Gunpowder Plot โดย Antonia Fraser

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์: 8 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3220 ครั้ง


Remember remember the 5th of November...


หลายคนอาจจะคุ้นกันดีกับภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของ Guy Fawkes และ Gunpowder Plot อันเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญมากในหน้าประวัติศาสตร์อังกฤษ ปัจจุบันหน้ากากGuy Fawkes กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยเช่นกัน โดยมีนัยยะถึงการต่อต้านอำนาจรัฐ แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราเข้าใจเหตุการณ์นี้มากแค่ไหน แผนการลอบปลงพระชนม์กษัตริย์เชื้อสายสก๊อตแลนด์ที่ได้มาครองบัลลังก์อังกฤษไม่ได้เป็นแค่เรื่องศาสนาหรืออำนาจรัฐ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของเชื้อชาติอีกด้วย

Gunpowder Plot เกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 1605 อาจเรียกได้ว่าเป็นการวางแผนโค่นล้มกษัตริย์ครั้งสำคัญและวางแผนไว้อย่างใหญ่โตครั้งหนึ่งของประเทศอังกฤษก็ว่าได้ ชายหนุ่มคาทอลิค 13 คน ลอบนำดินปืนจำนวน 36 ถังเข้าไปไว้ใต้อาคารรัฐสภาอังกฤษ รอวันที่กษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (เจมส์ที่ 7 แห่งสก็อตแลนด์) เสด็จมาเปิดรัฐสภาพร้อมกับราชินีแอนน์และรัชทายาท นัยว่าเพื่อสังหารราชวงศ์เชื้อสายสก็อตให้สิ้นซาก พร้อมกันนั้นยังวางแผนที่จะไปควบคุมตัวเจ้าหญิงอลิซาเบธ-พระราชธิดาของกษัตริย์เจมส์เอาไว้เพื่อให้ขึ้นครองราชย์เป็นหุ่นเชิดและอภิเษกกับเจ้าชายที่นับถือนิกายคาทอลิค

แน่นอนว่าแผนการดังกล่าวไม่สำเร็จ สมาชิกที่เกี่ยวข้องทุกคนถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อกบฎ (high treason) ถูกลงโทษโดยการแขวนคอ ควักไส้ และแยกร่างเป็นสี่ส่วน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว วันที่ 5 พฤศจิกายนได้กลายมาเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง ในชั้นแรกถือเป็นการเฉลิมฉลองที่กษัตริย์รอดพ้นจากการปองร้ายของกลุ่มคาทอลิค ต่อมาจึงเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของโปรแตสแตนท์ที่มีเหนือคาทอลิค ปัจจุบันถูกเรียกว่า Bonfire Night/ Guy Fawkes Night

เรื่องราวของ Gunpowder Plot สามารถสรุปให้จบได้ภายในไม่กี่ประโยค และก็คงจะเหมือนกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จำนวนมากที่ทุกคนรู้ตอนจบที่ไม่ว่าจะเล่าอีกกี่ครั้ง ตอนจบก็ยังคงเหมือนเดิม แต่หนังสือของ Fraser ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ หากยังเล่าถึงบริบทของเหตุการณ์ตั้งแต่ยุคราชินีอลิซาเบธที่ 1 จนมาถึงรัชสมัยของเจมส์ที่ 1 ตลอดจนสถานการณ์ของความขัดแย้งระหว่างคาทอลิคและโปรแตสแตนท์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษหลังจากการก่อตั้งนิกาย Church of England โดยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พระราชบิดาของราชินีอลิซาเบธอีกด้วย

การจะเข้าใจการเกิดขึ้นของ Gunpowder Plot ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งของศาสนาคริสต์ 2 นิกาย คือ นิกายคาทอลิคและนิกายโปรแตสแตนท์ การเกิดขึ้นของ The Reformation หรือการปฏิรูปศาสนาที่นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์คิง นักบวชชาวเยอรมันในปี 1517 ทำให้ทั่วทั้งยุโรปเกิดปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาขึ้น ในหลายอาณาจักร ชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ถูกกล่าวหา ลงโทษ ขับไล่ออกนอกบ้านเกิดของตน ในกรณีของอังกฤษที่ตั้งนิกาย Church of England ก็ได้รับอิทธิพลจากนิกายโปรแตสแตนท์ ส่งผลให้การนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคในอังกฤษต้องเป็นไปอย่างหลบๆซ่อนๆ โรงเรียนสอนศาสนานิกายคาทอลิคถูกยกเลิก ใครที่อายุเกิน 16 ปีไม่ไปโบสถ์และโรงเรียนสอนศาสนานิกายโปรแตสแตนท์จะถูกปรับและถูกเรียกว่า "recusants" แม้ว่าจะถูกปรับ แต่ก็ยังมีชนชั้นสูงอังกฤษจำนวนมากที่ยินยอมจ่ายค่าปรับทางศาสนาเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเชื่อของตน แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีหลายครอบครัวที่ยอมเปลี่ยนความเชื่อมาเป็นโปรแตสแตนท์เนื่องจากค่าปรับที่ไม่อาจจะจ่ายได้ตลอดไป อาจเรียกได้ว่าตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 จนถึงสิ้นสุดยุคอลิซาเบธที่ 1 ชาวอังกฤษที่นับถือนิกายคาทอลิคต่างต้องหลบซ่อนความเชื่อของตนเองเอาไว้เพื่อเอาตัวรอดโดยเชื่อมั่นว่าในวันหนึ่งนิกายคาทอลิคจะกลับมาเป็นความเชื่อหนึ่งเดียวของประเทศอังกฤษอีกครั้ง

เมื่อราชินีอลิซาเบธสวรรคต ชาวคาทอลิคมีความหวังขึ้นอีกครั้งเมื่อกษัตริย์เจมส์ที่ 1 จากสก็อตแลนด์จะมาเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ความจริงที่สำคัญมากคือ พระราชมารดาของพระองค์คือราชินีคาทอลิค แมรี่แห่งสก็อตแลนด์ ที่ถูกราชินีอลิซาเบธประหารไปก่อนหน้านี้ แม้ว่าตอนนี้เจมส์จะนับถือนิกายโปรแตสแตนท์ แต่ชาวคาทอลิคจำนวนมากเชื่อว่าพระองค์อาจจะเปลี่ยนความเชื่อในภายหลังที่ขึ้นครองราชย์ นอกจากนี้ราชินีแอนน์ คู่สมรสของพระองค์ยังนับถือนิกายคาทอลิคและมีความสัมพันธ์อันดีกับพระสันตะปาปาที่อยู่กรุงโรมอีกด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชาวอังกฤษที่นับถือนิกายคาทอลิคและพระสันตปาปาที่กรุงโรมจะมีความหวังมากเพียงใดกับการสิ้นสุดของยุคอลิซาเบธและคาดหวังอย่างมากต่อกษัตริย์องคใหม่

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าเจมส์ที่ 1 ไม่ได้มีความต้องการจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในใจกลางความขัดแย้งทางศาสนา หากพิจารณาบริบทของพระองค์ตั้งแต่เล็กจนโตที่โตมากับความรุนแรง การลักพาตัว การแย่งชิงอำนาจในสก็อตแลนด์หลังจากที่พระราชมารดาของพระองค์ถูกคุมขังอยู่ที่อังกฤษ รวมถึงความขัดแย้งทางศาสนาที่มีอยู่ในสก็อตแลนด์เอง ภายใต้การนำของนักบวชหัวรุนแรง John Knox ที่พยายามสถาปนาอำนาจเหนือรัฐสภาสก็อตแลนด์ ส่งผลให้พระองค์ไม่ต้องการที่จะทำให้เหตุการณ์ทางศาสนาในอังกฤษประทุขึ้นเช่นกัน อาจเรียกได้ว่าประเด็นทางศาสนาไม่ใช่ความสนใจของเจมส์ที่ 1 เนื่องจากความสนใจของพระองค์พุ่งเป้าไปที่การเป็นกษัตริย์สก็อตแลนด์ที่ได้ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษมากกว่า พระองค์ริเริ่มสิ่งที่เรียกว่า "Anglo-Scottish Union" หรือการรวมกันของอังกฤษและสก็อตแลนด์ภายใต้กษัตริย์องค์เดียว (คือพระองค์) และนี่อาจเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของ Gunpowder Plot

ชาวสก็อตแลนด์และชาวอังกฤษทำสงครามกันมาอย่างยาวนาน และไม่ใช่แค่เรื่องของดินแดนและการสู้รบ แต่ความบาดหมางนั้นยังกินลึกลงไปถึงภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ ฯลฯ แม้ว่าผู้คนทั่วไปจะยินดีกับกษัตริย์องค์ใหม่ ที่เป็นผู้ชาย (แม้ว่าอลิซาเบธจะเป็นราชินีที่ดี แต่ก็เป็นผู้หญิง และเป็นผู้หญิงที่ไม่มีลูกสืบทอดราชบัลลังก์) มีราชินีที่งดงามและพร้อมผลิตทายาทได้มากมายในอนาคต มีรัชทายาทที่เป็นเด็กแข็งแรงสมวัย องค์ประกอบทั้งหมดทำให้เจมส์ที่ 1 ได้ใจของมวลมหาประชาชนอังกฤษจำนวนมาก แต่ลึกลงไปในจิตใจของคนบางกลุ่ม เจมส์ที่ 1 ก็ยังคงเป็นกษัตริย์ "สก็อต" ที่นำเอาข้าราชบริพารจากสก็อตแลนด์แดนป่าเถือนมาตั้งเป็น "Little Scots" ที่ทัั้งสกปรก น่ารำคาญ และยังเต็มไปด้วยสำเนียงภาษาแบบแปลกๆที่ชาวอังกฤษทนไม่ได้ ทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะมีคนส่วนหนึ่งที่เริ่มไม่เห็นด้วยกับกษัตริย์ต่างด้าว แต่คนที่รู้สึกรุนแรงที่สุด คือ กลุ่มชายหนุ่มทั้ง 5 ที่นับถือนิกายคาทอลิคและมีแนวคิดที่ต้องการปกป้องอังกฤษไม่ให้พวกสก็อตเข้ามารุกราน

Gunpowder Plot จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลัก คือ เรื่องของศาสนาและความบาดหมางระหว่างชาวอังกฤษและชาวสก็อต ด้วยเหตุนี้เอง สมาชิกเเรกเริ่มของกลุ่มจึงรวมตัวกัน วางแผน และตัดสินใจที่จะระเบิดรัฐสภาและจับตัวเจ้าหญิงอลิซาเบธ พระราชธิดาของเจมส์ที่ 1 มาเป็นราชินีองค์ต่อไป แต่เเผนการไม่สำเร็จ มีผู้ส่งจดหมายไปเตือนกษัตริย์ทำให้เริ่มมีการสืบหาความจริง รัฐสภาถูกค้นและพบว่ามีถังบรรจุดินปืนอยู่ใต้อาคารถึง 36 ถัง แผนการทั้งหมดจึงจบลงและสมาชิกทุกคนถูกจับ ไต่สวน และลงโทษตามโทษของการก่อกบฎ

อย่างไรก็ตาม ดินปืนที่อยู่ในถังนั้นเมื่อตรวจแล้วกลับพบว่าไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะระเบิดได้เนื่องจากเสื่อมประสิทธิภาพไปบางส่วนและผู้ก่อการไม่ได้ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน ในส่วนของ Guy Fawkes ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนหลักของการก่อการครั้งนี้ เอาเข้าจริงแล้ว Fawkes เป็นแค่อดีตทหารรับจ้างชาวอังกฤษที่เดินทางไปมาหลายที่ทั่วยุโรปและมีประสบการณ์ในการใช้ดินปืน ก็เท่านั้น ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด Gunpowder Plot คือ Robert Catesby ผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการถูกจับกุม ขณะที่เพื่อนสมาชิกคนอื่นถูกจับมาทรมาน โดยเฉพาะ Guy Fawkes ที่ถูกทรมานโดยการขึงพืดโดยเครื่องยืดตัว มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่า Fawkes น่าจะถูกทรมานมากกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากถูกจับตัวเป็นคนแรกและต้องการให้เขาสารภาพเพื่อซัดทอดคนอื่นๆ แต่ Fawkes ไม่ยอมปริปาก ปัจจุบันหลักฐานที่หลงเหลือคือลายเซ็นที่เขาลงชื่อสารภาพก่อนและหลังการถูกทรมาน ที่เห็นชัดว่าในตอนหลังเขาแทบจะไม่สามารถเซ็นต์ชื่อได้

Sir Edward Coke ขุนนางสำคัญในการไต่สวนกล่าวว่า Gunpowder Plot เป็นการสมคบคิดลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อังกฤษ เมื่อพิจารณาทั้งหมดแล้วก็ดูเป็นไปได้ว่าจะเป็นความจริง Gunpowder Plot เป็นส่วนผสมของหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความศรัทธา ความเชื่อ ฮอร์โมนของเพศชายที่พุ่งพล่านเลือดร้อน และสำนึกของชาติและเชื้อชาติ จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุลงไปให้ชัดหรือขีดเส้นแบ่งว่าการก่อกบฎของชายหนุ่มคาทอลิคในนามของพระเจ้าและชาติ เป็นเรื่องที่ถูกหรือผิดกันแน่

หนังสือของ Antonia Fraser เล่มนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการบอกเล่าลำดับเหตุการณ์ของ Gunpowder Plot เท่านั้น แต่ยังถักทอเรื่องราวต่างๆผ่านทางเอกสารที่บันทึกไว้ขณะนั้น ทำให้ตัวละครกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ใครที่สนใจเหตุการณ์ช่วงเวลานี้ อ่านหนังสือเล่มนี้ก็น่าจะเพียงพอในระดับหนึ่งและเข้าใจช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางศาสนาของประเทศอังกฤษ รวมถึงการรวมชาติกันระหว่างสก็อตแลนด์และอังกฤษได้ ภาษาที่ใช้่ค่อนข้างง่าย เดินเรื่องเร็ว อ่านแล้วสนุกและอินเหมือนกับอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์ ความสับสันอย่างเดียวคือชื่อของนิกายและการแบ่งแยกนิกายซึ่งดูจะมีมากเหลือเกิน จนทำให้ต้องมานั่งเสิชอ่านประกอบ


 

ที่มา Fraser, Antonia. The Gunpowder Plot Terror and Faith in 1605. London: Arrow Books, 1999.
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: The Sun

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: