คาด 5 ปี 'พ.ร.บ.ประชารัฐสวัสดิการ' ใช้เงิน 2.92 แสนล้านบาท

ทีมข่าว TCIJ: 18 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4454 ครั้ง

หลัง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ผ่าน สนช. เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย คาดระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) ใช้เงินทั้งจากงบประมาณประจำปีและเงินรับบริจาครวมถึง 2.92 แสนล้านบาท พบคณะกรรมการขาดภาคประชาสังคม หวั่นกระทบต่องบประมาณแผ่นดินหากเงินสนับสนุนจากเอกชนเข้ากองทุนฯ ไม่พอ ที่มาภาพประกอบ: epayment.go.th

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. ... ในวาระ 2 และ 3 โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดคำนิยามคำว่า 'ประชารัฐสวัสดิการ' ในมาตรา 3 หมายถึง สวัสดิการที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมแก่ประชาชน โดยมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน มาตรา 4 บัญญัติให้คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยมีรัฐมนตรี       ว่าการกระทรวงคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง ส่วนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ที่สำคัญ อาทิ เสนอนโยบาย แผนการดำเนินงาน มาตรการหรือโครงการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการ ที่เป็นการให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพและเพิ่มศักยภาพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย พิจารณาการสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานของเอกชน มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้จัดตั้งกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยเงินกองทุนให้จ่ายได้เพื่อการจัดประชารัฐสวัสดิการและกิจการ ดังนี้ 1. การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 2. การสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานของเอกชน มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท และ 3. การดำเนินงานและบริหารกองทุนตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ โดยที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ 164 คะแนน สมควรให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เป็นกฎหมายต่อไป

คาด 5 ปี (2561-2565) ใช้เงินงบประจำปีรวมเงินบริจาคถึง 2.92 แสนล้านบาท

ข้อมูลจาก เอกสารประกอบการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) ที่บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 60/2561 (13 ก.ย. 2561) ได้คาดการงบประมาณรายรับที่ต้องใช้ในระยะ 5 ปี แรกของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ โดยใช้จากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในปี 2561-2562 ใช้ปีละ 46,000 ล้านบาท ปี 2563-2565 ใช้ปีละ 50,000 ล้านบาท และเงินบริจาคปี 2561-2565 อีกปีละ 10,000 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณปี 2561-2562 ใช้ปีละ 56,000 ล้านบาท ปี 2563-2565 ใช้ปีละ 60,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) ใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 292,000 ล้านบาท

ขาดตัวแทนภาคประชาสังคม

นอกจากนี้ ในสรุปผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. .... (อ้างในเอกสารประกอบการพิจารณาฯ) ระบุว่าได้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. .... นี้ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนทั่วไปทางเว็บไซต์ www.lawmandment.go.th เว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th และ www.facebook.com/กรมบัญชีกลาง-ประเทศไทย-The-Comptroller-Generals-Department-Thailand ระหว่างวันที่ 19 ม.ค.- 3 ก.พ. 2561 มีผู้เข้าดูทั้งหมด 480 ราย ดาวน์โหลดร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. .... ไป 70 ครั้ง ครั้งที่ 2 เป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 ที่กรมบัญชีกลาง

โดยในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนั้น ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานประชารัฐ ภาคประชาสังคม ได้เสนอว่า การกำหนดให้คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง และกรรมการมาจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ขาดองค์ประกอบที่หลากหลาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านสังคมโดยตรง ซึ่งเคยมีบทเรียนจากกองทุนคนพิการที่พบว่า ไม่ค่อยมีการจ่ายเงินออกให้แก่โครงการมากนัก ทั้งนี้ หากปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการไม่ได้ ก็เสนอให้มีคณะอนุกรรมการโดยมีองค์ประกอบจากผู้แทนด้านสังคม/สวัสดิการ เช่น ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์จากกองทุน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาโครงการด้วย

แต่ในคำชี้แจงเหตุผลต่อประเด็นนี้ระบุว่า เนื่องจากร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดให้ประธานกรรมการมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งผู้แทนภาคประชาสังคมหรือผู้มีความสามารถอาจได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรืออนุกรรมการได้ จึงเห็น ไม่สมควรในการปรับปรุงร่างกฎหมายตามข้อเสนอดังกล่าว

ห่วงเงินสนับสนุนกองทุนไม่พอ

ในเอกสารประกอบการพิจารณาฯ ได้ประเมินถึงข้อสังเกตและผลกระทบของ พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ว่าในด้านผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้ประชาชนที่จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จะต้องเป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งประชาชนที่ลงทะเบียนไปแล้วอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือสับสนว่าจะต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่ และประชาชนที่ไม่เคยลงทะเบียนจะสามารถทราบได้อย่างไรว่าตนเองเข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ หรือไม่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความรับรู้กับประชาชนทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของประชาชนผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมนี้

ด้านผลกระทบต่อรัฐ เนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กำหนดให้มีกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดประชารัฐสวัสดิการสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร หากแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนหรือภาคประชาชนที่สนับสนุนกองทุนฯ นี้ไม่เพียงพอ ในรายงานฯ นี้จึงแนะนำให้มีกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่รัฐต่อไป

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: