Folk Buddhism: พุทธแบบชาวบ้าน

เจษฎา บัวบาล 6 ก.พ. 2561 | อ่านแล้ว 4469 ครั้ง


คนไทยไม่น้อยพยายามทำให้ศาสนาตัวเองบริสุทธิ์ โดยลืมไปว่า ศาสนาจะต้องปรับตัวตามพื้นที่ใหม่ๆ และแท้จริงแล้ว เราไม่มีทางทราบเลยว่า พุทธศาสนาแบบพุทธกาล (Early Buddhism) เป็นอย่างไรแน่ ได้แต่มโนเอา แล้วใช้บรรทัดฐานตัวเองประณามคนอื่น

ตัวอย่างหนึ่งคือ การใช้ผ้าสังฆาฎิมาพาดบ่าของพระไทย กลายเป็นสิ่งถูกต้องดีงาม มันเป็นเครื่องประดับของพระที่ไว้แยกตนจากสามเณร ทั้งที่ผ้านี้เอาไว้ใช้คลุมหรือห่มคลุมตัวเวลาหนาว หรือ เมื่อต้องซักจีวรก็ใช้ผ้าสังฆาฎิแทน พระพุทธเจ้าใช้ผ้าสังฆาฏิปูนอน (อ่านในมหาปรินิพพานสูตร) พระไทยเอาสังฆาฏิมาพาดแล้วบอกว่า ใครไม่ใช้ผ้านี้เป็นพระปลอม นี่แหละครับ ที่ผมบอกว่า พุทธที่เราพยายามทำให้แท้ ที่จริงมันคือการมโนของเราเอง 

ชาวบ้านเขานับถือพระแบบมีเหตุมีผลนะ คือพยายามแยกแยะว่าสิ่งใดทำได้ไม่ได้ ถ้าไม่โอเค เขาก็ไม่ทำบุญหรือมาไล่ ดังนั้น ศาสนาที่อยู่กับชาวบ้าน จึงตอบสนองคนในท้องที่ได้จริง ไม่ควรเอารัฐหรือพุทธแท้บางกลุ่มมากำหนดนโยบายสากลแล้วบังคับใช้กับทุกคน ขอยกตัวอย่างดังนี้

ผมต้องเดินไปเรียนถึง 2 กิโล เลยถามทำนองล้อเล่นกับชาวบ้านแถวนั้นว่า นี่ถ้าอาตมาปั่นจักรยานมา โยมรับได้ป่าว? เขาตอบว่า “ได้นะ เดินไกลแบบนี้เหนื่อยจะตาย ไหนบางทีฝนตก แดดร้อน” บางคนถามเองว่า “หลวงพี่ พระนี่ขี่จักรยานไม่ได้หรอ?” นี่เป็นเพราะความเห็นอกเห็นใจที่เขาพบเจอด้วยประสบการณ์จริง

แต่ผมก็ไม่เคยปั่นจักรยานในไทยนะครับ เพราะทราบดีว่า ต่อให้คนแถวนี้รับได้ หากมีบางคนถ่ายรูปไปแฉ จะมีพุทธแท้ไม่น้อยออกมารุมด่าว่า เป็นพระปลอม ทำลายศาสนา จะขอให้สำนักพุทธช่วยตรวจสอบ และอาจถึงขั้นแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครอง ให้ตักเตือนหรือสึก ซึ่งผมไม่อยากเดือดร้อนกับพุทธแท้เหล่านั้นครับ

จนบัดนี้ ผมยังมองไม่ออกว่า การปั่นจักรยานไปเรียน ทำลายศาสนาตรงไหน? แต่ก็ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลครับ เพราะพุทธแท้แบบไทยไม่ต้องการเหตุผล ไม่เห็นด้วยกับเขาก็สึกไปซะ อย่าทำลายศาสนา (ยังไม่เคยตอบว่า ทำลายตรงไหน อิอิ) เขาเป็นเจ้าของศาสนา ในเมืองนี้แม้จะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่หากใครนับถือพุทธ ต้องเชื่อแบบเขาเท่านั้น 

ตราบใดที่ชาวบ้านเขาโอเคกับเรา แสดงว่า เขายังศรัทธาอยู่ครับ เขาบอกให้ผมปั่นจักรยาน หมายความว่า เขาเห็นควรว่าเราไม่ต้องทำตนให้ลำบาก นี่คือศาสนาที่อยู่กับชาวบ้าน แต่ชาวเมืองอีกที่อยากใช้อำนาจตัวเองมาบังคับให้ต้องทำตามเขา ทั้งที่เขาไม่เคยใส่บาตรผมเลย 

ฉันข้าวที่โรงอาหาร ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งสะท้อนว่า ชาวบ้านไม่ได้เสื่อมศรัทธาในตัวเรา หลายครั้งผมนั่งกินโต๊ะเดียวกับเพื่อน ครูอาจารย์ เราแค่นั่งที่เดียวกัน จานข้าวก็เป็นของส่วนตัวอยู่แล้ว อันนี้ถ้าผิดวินัย พระที่นั่งฉันข้าวเป็นวงก็ผิดครับ เราเรียกว่า ฉันแบบคณะโภชน์ แต่นั่นก็คือการตีความผิด คณะโภชน์น่าจะหมายถึงกินภาชนะเดียวกันมากกว่า ไม่ใช่นั่งโต๊ะเดียวกัน แต่เอาเป็นว่า พุทธแท้แบบไทย จับผิดเรื่องเฉพาะกรณีพระกับฆราวาส ถ้าพระกับพระทำกันเองย่อมไม่ผิด 

นั่นไม่ใช่เพราะเรายึดวินัยแล้วตัดสินคน แต่เรายกสถานะพระให้สูงแล้วเหยียบฆราวาสให้ต่ำ การที่พระนั่งโต๊ะเดียวกับฆราวาสจึงผิด ไม่ควรทำ เพราะมันลดคุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ของพระลง นี่เป็นอีกตัวอย่างที่พุทธแท้มโนเอาเองโดยไม่ยืนบนวินัยจริงๆ 

ออ ที่ผมบอกว่า ชาวบ้านไม่ได้เสื่อมศรัทธา เพราะแม้เขาจะเห็นผมนั่งทานข้าวกับฆราวาสหรือบางทีก็สองต่อสองกับเพื่อนหญิง เขาก็ยังพูดจาดีและบ่อยครั้งถวายอาหารโดยไม่คิดเงิน กรณีที่ผมปฏิเสธเขาก็จะยกอาหารมาถวายถึงโต๊ะ โดยที่มีเพื่อนหรืออาจารย์ท่านอื่นอยู่ด้วย 

นี่คือพุทธศาสนาในทางปฏิบัติของชาวบ้านครับ (Practical Buddhism) เขาศรัทธาหรือไม่ศรัทธา อยู่ที่วิจารณญาณของเขาเอง จึงไม่ควรมีใครเอาบรรทัดฐานตัวเองไปตัดสินแล้วบอกให้คนอื่นทำตามถึงขั้นขอให้จับสึกหรือออกกฎหมายจัดการ คนพุทธแท้เหล่านั้นควรทำความเข้าใจสถานการณ์ที่มันเป็น ไม่ควรแค่ตั้งธงว่า ศาสนาเสื่อม ศาสนาเสื่อม ฯลฯ ตราบใดที่เขายังโอเคกับเรา ศาสนาก็อยู่ได้ครับ ถ้าเขาไม่โอเค เขาจะบอกหรือปฏิเสธผมเอง โปรดอย่าเอาการมโนของตัวเองมาบังคับให้คนทั่วโลกทำตามครับ

ถ่ายทอดเรื่องราวโดย หลวงพี่เจน


 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: terimakasih0(CC0 Public Domain)

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ animisticbeliever.wordpress.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: