อัพเดทสถานการณ์ยาเสพติดโลกและไทยปี 2561

ทีมข่าว TCIJ : 6 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 40815 ครั้ง

จากรายงาน  WORLD DRUG REPORT 2017 ได้ประมาณการผู้ติดยาเสพติดทั้งโลก ปี 2015 พบว่ายาเสพติดที่สำคัญ ๆ ที่ได้รับความนิยมนั้นมีผู้ติดกัญชา 183 ล้านคน สารสกัดจากฝิ่น 35 ล้านคน ยาบ้า-สารกระตุ้นต่าง ๆ 37 ล้านคน ยาอี 22 ล้านคน ยาแก้ปวด-ยานอนหลับ 18 ล้านคน และโคเคน 17 ล้านคน

นอกจากนี้ใน เอกสารเผยแพร่ของ UNODC เมื่อวันที่ 22/6/2017 ยังระบุว่าทั่วโลกมีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 250 ล้านคน โดยที่ราว 29.5 ล้านคน หรือร้อยละ 0.6 ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาและความทุกข์ทรมานสืบเนื่องมาจากการติดยาเสพติด โดยเฉพาะยาเสพติดประเภท 'สารสกัดจากฝิ่น' ซึ่งมีความอันตรายมากที่สุด ซึ่งผู้ติดยาเสพติดร้อยละ 70 ได้รับผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพสูงสุดจากยาเสพติดชนิดนี้

ทั้งนี้การผลิตฝิ่นและโคเคนเติบโตขึ้น ในปี 2016 และการผลิตฝิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2015 สาเหตุหลักมาจากอัตราผลตอบแทนของการปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานสูงขึ้น ส่วนการขยายตัวของตลาดโคเคน พบว่าในปี 2013-2015, การปลูกโคคา (ที่นำไปสกัดเป็นโคเคน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นในประเทศโคลอมเบีย โดยที่ตลาดรับซื้อโคเคนใหญ่ที่สุดคือทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป

สถานการณ์ในไทย

‘ยาบ้า’ ยังเป็นยาเสพติดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทย พบผู้เสพและกระทำความผิดอายุไม่เกิน 24 ปี มีสัดส่วนสูง ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก คำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 3/2561 เรื่อง แผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วน ปี 2561 (มีนาคม - กันยายน 2561) ได้ระบุสถานการณ์ปัญหายาเสพล่าสุดในไทยไว้ดังนี้

การผลิตยาเสพติด ในปี 2561 ปริมาณการผลิตยาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำมีปริมาณสูง ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากกลุ่มผู้ผลิตในสามเหลี่ยมทองคำได้เพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเสพติดสังเคราะห์ได้แก่ ยาบ้า ไอซ์ เนื่องจากยังมีการลำเลียงเคมีภัณฑ์/สารตั้งต้นเข้าสู่แหล่งผลิตยาเสพติดนอกจากกลุ่มการผลิตหลักเดิมที่เป็นผู้มีพฤติการณ์ในกลุ่มเดิมแล้ว ยังมีกลุ่มการผลิตใหม่ที่เกิดขึ้นโดยทำการผลิตเฉพาะในขั้นอัดเม็ดยาบ้า ทำให้ชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกใช้เป็นพื้นที่หลักในการลักลอบนำเข้ายาเสพติด

การค้ายาเสพติด พื้นที่ภาคเหนือ ยังมีการนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดนในสัดส่วนที่สูงที่สุดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนรองลงมา โดยผ่านโครงสร้างเครือข่ายการค้าตามแนวชายแดนและในพื้นที่ตอนใน ทำให้เกิดการลำเลียง ซุกซ่อนยาเสพติดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำยาเสพติดมายังแหล่งแพร่ระบาดในจังหวัดต่าง ๆ พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เป็นแหล่งซุกซ่อน เก็บพักยาเสพติด ก่อนกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ขบวนการค้ายาเสพติดยังคงทำการค้าเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศและมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการค้า เช่น การลักลอบลำเลียงยาเสพติดต่อครั้งในจำนวนที่มากการใช้ผู้ลำเลียงซึ่งเป็นคนขนไปสู่ผู้ซื้อปลายทาง การชดเชยยาเสพติดที่เสียหายจากการถูกจับยึดก่อนถึงมือผู้รับ และการนำยาเสพติดจำนวนมากเข้ามาพักเก็บเพื่อกระจายเพื่อรอการสั่งซื้อ การตัดตอนการรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยไม่ผ่านคนกลาง การสร้างตัวแทนในระดับล่าง เป็นต้น

ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้ายาเสพติดในไทยทั้งในการเป็นผู้จำหน่ายและผู้รับจ้างลำเลียงยาเสพติดโดยชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้อง คือ พม่า ลาว กัมพูชา รวมทั้งออสเตรเลีย เป็นจุดเชื่อมของการซื้อขายยาเสพติดไปยังประเทศอื่น นอกจากนี้ชาวแอฟริกันตะวันตกที่มีเครือข่ายการค้ายาเสพติดเชื่อมโยงไปทั่วโลก อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดข้ามชาติด้วยการจัดหาผู้หญิงไทยหรือในกลุ่มประเทศอาเซียนลำเลียงยาเสพติดออกนอกประเทศ บางส่วนยังทำการค้าในระดับขายปลีกให้กับผู้เสพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

การทำการค้ายาเสพติดด้วยการใช้สื่อสังคม (Social Media) เป็นช่องทางทำการค้ายาเสพติดทั้งเสนอขายและสั่งซื้อโดยเฉพาะในระดับขายส่งรายย่อยและขายปลีกให้ผู้เสพ ควบคู่กับการใช้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์เป็นช่องทางลำเลียงยาเสพติดตรงถึงมือผู้เสพ และการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (E-Banking) เป็นช่องทางจ่ายค่ายาเสพติดตรงถึงมือผู้ค้าถูกตรวจพบมากขึ้นและพบว่าบางเครือข่ายไปถึงขั้นการใช้สกุลเงินดิจิตอล (Bitcoin) ในการค้า ซึ่งนอกจากมีผลให้เครือข่ายการค้ายาเสพติดย่อย ๆ เกิดและเพิ่มขึ้นได้ง่าย การแพร่ระบาดยาเสพติดผ่านช่องทางการค้าเหล่านี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การสืบสวนปราบปรามทำได้ยากขึ้น

การแพร่ระบาดของยาเสพติด ยังเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อน และส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะในเขตเทศบาล และกรุงเทพฯ เป็นแหล่งแพร่ระบาดยาเสพติดที่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีตัวยาใหม่ๆ ที่กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้นำมาเผยแพร่ ซึ่งจะต้องมีมาตรการป้องกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะชุมชนในเขตเทศบาลและกรุงเทพมหานครเป็นแหล่งแพร่ระบาดที่สำคัญที่มีทั้งผู้เสพและผู้ค้าระดับขายปลีกให้กับผู้เสพ

ยาเสพติดที่เป็นปัญหาแพร่ระบาดหลัก คือ ยาบ้า รองลงมาคือกัญชา พืชกระท่อม ไอซ์ และเฮโรอีน และที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ คีตามีน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากในอดีต นอกจากนี้ยังพบการใช้ยาควบคุม/ยาอันตรายในทางที่ผิดในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยประชากรที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งในมิติของการเสพและกระทำความผิดที่มีอายุไม่เกิน 24 ปี มีสัดส่วนสูง โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 40 ยังอยู่ในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 70 ของผู้เข้าไปเกี่ยวข้องมีอาชีพรับจ้าง แรงงาน และเกษตรกร

และสถิติจากคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่าในปีงบประมาณ 2559 สามารถยึดยาบ้า 90 ล้านเม็ด ในปีงบประมาณ 2560 ยึดไป 200 ล้านเม็ด

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: stevepb (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: