี่ยวกับเวลามาตรฐานที่เป็นแบบแผนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในอินเดียเท่านั้น เพราะแม้แต่ในประเทศอังกฤษเอง เวลามาตรฐานกรีนิช (Greenwich Mean Time) ที่เพิ่งจะถูกนำมาใช้ในปี 1847 พร้อมกับการบอกเวลาของรถไฟหรือที่เรียกว่า “Railway Time” ก็ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ทั่วทั้งประเทศ ในหลายพื้นที่ของประเทศอังกฤษ เช่น สก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ และเกาะบางเกาะในอังกฤษไม่ได้ยอมรับเวลามาตรฐานกรีนิช

สำหรับกรณีของอินเดีย ไม่เพียงการไม่ยอมรับเวลามาตรฐานแบบอังกฤษที่อาจจะเป็นปัญหา แต่ด้วยความละเอียดอ่อนทางการเมืองการปกครองหลังจากที่เกิดกบฏในอินเดียในปี 1857 ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษไม่ต้องการผลีผลามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบเวลา ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนของผู้โดยสารรถไฟในอินเดียที่เพิ่มขึ้นทวีคูณเกือบ 2,500 เปอร์เซ็นต์ หรือจาก 0.5 คน ไปสู่ 13.8 ล้านคนแค่ช่วงระหว่างปี 1854-1867 เท่ากับว่าตัวเลขของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบเวลามีอยู่อย่างมหาศาล ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจประกาศใช้เวลามัทราส (Madras Time) ในปี 1870 แทนการใช้เวลามาตรฐานกรีนิชแบบอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ในเขตกัลกัตตา บอมเบย์ และการาจี ยังคงใช้เวลาแบบเดิมของตนเองอยู่ เนื่องจากเป็นเขตปกครองที่มีความละเอียดอ่อนสูงหลังจากกบฏซีปอยและกบฏอื่นๆที่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษ

เกือบ 30 ปีหลังจากเวลามัทราสถูกทำให้เป็นมาตรฐานของเวลาทั่วอินเดีย ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อังกฤษได้เริ่มขยับการจัดมาตรฐานทางเวลาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเริ่มส่งแผนการการประกาศใช้เวลามาตรฐานกรีนิชในประเทศอาณานิคมของตนเองไปยังบริษัทรถไฟต่างๆ นัยว่าเพื่อให้เหมือนกับประเทศอารยะอื่นๆ ในครั้งนี้ แม้ว่าจะยังมีเสียงต่อต้านอยู่บ้าง แต่ในท้ายที่สุดบริษัทรถไฟอินเดียส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องที่จะปรับเปลี่ยนเวลาจากเวลามัทราสไปสู่เวลามาตรฐานกรีนิช ซึ่งเร็วกว่าเวลาของประเทศอังกฤษหรือกรีนิชอยู่ 5 ชั่วโมง 30 นาที และท้ายที่สุดในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1905 ก็มีการประกาศใช้เวลามาตรฐานอินเดียขึ้น (Indian Standard Time) เป็นอันว่าด้วยระยะเวลาเกือบ 50 ปี อังกฤษประสบความสำเร็จในการทำให้เวลาของอินเดียเป็นแบบแผนตามตนเองได้ในท้ายที่สุด

ระยะเวลาที่ยาวนานของการปรับเปลี่ยนเวลาไปสู่เวลามาตรฐานกรีนิชไม่ได้เป็นเพียงอุปสรรคเดียวสำหรับรัฐบาลอังกฤษ อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ สำนึกเกี่ยวกับเวลาของชาวอินเดียเองที่จำเป็นต้องปรับตัวตั้งแต่การเข้ามาของรถไฟ ในประเทศอังกฤษเมื่อแรกมีรถไฟ ตารางเวลาถูกอธิบายด้วยระบบ 12-hour diurnal system หรือการใช้ a.m./ p.m. บ่งบอกว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน แต่ในกรณีของตารางรถไฟในอินเดีย กลับมีการนำเอาระบบ 24 ชั่วโมงมาใช้แทน ซึ่งเป็นการนำมาใช้ก่อนหน้าที่จะนำไปเปลี่ยนการบอกเวลาในประเทศอังกฤษด้วยซ้ำ เหตุผลการใช้ระบบการบอกเวลาแบบ 24 ชั่วโมง เป็นเพราะอัตราชาวอินเดียที่ไม่รู้หนังสือมีอยู่สูงและก่อให้เกิดความผิดพลาดในการใช้รถไฟจำนวนมาก มีหลายกรณีที่ผู้โดยสารจำเป็นต้องหาที่พักที่เหมาะสมรอรถไฟ เนื่องจากคาดการณ์ไม่ถูกว่ารถไฟจะมาถึงในเวลาใด ตอนกลางวันหรือตอนกลางคืน เพราะในขณะนั้น ท้องถิ่นชนบทหลายแห่งของอินเดียไม่มีแม้แต่นาฬิกา ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการดูตารางเวลาที่ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นตัวบ่งบอกอย่าง a.m./ p.m.

แม้ว่าในสายตาของเจ้าอาณานิคมจะมองว่าการดูเวลา สำนึกเวลาแบบใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับการเดินรถไฟและการตรงต่อเวลาของชาวอินเดียจะเป็นเรื่องที่ยังห่างไกลนักกับคำว่าพัฒนา ความเป็นจริงคือ เพียง 1-2 ทศวรรษของการริเริ่มการรถไฟในอินเดีย ชาวอินเดียกลับปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและกลายมาเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะการปรับปรุงการดำเนินการของรถไฟเสียเอง ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นผ่านนวนิยายและหนังสือพิมพ์

ในส่วนแรก นวนิยายที่ถูกเขียนขึ้นภายหลังการเข้ามาของรถไฟแสดงให้เห็นความลักลั่นทางความคิดเกี่ยวกับความรวดเร็วของการเดินทางด้วยรถไฟที่ย่นย่อเวลาการเดินทางและเพิ่มระยะเวลาของการอยู่ร่วมกับครอบครัวได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีเสียงขัดแย้งต่อรถไฟในฐานะที่ทำให้การเดินทางที่เคยรื่นรมย์จากการพบเห็นสิ่งต่างๆระหว่างการเดินทางต้องลดลง การเดินทางด้วยรถไฟจึงเป็นเสมือนพื้นที่ในการถกเถียงของชาวอินเดียเองถึงเรื่องการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยและความเป็นอินเดียดั้งเดิม แต่ถึงแม้จะมีประเด็นถกเถียงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถไฟได้เปลี่ยนแปลงจินตภาพของการเดินทางของผู้คนไปโดยปริยาย รถไฟทำให้เดินทางได้รวดเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับเมืองและชนบทจำนวนมากก็บุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆให้ผู้คนได้เดินทางยาวไกลขึ้นอีกเช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งการเดินทางด้วยรถไฟจึงเป็นทั้งการบีบอัดและยืดขยายการเดินทางออกไปไม่มีสิ้นสุดในเวลาเดียวกัน

ในส่วนของหนังสือพิมพ์ ผู้อ่านจำนวนมากแสดงความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงการรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนเวลาการเดินรถเนื่องจากไม่สะดวก เพราะดึกเกินไปหรือบางครั้งต้องจอดแวะพักระหว่างเมืองนานเกินไป เช่นเดียวกับการถือกำเนิดของการแบ่งแยกระหว่างเวลาทำงานและเวลาว่าง (work and leisure) มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่เดินทางเข้าเมืองเพื่อทำงานทุกวัน ดังนั้นจึงสมควรต้องมีการเรียกร้องให้การรถไฟจัดเที่ยวรถให้เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการจะเดินทางในเช้าวันจันทร์เข้ามาในเมืองเพื่อทำงานให้เร็วขึ้น รวมถึงข้อเรียกร้องให้มีการจัดทำตารางเวลาเดินรถเป็นภาษาท้องถิ่นควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษอีกด้วย มองในแง่นี้ การเดินทางด้วยรถไฟและตารางเวลาจึงไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลอังกฤษเพียงฝ่ายเดียว หากยังมีการต่อรองจากผู้ใช้งานจริง ซึ่งก็คือชาวอินเดียนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า การถือกำเนิดของรถไฟและการเดินทางด้วยรถไฟในอินเดีย ในทางหนึ่งแม้ว่าจะเป็นเครื่องมือของอังกฤษในการปกครองให้เรียบร้อยราบรื่น ตลอดจนเป็นการแสดงให้เห็นความสามารถของเจ้าอาณานิคมเองในการทำให้ผู้ถูกปกครองมีอารยะ แต่ในอีกแง่หนึ่งกลับทำให้สำนึกเวลาแบบใหม่และการเชื่อมตนเองเข้ากับความทันสมัยของชาวอินเดียเพิ่มขึ้นเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้วการที่รัฐบาลอังกฤษได้ปฏิวัติสำนึกทางเวลาของชาวอินเดียผ่านทางการเดินทางด้วยรถไฟ ได้ก่อให้เกิดการต่อรอง ปะทะ ปรับตัวระหว่างผู้ถูกปกครองกับผู้ปกครองไปโดยปริยาย


 

เก็บความจาก
Prasad, Ritika. ‘Time-Sense’: Railways and Temporality in Colonial India. Modern Asian Studies 47 (2013): 1252-1282.

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: The Guardian

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: