'ไทยคม' ชี้ประเทศไทยจะไม่มีดาวเทียมดวงใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ก.พ. 2561 | อ่านแล้ว 2985 ครั้ง

'ไทยคม' ชี้ประเทศไทยจะไม่มีดาวเทียมดวงใหม่

ไทยคมพับแผนยิงดาวเทียม ไทยคม 9 โอดรัฐบาลไม่มีความชัดเจน แถมลูกค้าใหญ่ซอฟต์แบงก์ หนีซบคู่แข่ง ไร้ประโยชน์ทำธุรกิจต่อ ขณะที่ไทยคม 7 และ 8 อยู่ขั้นตอนกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการของไทยคม และกระทรวงดีอี ลั่นรอจนหมดสัญญาสัมปทานปี 2564 ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ย้ำหากประเทศต้องการมีดาวเทียมของตนเองรัฐคงต้องลงทุนเองหวังพึ่งเอกชนเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561 ว่านายไพบูลย์ ภาณุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้พับแผนการยิงดาวเทียมไทยคมดวงที่ 9 เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากรัฐบาล คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ไม่มีความชัดเจนในการจองตำแหน่งวงโคจรให้ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่อย่างซอฟต์แบงก์ ประเทศญี่ปุ่น ก็ยกเลิกการเป็นลูกค้า และหันไปใช้บริการกับผู้ให้บริการดาวเทียมรายอื่นแล้ว

ส่วนการใช้งานในธุรกิจดาวเทียมก็เปลี่ยนแปลงลูกค้าของไทยคม อย่างซีทีเอช ก็ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ส่วนลูกค้า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็เลิกใช้ไอพีสตาร์ เหลือเพียงการเช่าใช้ในโครงการ USO เท่านั้น ขณะที่ผู้บริโภคเองก็เลิกดูทีวีผ่านดาวเทียม และหันมาดูคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

สำหรับความคืบหน้าของดาวเทียมไทยคมดวงที่ 7 และ 8 ที่กระทรวงดีอี ต้องการให้อยู่ในระบบสัญญาสัมปทาน ขณะที่ไทยคม มั่นใจว่า ดาวเทียมทั้ง 2 ดวง คือ ดาวเทียมในระบบใบอนุญาต เนื่องจากได้ขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้ทั้งไทยคม และดีอี ต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น ขณะนี้ยังอยู่เพียงขั้นตอนการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่เลย ดังนั้น คาดว่าภายในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงก็คงยังไม่ได้ข้อสรุป

ดังนั้น ภายใน 3-4 ปีนี้ ไทยคม ไม่มีแผนยิงดาวเทียมขนาดใหญ่แบบไทยคม 9 แต่อาจจะมองหารูปแบบการทำธุรกิจใหม่ในการเหมาซื้อความจุจากดาวเทียมของประเทศอื่นมาให้บริการกับลูกค้า หรือการยิงดาวเทียมวงโคจรต่ำแทน ซึ่งอย่างไรเสีย ในธุรกิจบรอดคาสต์ก็ยังต้องใช้ดาวเทียมในการให้บริการ ขณะที่รัฐบาลเองหากต้องการมีดาวเทียมเป็นของประเทศ ก็คงต้องลงทุนเอง คงพึ่งเอกชนเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว

“สิ่งที่จะทำใน 3 ปีนี้ คือ การทำดาวเทียมดวงที่เหลือก่อน และมีการทำธุรกิจใหม่ ๆ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่าง LooxTV และ maritime ที่ให้บริการดาวเทียมสำหรับเรือ” นายไพบูลย์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: