Mission Impossible: Fallout “ยิ่งนองเลือดมากเท่าไหร่... ยิ่งสงบสุขมากขึ้นเท่านั้น”

ธนเวศม์ สัญญานุจิต: 7 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4400 ครั้ง


ภาพยนตร์ลำดับที่ 6 ของเฟรนไชส์สายลับหน่วย IMF แห่งรัฐบาลสหรัฐ สิ่งที่น่าสนใจของภาพยนตร์ภาคนี้ คือการนำเสนอ องค์กรลับที่เป็นคู่ตรงข้ามกับหน่วยข่าวกรองทั้งหลายต่อจากภาคที่แล้ว โดยใช้ชื่อว่า The Apostle หรือที่แปลว่า “เหล่าสาวก” พวกเขาเป็นอดีตสายลับของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ที่หันมาทำตามความเชื่อของกลุ่ม คือ การทำลายล้างระเบียบโลก จะเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยโลก

“The greater the suffering, the greater the peace”

อุดมการณ์ของเหล่าสาวกคือการใช้การก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (nuclear terrorism) เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วโลก รื้อทำลาย “ระเบียบโลก” (World order)

คีย์เวิร์ดในอุดมการณ์ของเหล่าสาวก พาเรากลับไปมองการเมืองโลกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเช่นกัน อาจเรียกได้ว่าก่อนที่จะเดินมาถึงโลกที่เราเป็นทุกวันนี้ นักวิชาการจำนวนมากมองเห็นความขัดแย้งและความสงบสุขเป็นดั่งวัฏจักร ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเสมอ เมื่อเกิดสงครามหรือวิกฤติใหญ่ขึ้น และจบลง จะเกิดกระบวนการวางระเบียบโลกหลังสงคราม เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ขึ้นอีก

หากมองในแง่ของความรู้ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สงครามใหญ่ครั้งแรกที่นำไปสู่การจัดวางระเบียบโลกและกำเนิด “รัฐชาติ” ขึ้นครั้งแรกในโลก คือ สงครามสามสิบปี (The thirty years war) สงครามศาสนาระหว่างนิกายโรมันคาธอลิคกับนิกายโปรแตสแตนท์ที่ยืดเยื้อยาวนาน เมื่อสงครามจบ ก็ก่อให้เกิดการวางระเบียบหลังสงครามด้วย การเจรจาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (The Peace of Westphalia) ในปี 1648 ซึ่งเนื้อความในสนธิสัญญา ทำให้เกิดหน่วยที่เรียกว่า “รัฐ” ขึ้นอย่างจริงจังในโลก เกิดอาณาเขต พรมแดน การจัดการอธิปไตยภายในเขตต่างๆ อย่างชัดเจน

และเมื่อสงครามปะทุขึ้นอีกครั้ง คือสงครามใหญ่ในภาคพื้นยุโรปที่กินวงกว้างไปทั่วอย่าง สงครามนโปเลียน (The Napoleonic war) ที่เปลี่ยนแปลงสภาพความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ ในยุโรปอย่างกว้างใหญ่ สุดท้ายเมื่อสงครามจบลงที่สมรภูมิวอเตอร์ลู รัฐมหาอำนาจในยุโรป จึงร่วมกันจัดวางระเบียบโลกใหม่หลังสงครามนโปเลียนที่ “การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา” (Congress of Vienna) เพื่อขีดเส้นพรมแดนให้ฝรั่งเศสใหม่ จัดพรมแดนระหว่างรัฐในยุโรป และสร้างกลไกจัดสรรปันส่วนอำนาจต่อกัน เพื่อไม่ให้มีรัฐใดมีอำนาจมากเกินไป และไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนตามอำเภอใจ ระเบียบโลกในรูปแบบ “ดุลแห่งอำนาจ” (Balance of Power) ได้ถือกำเนิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรกจากการประชุมครั้งนี้นั่นเอง

หลังจากนั้นดุลแห่งอำนาจพังทลายลงในอีกร้อยปีถัดมา สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นหลังมหาอำนาจยุโรปดำเนินการทูตลับใส่กัน และทำสัญญาแบ่งค่ายพันธมิตรเผชิญหน้ากันมายาวนาน เมื่อสงครามโลกครั้งนั้นจบลง เหล่าผู้ชนะสงครามต่างพยายามสร้างระเบียบโลกใหม่ในที่ประชุมสันติภาพปารีส ด้วย “องค์การระหว่างประเทศ” เพื่อคอยควบคุมพฤติกรรมรัฐต่างๆ ในชื่อของ สันนิบาตชาติ (The League of Nations)

หลังจากนั้นเพียง 20 ปี ระเบียบโลกใหม่พังพินาศอีกครั้ง และทั่วโลกต้องนองเลือดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นอีกครั้งที่เหล่าพันธมิตรผู้ชนะสงคราม นำเอาองค์การระหว่างประเทศ กลับมาอีกครั้งในชื่อของ สหประชาชาติ (United Nations) เพื่อธำรงสันติภาพ แต่โลกก็เข้าสู่ภาวะเผชิญหน้าของ สองขั้วมหาอำนาจ (Bipolarity) สหรัฐกับโซเวียต สหประชาชาติอยู่ในภาวะทำงานไม่ได้อยู่นานหลายสิบปี กว่าที่ภาวะดังกล่าวจะหายไป

ระเบียบโลกที่เรากำลังใช้ชีวิตกันอยู่ จึงเป็นระเบียบโลกหลังสงครามเย็น ที่มีองค์การระหว่างประเทศเป็นตัวกลาง เป็นเวที เป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ จัดสภาวะระหว่างกันระหว่างประเทศต่างๆ ในโลก และมีกลไกควบคุมพฤติกรรมรัฐอย่างรัดกุม มีสถาบันต่างๆ สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและธำรงให้เกิดสันติภาพมากขึ้นกว่าเดิม จะสังเกตได้ว่า สิ่งเหล่านี้คือวัฏจักรในลักษณะ “สงคราม-จัดระเบียบ-สงคราม-จัดระเบียบ” มาตลอดเวลาหลายร้อยปี

แน่นอนว่าแนวคิดเกี่ยวกับระเบียบโลกใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และมีคนจำนวนมากเคยวาดฝันว่า ระเบียบโลกใหม่หลังสงครามเย็นจะสวยสดงดงาม แต่โลกมิได้เป็นเช่นนั้น เราเผชิญภัยคุกคามหลายรูปแบบมากขึ้น และนับเป็นความซับซ้อนแสนยากที่จะแก้ไขมัน การเผชิญหน้าระหว่าง “เหล่าสาวก” กับ “อีธาน ฮันต์” ตัวเอก จึงเปรียบเสมือนภาพตัวแทนระหว่าง กลุ่มสาวก ที่เชื่อว่า การฆ่าล้างประชากรโลก 1 ใน 3 คือการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่ากับสันติภาพอันยาวนานที่จะเกิดขึ้นหลังระเบียบโลกใหม่ กับอีธาน ฮันต์ และทีมงาน ที่เห็นคุณค่าในทุกชีวิต และจะไม่ยอมแลกเปลี่ยนสักชีวิตเพื่อ “The Greater Good” ตามที่เหล่าสาวกยึดมั่นถือมั่น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: