(เสียง) ทะลุม่านหมอก ทะลวงมายาคติ สลายมนตรา

กฤชสรัช วงษ์วรเนตร: 5 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 3630 ครั้ง


[R]ejecting Mantra

Chapter #2. 85-140 dB Sound & Media Installation @ WTF Gallery and Café

ในยุคที่บรรยากาศบ้านเมืองในประเทศไทย ถูกครอบงำด้วย เวทย์มนต์  คาถา ผู้ร่ายสรรพเสียงเหล่านั้นเป็นได้ทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมที่คอยกล่อมเกลาชาวประชาให้รู้สึกยินยอม พร้อมรับดังกรณีในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, 17 พฤษภาคม 2535 จนมาถึงการสังหารหมู่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 เหตุการณ์ที่กล่าวมานั้นได้ทำให้เราตระหนักแล้วว่า พลังที่เกิดจากสรรพเสียงในวันแห่งความโหดร้ายนั้นถูกตัดต่อ ตัดแต่ง (Edit) ให้เป็นดั่งเสียงที่ไพเราะด้วยระบบมนตราจากผู้ปกครองรวมไปถึงผู้ถูกปกครองด้วย ซึ่งเป็นผลให้ผู้ใต้ปกครองโอนเอียงได้ยินตามสิ่งที่ผู้ปกครองนั้นนำเสนอ กระนั้นสรรพเสียงที่หลุดรอดจากการถูกตัดแต่งจะยังคงอยู่แต่ก็มิได้มีระดับพลังเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยอาจสังเกตได้จากกรณี กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ถูกจับกุมเนื่องจากขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 (วันครอบรอบการขึ้นมามีอำนาจ 4 ปี คสช.) แม้ผู้คนกลุ่มนี้จักตะโกน กู่ร้องเพียงใดก็มิสามารถส่งคลื่นพลังไปยังเหล่ามวลชนได้มากนัก จนกระทั่งแกนนำทั้ง 15 คนถูกจับกุมจึงจะสามารถส่งสารให้หลุดรอดจากการตัดแต่งสู่มวลชนได้อย่างแท้จริงมากขึ้น แต่นั่นก็มิได้เป็นเป้าหมายของคนกลุ่มนี้ ที่การส่งเสียงของพวกเขาจักดังขึ้นผ่านตะแกรงของกรงขัง

แท้ที่จริงนั้นเสียงคือพลังงานคลื่นกล ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากการสั่นสะเทือนผ่านตัวกลางอย่างต่อเนื่อง จนแทรกซึมเข้าไปยังหูของแต่ละบุคคล จากนั้นจึงส่งเป็นสัญญาณไปยังสมอง เพื่อทำการแปลความ-ตีความ วิเคราะห์ และในทางวิทยาศาสตร์นั้นการได้ยินยังเป็นการส่งเสียงด้วยในอีกทางหนึ่ง ในสยามประเทศ สื่อทางเลือกผุดดั่งดอกเห็ดไม่เว้นแต่ละวัน จึงเป็นเสมือนตัวกลาง (Medium) ที่คอยเป็นทางผ่านให้กับเสียงเล็ก เสียงน้อย หรือแม้แต่เสียงที่ดัง และเพื่อการแปลความอย่างจริงจังนั้นจำเป็นต้องมีคุณลักษณะที่เหมาะสมของทั้งตัวเสียง ตัวกลาง และตัวผู้รับด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ในประเทศไทยนั้นทั้งสามคุณลักษณะที่กล่าวมาได้ถูกกล่อมเกลา แทรกแซงจนทำให้การรับรู้ (การได้ยิน) และการสื่อสารของเราถูกทำลาย-บิดเบือนไปจากความจริงที่พบเจอ

แม้กระทั่งกรณีซึ่งเสียงที่เคยได้ยินกลับเงียบหายไปแล้วแต่ยังคงดังกึกก้องอยู่ภายในใจ ฉะนั้นคลื่นเสียงที่ลอยล่องในประเทศไทยนั้นจึงถูกดัดแปลงอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว  แม้ว่าจักเป็นพลังงาน (เสียง) ของปวงประชา (ในทุกระดับชั้น) ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ก็ตาม เสียงสั่นสะเทือนนี้จึงเป็นไปด้วยความอัดอั้น ขับข้อง อยากรู้ อยากถาม อยากเข้าใจ

WTF Gallery and Café สถานที่จัดแสดงนิทรรศการ 85-140 dB Sound & Media Installation ซึ่งนำเสนอผลงานที่เรียกได้ว่าเป็น Site-Specific Art หรือศิลปะพื้นที่เฉพาะ เนื่องด้วยเนื้อหาสาระนั้นมีเสียงเป็นกลไกการทำงานของผลงาน ในกรณีนี้จำเป็นต้องติดตั้งพื้นที่เฉพาะเพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับการทำงานของผลงานแต่ละชิ้น การเน้นไปที่เนื้อหาสาระที่เป็นเสียง (Sound) ผ่านสื่อ (Media) รูปแบบต่างๆนั้นเป็นไปในลักษณะการเปิดม่านดูเบื้องหลังการทำงานที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเวทมนต์ในประเทศไทยที่คอยแทรกแซงและบิดเบือนสรรพเสียง (สาระ) นานาให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐ การร่ายมนต์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ความหมายตั้งต้นมีความคลาดเคลื่อนอย่างชัดเจน สาร (เสียง) ที่ส่งออกมาผ่านผลงานของศิลปินแต่ละคนได้ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงพลังอำนาจของตัวกลางที่นำพาเสียงไปยังแต่ละแห่งหน และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในกลไกการทำงานของการสื่อความหมายด้วยเสียง นอกจากการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ชมได้เข้าใจถึงพลังเสียงของปัจเจกได้แล้ว ยังผลิตความเข้าใจในการรับรู้ของช่องทางที่ผ่านสื่อให้กว้างขว้างมากขึ้นอีกด้วย

เมื่อเริ่มเดินจากชั้นแรกของตัวอาคารเพื่อขึ้นไปยังห้องจัดแสดงผลงาน จะทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังเดินเข้าไปสู่ความมืดที่เรานั้นเลือกจะเดินเข้าไปเอง แสงจากชั้นล่างจะค่อยๆลดลงตามลำดับขั้นบันได ในทางกลับกันเสียงอันน่าสงสัยก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆตามขั้นบันไดเช่นกัน ดังบ้าง เบาบ้าง และหากไม่มีสติรู้ตัวดีก็จะไม่สามารถหาแหล่งกำเนิดของเสียงได้เลย ผลงานเปิดม่านชิ้นดังกล่าวมีชื่อว่า ...-.-. . --.-. ... . (2561) เป็นผลงานการจัดวางเสียงด้วยลำโพงเก่า 2 ทิศทาง โดย อานนท์ นงค์เยาว์ นั้นได้ทำการบันทึกเสียงผ่านเครื่องเล่นเทปสองเครื่อง ซึ่งเป็นคนละรุ่นกัน เนื่องจากความเร็วรอบของมอนิเตอร์นั้นมีไม่เท่ากันจึงทำให้เสียงที่ถูกบันทึกนั้นเกิดความผิดแปลก ส่งความสั่นสะเทือนและความถี่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ก่อกำเนิดความแปลกประหลาดยังโสตประสาทการรับเสียงแก่ผู้ชมตั้งแต่ก่อนเริ่มเข้าสู่พื้นที่แสดงนิทรรศการเลย

เสียงที่ไม่แยแสต่อผู้ชมได้แพร่ผ่านลำโพงเหนือศีรษะ การเสพชมผลงานในห้องมืดได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความผิดปกติอยู่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง หูเริ่มทำงานจะรู้สึกว่าบางสิ่งมารบกวนการทำงานของระบบประสาทรับเสียง ในทางกลับกันคุณภาพของการมองเห็นในที่มืดก็จะเพิ่มมากขึ้น และหากยังคงใช้ใจจดจ่อกับเสียงที่ได้ยินนั้นจะทำให้เกิดความชาชินจนไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ารำคาญสักเท่าใด การนำเสนองานเสียงจัดวางของศิลปินนั้นเป็นดั่งม่านล่องหนที่เมื่อผู้ชมได้เริ่มเดินขึ้นมาจะเป็นเหมือนดั่งการเปิดประตูสู่อีกมิติหนึ่งซึ่งแตกต่างทางสายตาและเสียงที่เรารับรู้ได้ในทุกเมื่อเชื่อวัน หากเริ่มรู้สึกผิดปกติทางหูแล้วสักพักหนึ่งความเคยชินจะทำให้ความผิดปกตินั้นจะกลับกลายเป็นเสียงที่พอจะแยกแยะออกบ้าง ดั่งการจำลองเปิดม่านของศาสตราเวทที่กำลังเริ่มร่ายมนให้ผู้ชมจมเข้าสู่ภวังค์และในที่สุดผู้ชมก็จะทำการร่ายมนต์ใส่ตนเองอย่างไม่หยุดหย่อนจนเกิดเป็นความเคยชิน ทำให้การรับรู้ของเสียงที่ได้รับรู้สึกไม่ผิดแปลกเหมือนครั้งที่เริ่มขึ้นมา

ขยับจากเสียงที่หลอกโสตประสาทกันเล็กน้อยก็จะพบกับผลงานของ พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง นำเสนอในรูปแบบของ วีดีโอจัดวาง (Video Installation) ชื่อว่า xxไม่มีอวกาศxx ,2561 วีดีโอที่พบในห้องดังกล่าวนั้นมี 2 ชิ้น ชิ้นแรกถูกสร้างสรรค์ในรูปแบบของ Animation โดยนำภาพแทนบรรยากาศทางการเมืองที่ชาวไทยได้พบเจอมาทำเป็นตัวการ์ตูน 8 bit อาทิเช่น รถถัง ไดโนเสาร์ ดอกบัว กวาง นกฮูก ส่วนอีกด้านนั้นถูกจัดไว้ในตำแหน่งตรงกันข้าม เป็นการแสดงความซ้อนทับกันของข้อมูลความหมายในโลกเสมือนจริงหรือโลกออนไลน์ (Social Media) อาทิการอัดวีดีโอของผู้คนผ่านทางสื่อกระแสรองอย่าง facebook การจัดระเบียบโฟลเดอร์ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากตีความตามสัญลักษณ์ก็สามารถบอกได้ถึงการแสกน (ตรวจสอบและไม่ตรวจสอบ) ในเนื้อหาก่อนที่จะถูกนำเสนอสู่สาธารณะชน

วีดีโอที่ถูกฉายด้วยรูปแบบที่เป็นการสร้างเรื่องชวนหัวทั้ง Animation และการบันทึกภาพเคลื่อนไหวรูปแบบ Selfie นั้นเป็นดั่งการจำลองวิธีการที่ผู้คนจะรับข้อมูลในขั้นต่างๆเพื่อทำความเข้าใจตนเองและสังคม ปัจจุบันที่ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้นในการรับข้อมูลนั้น ย่อมมีการซ้อนทับกันของข้อมูลจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นความจริง สิ่งใดเป็นความลวง หรืออาจมิได้เป็นทั้งสองอย่าง (สิ่งที่ให้ผู้ชมจำต้องนำไปคิดหาบทสรุปเอาเอง) การเผยเรือนร่างทางการทำงานผ่านการจัดการ (ตัดต่อ) ภาพที่ต่อเนื่อง จนอาจนำไปสู่ชุดข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งนั้น ก็อาจเปรียบได้กับการที่ศิลปินนำวีดีโอ Animation ของตนมาชำแหละให้ผู้ชมเห็นถึงความหมายแฝงที่เกิดจากการชมผลงานสร้างสรรค์ วิธีการนี้ก็เหมือนเป็นการตั้งลำดับแบบย้อนกลับให้ผู้ชมนำไปคิดต่อยอดทางความคิดเอาเอง

ในห้องดังกล่าวยังมีผลงานที่สื่อนัยถึงเสียงแห่งความเงียบงันอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงานภาพวาดโมโนโครม (Monochrome) ด้วยสีอะคริลิคบนผ้าใบ (Acrylic on Canvas) ชื่อว่า หูดับ(ไกลบ้าน) ,2560 ของ ปพนศักดิ์ ละออ แนวคิดนั้นได้รับอิทธิพลจากการสูญเสียการได้ยินของ ลุดวิก แวน บีโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) ช่วงที่เขาล้มเหลวในการเปิดการแสดงบทประพันธ์เพลง ศิลปินต้องการเทียบบรรยากาศของสังคมไทยกับการเหตุการณ์ดังกล่าวของบีโธเฟนว่ามีความคล้ายคลึงกันในแง่ของความล้มเหลว แต่อาจต่างกันตรงที่ผู้ประพันธ์บทเพลง (บทวิพากษ์ งานเขียน ฯลฯ) ชาวไทยนั้นจำต้องอพยพย้ายถิ่นฐานของตนไปพำนักยังต่างแดนในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง

การตะแบงเสียงของเหล่าผู้ประพันธ์ชาวไทยนั้นสมควรแก่เวลาหรือไม่ สมควรแก่กาละหรือไม่ ผลงานชิ้นนี้มิได้เอ่ยเอาไว้ แต่เป็นการนำเสนอถึงผลลัพธ์ของการเปล่งเสียงบางอย่างที่ขัดต่อโสตประสาทการรับรู้ทางด้านต่างๆของเหล่าชนคนชั้นนำในชาติ จนไม่สามารถที่ปล่อยให้เพื่อนนักประพันธ์ (ร่วมชาติ)นั้นอยู่ในดินแดนถิ่นเกิดได้ อันหมายถึงเหล่าผู้ประสบเคราะห์กรรมจากการนำเสนอเนื้อหาสาระที่เรียกว่าอ่อนไหวต่อความเป็นชาติ (หากชาติอ่อนไหวขนาดนั้นก็อาจเป็นได้ว่า ชาตินั้นเป็นสิ่งเลือนรางพร้อมที่จะสลายหายไปในบัดดล) การส่งเสียงอันต้องห้ามจากทั้งโลกจริงและโลกเสมือนจริงนั้นต่อให้นักประพันธ์แต่ละคนจะทำการประพันธ์คนละเรื่องกันก็มักจะถูกผลักใสในแง่เนื้อหาเดียวกัน ผลงานดังกล่าวนอกจากเป็นการกระตุ้นเตือนในด้านการรับรู้ของผู้ชมแล้ว ยังแฝงไปด้วยการตั้งคำถามต่อความรุนแรงในการแสดงความคิดที่แตกต่างจากกระแสหลัก

เมื่อก้าวเท้าออกจากพื้นที่ชั้น 2 แล้วจำต้องเดินขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งซึ่งจัดตั้งผลงานของ Albretch Pischel (อัลเบรจซ์ พิซเซล) ศิลปินเชื้อสายเยอรมันผู้นี้ได้จัดห้องแสดงงานทั้งชั้นให้มืดมิดราวกับถูกปิดตา แสงที่เห็นก็มีเพียงแสงจากหน้าจอของผลงานที่ชื่อว่า Untitled, 2556/2561 ซึ่งเป็นฟิล์มสีขนาด 8 มม. และแสงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงของผลงานการจัดวางเสียงที่ชื่อว่า  Untitled (Slide) ,2561 ผลงานทั้งสองชิ้นถูกจัดแสดงในพื้นที่ที่เงียบสนิทราวกับว่าต้องการให้ได้ยินเพียงเสียงเลื่อนของแผ่นสไลด์เป็นจังหวะเดียวกันกับเสียงเต้นของหัวใจผู้ชมที่กำลังงงงวยในบรรยากาศการรับรู้ของงานศิลปะแนวประเทศแถบที่สูงดังกล่าว

ความไม่คุ้นชินทางสายตาและโสตประสาทหูจะเป็นตัวบีบบังคบให้ผู้ชมเข้าไปใกล้เพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหาของงานที่ดูเหมือนจะน้อยชิ้นนี้ การทำงานของผลงานการจัดวางเสียง ได้ทำให้ผู้ชมยินยลกับเสียงคลิกทีละนิด-ละน้อย เหมือนดั่งประสบการณ์ของผู้คนที่เคยได้รับการเรียนผ่านการเปลี่ยนแผ่นสไลด์ของเครื่อง Over Head ตามโรงเรียน (สมัยก่อน) ที่ฉายเรื่องราวผ่านแผ่นใสให้ผู้เรียน หากแต่ต้นกำเนิดเสียงของผลงานชิ้นนี้นั้นมิได้มาจากเครื่องฉายประเภท Over Head แต่กลับเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่บันทึกเสียงคลิกไว้ เป็นการนำเสนอในมุมมองของตัวกลางอย่างหนึ่งส่งเสียงออกมายังผู้ฟังได้ตามปกติวิสัย แต่ในกรณีเสียงเดียวกันนั้นถูกแพร่เสียงผ่านตัวกลางคนละชนิดกันจะพบว่าเสียงที่ได้ยังคงเป็นเสียงเดิม แต่จะถูกม่านมน (ความมืดและความเงียบงัน) เข้าบดบังวิสัยในการมองทำให้อาจเอ่ยข้อสรุปนั้นว่าแหล่งกำเนิดเสียงก็มาจากเครื่องต้นกำเนิดเสียงที่คุ้นชิน ทั้งที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ผลงานศิลปะชุดนี้จึงเสมือนดั่งการแสดงลวงประสาทผู้คนที่นอกจากเสียงที่ได้รับฟังแล้วยังคงพรางตาผู้คนด้วยบรรยากาศรอบด้าน

ในทางกลับกันผลงานอีกชิ้นหนึ่งเป็นการนำรังสี X-Ray มาแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลแล้วฉายบนจอภาพขนาดเล็กเท่าโทรศัพท์เครื่องที่ เป็นเหมือนกับการแฉกลลวงในการบิดเบือนข้อมูลที่จะได้รับ ในทางปฏิบัตินั้นรังสีดังกล่าวจะทำการทะลุละลวงไปยังวัตถุ แล้วฉายให้เราเห็นถึงภายในของวัตถุนั้นๆ ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่าศิลปินต้องการเผยการทำงานของระบบการเจาะทะลวงข้อมูลของรังสีดังกล่าว การฉายให้ผู้ชมได้เห็นว่าแม้แต่รังสี X-Ray ก็สามารถแปลงเป็นข้อมูลภาพได้ด้วยเทคนิคต่างๆ และอาจกล่าวได้ว่าแท้ที่จริงแล้วระบบการรับรู้ของผู้คนได้ถูกแทรกแซงจนทำให้ไม่สามารถมองเห็นชุดการรับรู้ในสิ่งที่ปรากฏจริงได้หรืออาจเป็นความพร่าเลือนของตัวผู้รับสารเองที่มักจะต้องการแว่นของใครคนหนึ่ง (กลุ่มหนึ่ง) ในการมองสิ่งต่างๆแทนที่จะเป็นสายตาของตนเอง การชมงานทั้งสองชิ้นนี้เป็นการแสดงกลไกของระบบกลลวงที่นำเสนอด้วยชั้นเชิงของบรรยากาศการลวงตาอีกต่อหนึ่ง ชิ้นหนึ่งดั่งการหลอก (การรับรู้) ของผู้ชม อีกชิ้นหนึ่งกลับเป็นการเปิดโปงกลลวงในการหลอก (การรับรู้) จึงเป็นดั่งการกระตุ้นให้เกิดการพิจารณาอย่างจริงจังในข้อมูลดั้งเดิมที่เราเคยได้รับมาตั้งแต่กำเนิด

ถัดไปอีกครึ่งชั้น (มุมตรงบันได) นั้นยังมีวีดีโอความยาว 16 นาที โดย สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ชื่อว่า กรุงเทพฯตอนเย็นๆ ,2548/2561 เป็นการเล่าเรื่องผ่านวีดีโอจากหลายสถานที่รอบกรุงเทพฯซึ่งบันทึก 40 วินาทีต่อวัน ภาพของสังคมกรุงเทพฯที่มีความเคลื่อนไหวอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง และในความเคลื่อนไหวนั้นเองจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่แรงขับเคลื่อนของกรุงเทพอย่างผู้คนนั้นหยุดนิ่ง ราวกับเครื่องจักรที่รอการเติมเต็มเชื้อเพลิงจากบทเพลงขับกล่อมหรืออาจเป็นบทสวดส่งวิญญาณก็สุดแล้วแต่คนจะ (คิด) อ่าน

การนำเสนอเนื้อหาสาระของงานนั้นก็อาจเดาได้แล้วว่าเป็นช่วงเวลาตอนที่เพลงประจำชาติกู่ก้องขึ้นเป็นผลให้ผู้คนในพื้นที่สาธารณะต่างๆจำต้องหยุดทุกอิริยาบถของตนเพื่อสรรเสริญความภาคภูมิขึ้นในใจตนเอง ภาพโทนสีโมโนโทนที่เป็นธีมหลักของภาพยนตร์ให้ความรู้สึกถึงเหตุการณ์อันน่าเลื่อมใส (และน่าสลด) แก่ผู้ชม บรรยากาศรอบด้านที่พ้นจากไอเย็นของเครื่องปรับอากาศก็เป็นส่วนส่งเสริมให้การชมงานนี้รู้สึกอัดอั้น (ภาคภูมิ-เนื่องจากต้องชมในที่ร้อนอบเพื่อดูผู้คนแสดงความเคารพเพลงชาติจนจบ) การตั้งความสงสัยต่อความหยุดนิ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ยังเชื่อมโยงไปถึงปัจจุบันขณะในรายการคืน (ความสุข) บางอย่างให้กับประชาชน เราจะสังเกตเห็นถึงความคล้ายคลึงกันของเรื่องราวทั้งสองอย่าง ที่มาพร้อมกับการไม่สามารถถูกตั้งคำถามจากผู้คนได้เลย

หากคิดในบริบทของประเทศไทยนั้น การถูกกล่อมเกลาด้วยเสียงก็คงเป็นสิ่งแรกที่ชาวประชาสยามเมืองยิ้ม (?) ได้รับรู้กันตั้งแต่ยังเล็ก แน่นอนว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในกรณีนี้ แต่หากได้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานในกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐแล้วจะทำให้เข้าถึงชุดข้อมูลที่อาจเรียกได้ว่าเป็นดั่งอำนาจอย่างอ่อนๆจากการที่ผู้คนไม่รู้สึกจนรู้สึกถึงบางอย่าง สุดท้ายจึงกลายเป็นความเคยชินในการรับฟังสารบางประเภท ซึ่งถ้าใช้ความใส่ใจในสรรพเสียงที่ได้รับมานั้นจะตระหนักในความเป็นมาของเสียง รวมถึงรายละเอียดของเสียงได้รับฟังมา หากการร่ายเวทย์จำต้องใช้คาถาสวดฉันใดการใช้เสียงเดิมทุกวันที่ทุกคนรับรู้ความหมายได้เหมือนกันก็เป็นชุดลวงตาฉันนั้น

ความที่รูปแบบของผลงานที่จัดแสดงครั้งนี้แปลกตาและผู้ชมส่วนใหญ่ในประเทศนี้มิได้คุ้นชินกัน เป็นผลให้ตัวสาร (ะ) บางอย่างที่ควรจะทำให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความหมายและคำถามจากผลงานกลายเป็นการร่ายมนต์ต่อตัวผู้ชมเองอีกทอดหนึ่งแทน ฉะนั้นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการแสดงความคิดเห็นต่อนิทรรศการนี้คือผู้ชมเองจำต้องเก็บอารมณ์สุนทรีย์ที่คิดว่ามักจะได้รับเพียงแต่ความเบาสบายของการเสพชมศิลปะไป และปรับเปลี่ยนเป็นความคิดที่ตระหนักถึงเนื้อหาของข้อมูลเป็นหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น อารมณ์สุนทรีย์ของการรับชุดข้อมูลที่อัดแน่น (ด้วยสัญลักษณ์) ผู้ชมจำต้องคิดเสมอว่าศิลปะนั้นมิได้เป็นสิ่งสูงส่ง (ทางจิตใจ) แต่เป็นเสมือนดั่งเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ต่างไปจากหน้ากระดาษหรือจอโทรทัศน์เลย

สื่อต่างๆที่พบเจอในงานนิทรรศการครั้งนี้แม้มีความหลากหลายไม่มากนัก แต่แน่นอนที่สุดว่ามีเสียงของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมที่มากขึ้นในช่วง 4 ปีมานี้ (ทางกระแสศิลปะก็เช่นกัน) หรือแม้กระทั่งเสียงที่เปลี่ยนไปหลังจากการชมงานแล้วเสร็จ ด้วยเนื้อหาที่หนักแน่น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ชมจำต้องอ่านตัวบท (Text) ของแต่ละผลงานเพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหาให้ได้ครบถ้วน ฉะนั้นผู้ชมจำต้องทำการศึกษาหลังจากที่ชมงานนี้อย่างแข็งขันต่อไปเช่นกัน การกล่อมเกล่าผ่านเสียงต่างๆและม่านหมอกลวงตาที่คลุกเคล้าในบรรยากาศอันระอุไปด้วยความข้องใจ ทั้งยังกำเนิดพร้อมกับมายาคติในบริบทของประเทศไทยนั้น เป็นประเด็นหลักที่นิทรรศการดังกล่าวนี้ต้องการจะนำเสนอให้ผู้ชมได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงนั้นเราอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยีหรือโลกแห่งมนตรากันแน่ งานนิทรรศการ 85-140 dB จึงเป็นทั้งเสียงที่น่ารำคาญและเสียงแห่งการตระหนักรู้.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: