สแกนลายพราง: อุปสรรคของ ‘ทหารหญิง’ ต่อความก้าวหน้าในกองทัพ

ทีมข่าว TCIJ : 9 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 8664 ครั้ง

งานศึกษาระบุต้นเหตุทหารหญิงไม่ก้าวหน้าในอาชีพเท่าที่ควร เพราะระบบการรับเข้าของโรงเรียนทางทหารตั้งแต่โรงเรียนเตรียม-โรงเรียนนายร้อย ยังรับเฉพาะผู้ชาย ไปจนถึงหลักสูตรระดับผู้บริหาร เช่น โรงเรียนเสนาธิการทหารก็ยังคงจำกัดเพศ ทำให้การเลื่อนขั้นในบางตำแหน่งที่มีเงื่อนไขต้องผ่านหลักสูตรทางการทหาร ทหารหญิงจึงไม่มีโอกาสที่จะรับตำแหน่งสำคัญ แม้ว่าอาจจะมีความสามารถทัดเทียมกับทหารชายก็ตาม ที่มาภาพประกอบ: สมาคมรักทหารหญิงแห่งประเทศไทย

จากการศึกษาเรื่อง 'ที่มาของทัศนคติต่อข้าราชการทหารหญิงระดับสัญญาบัตรกับภาวะผู้นำภายใต้การส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายของภาครัฐในกองบัญชาการทหารสูงสุด' ของ พรสุฎา โพทะยะ, การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2556 ที่ได้ทำการศึกษาทหารชั้นสัญญาบัตร 12 คน (ทหารหญิง 6 คน และทหารชาย 6 คน) อายุตั้งแต่ 26-57 ปี มีอายุราชการตั้งแต่ 2-37 ปี ได้ความเห็นที่น่าสนใจดังนี้

ความเสมอภาคแบบ’หญิง-ชายเท่าเทียม’ เป็นไปได้ยาก

กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความเห็นว่า บทบาททางเพศและความเสมอภาคของหญิงชายในสังคมนั้นมีอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีความเสมอภาคมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก โดยได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ระดับครอบครัว จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนเรื่องการศึกษาที่สูงขึ้นของผู้หญิงยุคใหม่ นำไปสู่การยอมรับเรื่องการทำงานนอกบ้าน เนื่องจากผู้หญิงมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ตลอด จนการทำงานของภาครัฐที่มีส่วนช่วยส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในสังคมให้มากขึ้น

บทบาททางเพศและความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในกองบัญชาการทหารสูงสุดในปัจจุบัน นับว่ามีความก้าวหน้ากว่าเมื่อก่อนมาก โดยอ้างอิงจากจำนวนนายพลหญิงและหัวหน้างานต่าง ๆ ที่มีผู้หญิงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างทุกคนยังเห็นว่าความเสมอภาคแบบหญิงและชายเท่าเทียมกันคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หรือเป็นไปได้ยากมากเนื่องจากภาพลักษณ์และข้อจำกัดของกฎระเบียบที่มีอยู่

ความเท่าเทียมทางเพศด้านการมอบหมายงาน

กลุ่มตัวอย่างกล่าวถึงความเท่าเทียมในด้านการมอบหมายงานว่ามาจากเรื่องของความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งประกอบกับการใช้ระบบการบังคับบัญชาในการทำงาน จึงทำให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ด้วยหน้าที่ของการเป็นทหาร กลุ่มตัวอย่าง 8 ใน 12 คน กล่าวถึงความไม่เท่าเทียมกลับเป็นผู้ชายที่ต้องได้รับภาระงานหนักกว่าจากการรับภารกิจและปฏิบัติงานนอกหน่วยแทนผู้หญิง รวมไปถึงการเข้าเวรยามและการดูแลหน่วยงาน โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติที่ผู้หญิงไม่ต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วย

ข้อจำกัดการเข้าอบรมเพื่อขึ้นระดับผู้บริหาร

กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า ทั้งหญิงและชายได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม ตราบใดที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน แต่ข้อจำกัดจะมาพบเมื่อเข้าสู่การอบรมของทหารในระดับที่จะขึ้นเป็นผู้บริหาร ที่ยังมีข้อจำกัดในการรับผู้หญิงเข้าศึกษา

การเลื่อนตำแหน่งและการเลื่อนขั้นเงินเดือน ตำแหน่งผู้บริหารในกองทัพยองมีข้อจำกัดทางเพศ

กลุ่มตัวอย่าง 11 คน เห็นว่าการเลื่อนตำแหน่งและการเลื่อนขั้นเงินเดือนยังอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่กองทัพกำหนด และมีการวัดความสามารถเพิ่มในใบประเมินการทำงานที่เหมาะสม ไม่แตกต่างกันระหว่างหญิงหรือชาย ยกเว้นตำแหน่งงานบริหารระดับสูงถึงจะมีข้อจำกัดทางเพศอยู่ โดยมีเพียง 1 คน กล่าวถึงเรื่องการเลื่อนตำแหน่งหลังจบการศึกษาจากโรงเรียนทหาร ที่ทหารชายจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่เร็วกว่า และกล่าวถึงเรื่องระบบอุปถัมภ์ต่อการเลื่อนขั้นของทหารหญิง

ทหารหญิงเติบโตได้แค่สายงานการเงิน,การศึกษา,การแพทย์

ด้านการส่งเสริมการทำงานบริหารและภาวะผู้นำของข้าราชการทหารหญิงภายใต้ความสามารถที่มี กลุ่มตัวอย่างเห็นว่า ขึ้นอยู่กับสายงานที่ทำงานเป็นหลักว่าสามารถเติบโตได้หรือไม่ เช่น สายงานการเงิน, สายงานการศึกษา หรือ สายงานการแพทย์ เป็นต้น โดยการทำงานจะมีระบบชั้นยศช่วยในเรื่องของการบังคับบัญชา ทั้งนี้อุปนิสัยส่วนตัวก็มีส่วนช่วยในการร่วมงานกับผู้อื่น ซึ่งในความเป็นผู้หญิงเองที่มีความอ่อนโยน ช่วยลดความตึงเครียดของบางสถานการณ์ได้ หรืองานต้อนรับและดูแลแขกที่เป็นสตรี อีกทั้งความถี่ถ้วนจะมีส่วนช่วยในงานที่ทำได้ดีกว่า เช่น การทำงานการเงินที่ต้องการละเอียดรอบคอบอย่างมาก

อุปสรรคต่องานบริหารและภาวะผู้นำของข้าราชการทหารหญิง

ภายใต้ความสามารถที่มี กลุ่มตัวอย่างกล่าวถึงอุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงยากที่จะขึ้นมาทัดเทียมผู้ชายในงานทหารนั้น สิ่งสำคัญคือการงานที่ทำอยู่ หากทำงานอยู่ในสายเดียวกับที่ทหารที่จบจากนักเรียนหลักก็มีสิทธิ์ที่จะโตยาก เพราะติดข้อจำกัดในเรื่องของกฎเกณฑ์ที่เป็นได้เฉพาะทหารจากนักเรียนหลัก หรือบางตำแหน่งงานต้องผ่านหลักสูตรนายทหารระดับผู้บริหาร เช่น โรงเรียนเสนาธิการทหารซึ่งปัจจุบันยังไม่เปิดรับผู้หญิงเข้าศึกษา

ข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนความเสมอภาคของหญิงชายในกองทัพ

กลุ่มตัวอย่างเสนอแนะว่า สิ่งสำคัญคือการให้ความใส่ใจจากผู้บริหารต่อการผลักดันเรื่องความเสมอภาค ซึ่งประกอบด้วยการทบทวนแก้ไขกฎระเบียบ เรื่องของการรับเข้าของโรงเรียนทางทหารตั้งแต่โรงเรียนเตรียม หรือโรงเรียนนายร้อย ที่ปัจจุบันยังจำกัดอยู่ที่การรับสมัครเข้าเรียนเฉพาะเพศชาย ไปจนถึงโรงเรียนทหารในระดับผู้บริหาร เช่น โรงเรียนเสนาธิการทหารก็ยังคงจำกัดเพศเช่นกัน ทำให้ส่งผลถึงการเลื่อนขั้นในบางตำแหน่งที่มีเงื่อนไขต้องผ่านหลักสูตรทางการทหาร ดังนั้นทหารหญิงจึงไม่มีโอกาสที่จะรับตำแหน่งนั้น แม้ว่าอาจจะมีความสามารถทัดเทียมก็ตาม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: