‘ซึมเศร้า’ กับ Gen เหงา มองให้ไกลกว่า ‘เจ็บป่วย-เรียกร้องความสนใจ’

อาบทิพย์ สุวลักษณ์ TCIJ School รุ่นที่ 5 / นักศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์: 7 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 16919 ครั้ง

สถิติปี 2017 องค์การอนามัยโลกระบุทั่วโลกมีผู้ป่วยซึมเศร้า 322 ล้านคน หลายต่อหลายครั้ง ‘วัยรุ่น’ ถูกตีตราว่า ‘เจ็บป่วยจริง’ หรือแค่ ‘เรียกร้องความสนใจ’ ชวนดูข้อมูลว่าวัยรุ่นมีความเสี่ยงซึมเศร้ามากน้อยเพียงใด สภาพแวดล้อมมีผลแค่ไหน และเราได้ทำความเข้าใจวัยรุ่นอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง ที่มาภาพประกอบ: Graehawk (CC0)       

โรคซึมเศร้าเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมให้ความสนใจและพูดถึงกันมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยข่าวคราวจากสื่อและโลกออนไลน์ที่คอยกระตุ้นเตือนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ แต่ในหลายกรณีที่เกิดกับเด็กวัยรุ่น การแสดงออกบางอย่างโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ มักถูกตั้งคำถามว่าเป็นความเจ็บป่วยจริงหรือแค่เรียกร้องความสนใจ ซึ่งประเด็นที่ควรพิจารณามากกว่าตอบคำถามนั้นคือ วัยรุ่นมีความเสี่ยงซึมเศร้ามากน้อยเพียงใด สภาพแวดล้อมมีผลแค่ไหน และเราได้ทำความเข้าใจวัยรุ่นอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง          

สถิติซึมเศร้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น

โรคซึมซึมเศร้าพบได้ในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและวัยรุ่น โดยในปี ค.ศ. 2017 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) รายงานผลประมาณการว่า [1] ทั่วโลกมีผู้ป่วยซึมเศร้าในทุกช่วงอายุรวมกันเป็นจำนวน 322 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของตัวเลขดังกล่าวคือประชากรที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ที่น่าสนใจคือในช่วง 10 ปี ของการเก็บสถิติ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 – 2015 จำนวนผู้มีอาการซึมเศร้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 18.4%  ตัวเลขนี้สัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มของประชากรทั่วโลก รวมทั้งสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้อยู่ในช่วงอายุ 55-74 ปี ซึ่งมักพบอาการซึมเศร้าได้มากกว่าช่วงวัยอื่น

แผนภูมิแสดงสัดส่วนการเกิดโรคซึมเศร้าในกลุ่มประชากรแบ่งเป็นหกภูมิภาคทั่วโลก รายงานโดย WHO ปี ค.ศ. 2017 ที่มา: Depression and Other Common Mental Disorders Global Health Estimates, World Health Organization 2017

แผนภูมิเปรียบเทียบสัดส่วนของผู้มีอาการซึมเศร้าทั่วโลก โดยแยกเพศและแบ่งตามช่วงอายุ รายงานโดย WHO ปี ค.ศ. 2017 ที่มา: Depression and Other Common Mental Disorders Global Health Estimates, World Health Organization 2017

อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าที่เพิ่มสูงขึ้นในประชากรทั่วโลกนั้นสอดคล้องกับผลสำรวจในไทย จากการเก็บข้อมูลและรายงานผลโดย The Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) หรือ healthdata.org [2] สำหรับประเทศไทยนั้นพบว่า ในบรรดาปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตหรือสร้างภาวะไร้ความสามารถแก่บุคคล โรคซึมเศร้าถูกจัดเป็นปัญหาอยู่ในอันดับที่ 6 และในช่วงปี ค.ศ. 2005 – 2016 อัตราการเกิดโรคเพิ่มสูงขึ้น 13% นอกจากนี้ โรควิตกกังวลก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบและอยู่ในอันดับที่ 9 แต่สถิติการเกิดโรคในช่วงปีที่สำรวจสูงขึ้น 8% ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าโรคซึมเศร้า

ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตหรือทำให้ไร้ความสามารถในประเทศไทยช่วงปี ค.ศ. 2005 – 2016 ที่มา: The Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME)

เมื่อมองในภาพรวม ปัญหาสุขภาพจิตจะยิ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากเกิดขึ้นกับคนวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมีภาระความรับผิดชอบทั้งในด้านหน้าที่การงานและครอบครัว แต่การเฝ้าระวังปัญหาในวัยผู้ใหญ่นั้นอาจสายเกินไป เพราะโรคจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมักส่งสัญญาณของอาการตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ทั้งนี้ จากรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อต้นปี ค.ศ. 2018 [3] ระบุว่า ภาวะซึมเศร้าคือปัจจัยเหตุของความเจ็บป่วยและไร้ความสามารถ (cause of illness and disability) อันดับสามในกลุ่มวัยรุ่น (WHO ระบุอายุวัยรุ่นไว้ตั้งแต่ 10-19 ปี) ส่วนการฆ่าตัวตายก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับสามในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี และในประเทศไทย จากรายงานของกรมสุขภาพจิต [4] ปี พ.ศ.2559 อัตราการฆ่าตัวตายในช่วงอายุ 10-19 ปี อยู่ที่ 4.67% แม้มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่ตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ

อัตราการฆ่าตัวตายแยกตามช่วงอายุ ประจำปี 2559 ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

การวินิจฉัยและตรวจรักษาอาการซึมเศร้าอย่างทันท่วงทีย่อมลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การระบุว่าใครคนใดคนหนึ่งป่วยและต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาหรือไม่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัญหาทางอารมณ์จิตใจยากต่อการวัดให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าความเจ็บป่วยทางจิตมีที่มาจากสมอง แต่ในวัยรุ่นซึ่งสมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่นั้น การตรวจรักษายิ่งต้องอาศัยความเข้าใจด้านพัฒนาการเป็นพื้นฐาน

เข้าใจความเสี่ยงวัยรุ่นจากพัฒนาการสมอง

วัยฮอร์โมนพลุ่งพล่านเป็นการกล่าวขานถึงวัยรุ่นที่มักได้ยินกันอยู่เสมอ สะท้อนว่าคนวัยนี้อารมณ์มักจะมาเหนือเหตุผล ซึ่งลักษณะดังกล่าวสัมพันธ์กับพัฒนาการที่ยังไม่หยุดนิ่งของสมอง  โดยสมองส่วนหน้า (Pre-frontal cortex) ที่เปรียบสเมือนเจ้านายหรือ CEO คอยใช้เหตุผลเพื่อวางแผนและตัดสินใจ รวมทั้งช่วยควบคุมอารมณ์นั้นยังเติบโตไม่เต็มที่ ในขณะที่สมองส่วนการรับรู้อารมณ์และแรงจูงใจ (Limbic system) ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสุขเมื่อได้แรงเสริมหรือรางวัลมีพัฒนาการที่เร็วกว่าสมองส่วนหน้า อีกทั้งร่างกายก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตามระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง การควบคุมแรงกระตุ้นโดยธรรมชาติจึงนับเป็นความท้าท้ายของช่วงวัยนี้

กราฟแสดงช่วงเวลาเปราะบางเกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการสมองที่ยังไม่สมบูรณ์ในวัยรุ่น ที่มา: World Health Organization, 2014 [5]

บ่อยครั้งที่ความอยากรู้อยากลอง ความต้องการเป็นที่ยอมรับ และการสร้างตัวตนที่ขาดแรงสนับสนุนดูแลจากครอบครัวและสังคม นำไปสู่การแสดงออกที่หลายกรณีดูเหมือนเรียกร้องความสนใจ หรือบางคนก็อาจแยกตัวตัดขาดจากกลุ่ม ซึ่งปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เห็นนั้นเพียงแค่ฉาบความขุ่นเคืองหมองเศร้าภายในเอาไว้  และเพิ่มโอกาสพัฒนาโรคหรืออาการเศร้าเรื้อรังได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมหรือมีประวัติคนใกล้ชิดในครอบครัวป่วย นอกจากนี้วัยรุ่นที่ขาดแรงหนุนอันเหมาะสมก็มีความเสี่ยงใช้สารเสพติดและทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้น จึงยิ่งสร้างวงจรที่ย้อนกลับไปเติมบ่อเกิดของปัญหาและอาจถูกระบุว่าเป็นโรคได้เช่นกัน ทั้งที่โดยพื้นฐานก็ไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม

ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก University of California, San Francisco ประเทศสหรัฐอเมริกา นำโดย Henje Blom ได้เผยแพร่บทความรวบรวมข้อมูลผ่านวารสารวิชาการ Acta Paediatrica ในปี ค.ศ. 2016 [6] ซึ่งทางทีมได้ประเมินว่าในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นมีแนวโน้มจะถูกระบุให้เป็นอาการป่วยหรือโรคซึมเศร้ามากขึ้น เนื่องจากเกณฑ์วินิจฉัยโรคจิตเวชที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็คือคู่มือวินิจฉัย DSM (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ของสมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกัน (American Psychiatric Association) ยังไม่ปรับเกณฑ์ให้แยกแยะความแตกต่างของอาการระหว่างช่วงอายุได้เท่าที่ควร จึงมีความเป็นไปได้ว่าในหลาย ๆ กรณีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ของวัยรุ่นถูกเข้าใจว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติโดยไม่จำเป็น

การใช้ยารักษาโรคจึงอาจส่งผลทำให้ได้ไม่คุ้มเสียในคนจำนวนหนึ่ง โดยยาต้านเศร้าที่ใช้กันมากในปัจจุบัน ได้แก่ ยาในกลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ซึ่งช่วยรักษาระดับของสารสื่อประสาทเซโรโทนีนในสมองนั้น พบว่ามีผลข้างเคียงที่กระทบการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนรู้ในวัยรุ่น เช่น เพิ่มน้ำหนัก และ รบกวนการนอนหลับ อีกทั้งผลของยาต่อพัฒนาการสมองก็ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน ด้วยว่าสมองวัยรุ่นนั้นเสมือนดินเหนียวที่ยังปั้นขึ้นรูปไม่เสร็จสมบูรณ์ พัฒนาการยังไม่หยุดนิ่งและมีความหยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ (Neural plasticity) การใช้ยาต้านเศร้าในวัยรุ่นจึงต้องระมัดระวังอย่างมาก ในขณะเดียวกันการรักษาที่เหมาะสมกับอาการก็ช่วยให้วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้   

งานวิจัยพบเพิ่มพลังสมองส่วนหน้าช่วยต่อสู้กับซึมเศร้า

เมื่อตัวยาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ทางออกเดียวของการรักษาซึมเศร้า และความไม่สมดุลของเคมีสมองเป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของภาพปัญหาและเป็นผลของสาเหตุที่ซ้อนทับกันอยู่ การมองหาหนทางร่วมในการรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น นักวิจัยจำนวนหนึ่งได้ตั้งคำถามถึงการเชื่อมต่อประสานงานของวงจรประสาท และมองในมุมของการป้องกันมากกว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ทีมวิจัยนำโดย Ahmad Hariri จาก Duke University ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์ผลงานผ่านวารสารวิชาการ Cerebral Cortex [7] จากการศึกษาสมองในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยใช้เครื่องสแกนสนามแม่เหล็ก หรือ fMRI (Functional magnetic resonance imaging) รวมกับการทำแบบประเมิน ทีมวิจัยพบว่า ผู้ที่มีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนทั่วไปนั้น สมองส่วน Amygdala จะทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกถูกคุกคามหรือไม่มั่นคงได้ง่าย และมีการทำงานของสมองส่วน Ventral striatum ลดลง ทำให้ตอบสนองต่อการได้รับรางวัลลดลง จึงรู้สึกพึงพอใจหรือมีแรงจูงใจได้ยากขึ้น แต่ในบรรดากลุ่มตัวอย่างที่มีความเสี่ยงดังกล่าว พบว่าผู้ที่มีการเชื่อมต่อประสานงานที่แข็งแรงของสมองส่วนหน้า (Dorsolateral prefrontal cortex) จะฟื้นสภาพจิตใจเมื่ออยู่ภายใต้ความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น หรือสามารถล้มแล้วลุกใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็นเกินไปนัก ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาจัดอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายคาบเกี่ยววัยผู้ใหญ่ตอนต้น สมองส่วนหน้านั้นใกล้เติบโตเต็มที่ การฝึกสมองส่วนนี้ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการจิตบำบัดที่เน้นเทคนิคปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) และการใช้เกมกิจกรรมฝึกสมอง จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้วัยรุ่นรักษาสมดุลของอารมณ์จิตใจ และสร้างเกราะป้องกันโรคได้

ภาพสแกนสมองด้วยเครื่อง fMRI ภาพซ้ายคือสมองส่วน amygdala ภาพกลางคือ  ventral striatum และภาพขวาคือ dorsolateral prefrontal cortex ที่มาภาพ: Matthew Scult, Duke University

ความเสี่ยงในวิถีชีวิตสมัยใหม่เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

นอกจากหนทางรักษาโรค การหาทางป้องกันโดยทำความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ นับได้ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ความเครียดของแม่ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดนั้น สามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการลูกทั้งในระดับชีววิทยาและจิตวิทยาการเลี้ยงดู ครั้นเมื่อเติบโตขึ้น วิถีของสังคมสมัยใหม่ที่มีแนวโน้มบีบรัด และกดดันให้ผู้คนมีจังหวะชีวิตเร่งเร็วก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยด้านลบ โดยเฉพาะกับวัยเรียนที่การพักผ่อนอย่างเพียงพอจำเป็นต่อพัฒนาการสมองอย่างมาก แต่เด็กในวัยนี้ยิ่งในเขตเมืองที่การจราจรหนาแน่นด้วยแล้วนั้นต้องตื่นแต่เช้าเพื่อทำเวลา ในขณะที่เวลานอนก็ถูกแบ่งให้น้อยลงไปอีกด้วยวิถีปัจจุบันเช่นการอยู่หน้าจอ

เดือนธันวาคม ค.ศ. 2017 ทีมวิจัยจาก University of Pittsburgh ประเทศสหรัฐอเมริกา นำโดย Peter Franzen และ Erika Forbes ได้เผยแพร่ผลการศึกษา [8] เกี่ยวกับผลของการอดนอนและแรงจูงใจในวัยรุ่นอายุ 11.5-15 ปี โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้นอนเต็มที่และกลุ่มที่นอนน้อยสองคืนติดกัน โดยทีมวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างทั้งสองเล่นเกมที่ได้รางวัลเป็นเงินพร้อมสแกนการทำงานของสมองไปด้วย ผลปรากฏว่า กลุ่มที่อดนอนมีการทำงานของสมองส่วน Putamen ลดลงในขณะเล่นเกมแล้วได้รางวัลที่มีมูลค่าแต้มมาก ซึ่งสมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการตั้งเป้าหมายต่อรางวัล การตอบสนองที่ลดลงของ Putamen ขณะทดลองจึงแสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจและการรับรู้ถึงความพึงพอใจที่น้อยลง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วภาวะดังกล่าวนั้นพบได้ในผู้ที่เสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า

ความเข้าใจที่ต้องอาศัยการร่วมมือ

ภาพแสดงความสำคัญของการพัฒนาวัยรุ่นในฐานะการลงทุนที่สำคัญของสังคมเพื่อสร้างผู้ใหญ่และหน่วยครอบครัวที่มีคุณภาพ ที่มาภาพ:  World Health Organization [9]

วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการฐานทุนอันมั่นคงเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาที่เห็นกันอยู่ดังเช่นวิถีที่เร่งรัดจนมีเวลาพักผ่อนน้อยลง แล้วส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างทุนชีวิตนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกินไปจากความคาดคิด ครอบครัวในฐานะผู้สร้างฐานสำคัญอันดับแรกก็เป็นที่ตระหนักถึงกันดี แต่กับโรงเรียน ที่ซึ่งวัยรุ่นวัยเรียนใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตอยู่ที่นั่น มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดปัจจัยเสี่ยงและน่าเบาใจเพียงใด

องค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องให้การสนับสนุนทางสังคมและจิตใจต่อวัยรุ่น [10] โดยหวังให้มีระบบดูแลป้องกันที่เสริมกับครอบครัวทั้งในโรงเรียนและระดับชุมชน การมองให้เห็นปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตของวัยรุ่น คือก้าวแรกที่นำไปสู่การประเมินผลกระทบและการป้องกันปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่ถูกละเลย เช่น การใช้ความรุนแรงทั้งทางกายภาพและจิตใจ รวมทั้งการกดขี่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาว

สำหรับประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการมีระบบดูแลป้องกันผ่าน ‘ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน’ (ฉก.ชน.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการ ฉก.ชน. สพฐ. กล่าวว่า “ปัจจุบัน ฉก.ชน.สพฐ. ได้จัดตั้ง ฉก.ชน.ประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และมัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศกว่า 226 ศูนย์ เพื่อปฏิบัติงานคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกล่วงละเมิดทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงนักเรียนที่มีภาวะทางจิตเวช เมื่อผู้บริหารสถานศึกษาได้รับแจ้งเหตุหรือประสบเหตุ ต้องทำแบบบันทึกรายงาน ฉก.01 เพื่อรายงานเหตุการณ์ และแจ้งเหตุให้แก่ ฉก.ชน.สพป./สพม.เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและประเมินสถานการณ์เบื้องต้น เมื่อพบว่าเป็นเรื่องจริงเจ้าหน้าที่ประจำเขตพื้นที่ฯ จะช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียนและทำงานบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาล และนักจิตวิทยาเพื่อเยี่ยวยานักเรียน ขั้นต่อไปจะจัดเก็บข้อมูล และรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” [11] อย่างไรก็ตาม การรายงานเหตุการณ์ผ่านแบบบันทึกเมื่อเกิดเหตุไปแล้วนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนผ่านระบบศูนย์ดังกล่าวเป็นไปอย่างทันการณ์หรือไม่ รวมทั้งมีระบบป้องกันปัญหาเชิงรุกและขั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปราศจากการแทรกแซงเพียงใด

เมื่อหันกลับมามองที่โรงเรียนอีกครั้ง ข่าวคราวต่าง ๆ ที่มีให้เห็นอยู่เป็นระยะ เช่น การกลั่นแกล้งในโรงเรียน การล่วงละเมิดทางเพศ หรือเรื่องที่ดูเล็กน้อยกว่าอย่างการกร้อนผมนักเรียนที่ผิดระเบียบ และการลงโทษอื่น ๆ ที่เกินความจำเป็นโดยเห็นเด็กเป็นเพียงผู้ยอมรับอำนาจ รวมทั้งเหตุการณ์เศร้าเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดศรีสะเกษเสียชีวิตจากการกระโดดอาคารเรียน [12] ทำให้ยังคงต้องขบคิดและตั้งคำถามต่อไปว่า วัยรุ่นไทยเติบโตโดยได้รับการดูแลคุ้มครองสุขภาพจิตใจเพียงพอแล้วหรือไม่ สาเหตุและปัจจัยแวดล้อมของอาการซึมเศร้าและปัญหาทางอารมณ์อื่น ๆ นั้นถูกมองอย่างรอบด้านแล้วหรือยัง

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] Depression and Other Common Mental Disorders Global Health Estimates (World Health Organization, 2017, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/6/2018)
[2] ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย [The Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/6/2018]
[3]  Adolescents: health risks and solutions (World Health Organization, 5/2/2018)
[4] กราฟแสดงอัตราการฆ่าตัวตายแยกตามช่วงอายุ :: ประจำปี 2559 (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/6/2018)
[5] HEALTH FOR THE WORLD'S ADOLESCENTS (World Health Organization, 2014, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/6/2018)
[6] The neuroscience and context of adolescent depression. Henje Blom et al. Acta Paediatr. 2016 Apr; 105(4): 358–365.
[7] อ้างใน BRAIN ACTIVITY BUFFERS AGAINST WORSENING ANXIETY (KARA MANKE, Duke Today, 17/11/2017)
[8] อ้างใน Lack of sleep could cause mood disorders in teens (ScienceDaily, 6/12/2017)
[9] Infographics on adolescent health (World Health Organization, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 19/6/2018)

[10] เพิ่งอ้าง
[11] เผย 1 ปี น.ร.ถูกล่วงละเมิด-ใช้ความรุนแรง-ฆ่าตัวตาย กว่า 1 แสนราย (มติชนออนไลน์, 12/8/2561)
[12] เพื่อนเผยน้องโอม ไม่สุงสิงกับใคร พ่อช็อกรู้ข่าว โดดตึก คิดว่าไม่จริง (ไทยรัฐออนไลน์, 11/8/2561)

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: