เตือนผู้ขายสินค้าโฆษณาเกินจริง-หลอกลวงผู้ซื้อผ่านสื่อออนไลน์ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอม มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 11478 ครั้ง

เตือนผู้ขายสินค้าโฆษณาเกินจริง-หลอกลวงผู้ซื้อผ่านสื่อออนไลน์ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอม มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

กระทรวงดิจิทัลฯ เตือนกลุ่มผู้ขายสินค้าไม่ซื่อสัตย์ ย้ำโฆษณาชวนเชื่อสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อออนไลน์เข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ วอนประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสกลโกงแก่ภาครัฐ พร้อมประสาน สคบ. - สตช. ร่วมมือแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/geralt (CC0)

เว็บไซต์ thaigov.go.th รายงานเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยว่าจากรายงานของ “ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค” ที่มีการเปิดเผยตัวเลขการร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ของผู้บริโภค ในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2560 มีจำนวน 1,153 ราย โดยปัญหาอันดับหนึ่งที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุด คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป โดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า อันดับสอง คือ การถูกเอาเปรียบ ซึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วน รวมถึงข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และหน่วยงานรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการใช้ช่องทางการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ที่หลากหลาย และอันดับสาม คือ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภค ดำเนินการเชิงรุกในการแก้ปัญหาเชิงนโยบายไม่ใช่รายกรณี โดยออกกฎระเบียบหรือกฎหมายบังคับเกี่ยวกับการอนุญาตโฆษณาขายสินค้าที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งให้มีตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาขายสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ

สำหรับกรณีของการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคุณสมบัติ หรือบรรยายสรรพคุณเกินจริงนั้น ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการติดตามเฝ้าระวังการกระทำที่ผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์มาโดยตลอด ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นความผิดจริง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1) “อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท” และศาลอาจสั่งให้ระงับการเข้าถึง หรือ ลบข้อมูลหลอกลวงนั้นออกจากระบบ หรือ ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรได้

โดยที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประสานการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยเกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่มาโดยตลอด และได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลโฆษณาขายสินค้าที่มีลักษณะหลอกลวงมาอย่างต่อเนื่อง ตามที่ตรวจพบหรือที่ได้รับแจ้ง นอกจากนั้นกระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดฯ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องดำเนินการสื่อสารให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงแนะนำวิธีการรู้เท่าทันกลโกงของผู้ไม่หวังดีหรือกลุ่มมิจฉาชีพผ่านช่องทางสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการย้ำเตือนประชาชนหรือผู้บริโภคให้ระวังปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการทำงานทั้งเชิงรุกและรับ อีกทั้งเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการที่หวังเพียงแต่ได้ โดยไม่สนใจผลเสียที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของประชาชนเองยังสามารถร่วมกันสอดส่องและแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานรัฐ หรือผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ดำเนินการตรวจสอบได้อีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยกันดูแลสิทธิของผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการอีกต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: