จับตา: ตัวอย่างการจัดการขยะโซลาร์เซลล์ใน 'เยอรมนี-ญี่ปุ่น'

ทีมข่าว TCIJ : 4 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 12608 ครั้ง


ตัวอย่างการบริหารจัดการการแผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพในประเทศที่มีความก้าวหน้าในการใช้โซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลก เช่น ‘เยอรมนี’ และ ‘ญี่ปุ่น’ ที่มาภาพประกอบ: earthisland.org

ข้อมูลจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า (Management of expired solar PV panels) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ และคณะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2559 ได้ระบุถึงการบริหารจัดการการแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศเยอรมนีและประเทศญี่ปุ่นไว้ดังนี้

การบริหารจัดการการแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศเยอรมนี

เริ่มมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ครั้งแรกในประเทศเยอรมนีในช่วงปี 2525 โดยติดตั้งใช้งานในรถยนต์ ต่อมาในปี 2533 ได้ตั้งโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งมีเป้าหมายคือเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 300 MW ภายในระยะเวลา 6 ปี ทั้งนี้ในปี 2557 ประเทศเยอรมนีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมที่สูงถึง 38.2 GW โดยอัตราเพิ่มของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์นั้นอยู่ที่ 5.2% ต่อปีหรือ 1,900 เมกกะวัตต์ต่อปี แผงโซลาร์เซลล์ที่มีการติดตั้งและใช้งานภายในประเทศเยอรมนีนั้น มีทั้งที่เป็น แบบผลึก (c-Si) และแบบฟิล์มบาง (a-Si, CdTe, CIGS) โดยแผงโซลาร์เซลล์แบบผลึกจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ปี ในขณะที่แบบฟิล์มบางจะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วจะเกิดของเสียซึ่งจะมีองค์ประกอบมาจากวัสดุที่ประกอบขึ้นเป็นแผงโซลาร์เซลล์นั่นเอง เช่น แก้ว อะลูมิเนียม ซิลิกอน ทองแดง สังกะสี ฯลฯ รวมไปถึง แร่หายาก เช่น อินเดียม ฯลฯ

แนวทางการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่เป็นของเสียในประเทศเยอรมนีได้รับอิทธิพลมาจาก WEEE (Waste Electrical and Electronic Equipment) Directive (Directive 2002/96/EC) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยสหภาพยุโรปเพื่อใช้ในการบริหารจัดการของเสียอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน ก.พ. 2545 ต่อมาได้มีการปรับปรุงกรอบของกฎหมายฉบับนี้ ให้ครอบคลุมไปถึงของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์เรียกว่า The recast WEEE Directive (Directive 2012/19/EU) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 ก.พ. 2557 กรอบของ WEEE ฉบับปรับปรุงนี้ ระบุให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในการจัดการของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์ โดยต้องจัดให้มีระบบการเรียกคืนและรีไซเคิล ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการ การรายงาน และการเงินที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสมาชิก ทั้งนี้นิยามของผู้ผลิตในกฎหมายนี้หมายรวมถึงโรงงาน ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า และผู้ขายในระบบออนไลน์ ผลทางรูปธรรมของกฎหมายนี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือการก่อตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เรียกคืน โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในดำเนินการกิจกรรมรีไซเคิล รวมไปถึงกระบวนการรายงานผล การให้หลักประกันทางการเงิน และกลไกการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงกับโครงการการรวบรวมและจัดการขยะอุตสาหกรรมที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว และให้มีการบูรณาการกับระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเก็บรวบรวมและจัดการของชุมชนที่มีไว้เพื่อการจัดการของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว

กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ตราขึ้นโดยสหภาพยุโรปก็คือ RoHS (Restriction of Hazardous Substances) Directive (2002/95/EC) ที่มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการใช้งานสารอันตรายภายในอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม โครเมียมเฮกซะวาเลนต์ พอลิโบรมิเนต ไบฟีนิล (PBB-Polybrominated Biphenyl) หรือ พอลิโบรมิเนต ไดฟีนิลอีเธอร์ (PBDE-Polybrominated diphenyl ethers) เป็นต้น โดยให้ใช้สารอื่นที่มีความปลอดภัยเข้ามาทดแทน ต่อมาได้มีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ขึ้น เรียกว่า RoHS recast directive 2011/65/EC และมีผลบังคับใช้เมื่อ 3 ม.ค. 2556 โดยกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดและเลิกการใช้สารอันตรายในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

ในการบริหารจัดการขยะแผงโซลาร์เซลล์ของประเทศเยอรมนีนั้นไม่ได้มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ แต่จะประยุกต์ใช้กฎหมายการจัดการอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Electronic Equipment Act; Elektrogesetz, ElektroG) ที่มีอยู่เดิมเพื่อการจัดการทั้งนี้กฎหมายของเยอรมนีฉบับนี้ แต่เดิมจะมีเนื้อหาที่อ้างอิงและเป็นไปตามบทบัญญัติหลัก ๆ ของ Waste Electrical and Electronic Equipment-WEEE (Directive 2002/96/EC) และ Directive 2002/95/EC ที่ควบคุมสารอันตรายภายในอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป (European Commission-EC) ซึ่งในกฎหมาย ElektroG มีการระบุว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อม (Federal Ministry of Environment หรือ UBA) ได้มอบหมายและให้อำนาจในการบริหารจัดการขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แก่ สำนักทะเบียนผู้ก่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Stiftung Elektro-Altgeraete Register; Stiftung EAR) ซึ่ง Stiftung EAR นี้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนและออกเลขทะเบียนให้กับผู้ผลิตซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลังหมดอายุใช้งาน โดยผู้ผลิตในที่นี้จะรวมถึง โรงงานที่ทำการผลิต ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ด้วย ทั้งนี้ผู้ผลิตจะมีหน้าที่ในการเรียกคืน รวบรวม และนำอุปกรณ์ที่หมดอายุจากครัวเรือน ไปดำเนินการถอดแยก รีไซเคิล หรือส่งต่อไปยังโรงงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าว โดยผู้ผลิตจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งหมด โดยการดำเนินการนี้จะหมายรวมไปถึงการจัดตั้งจุดรวบรวม WEEE การจัดหาภาชนะรวบรวม WEEE และต้องทำบัญชีแสดงปริมาณของ WEEE ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งให้กับ Stiftung EAR ทุกปี จากข้อมูลในช่วงปี 2549 พบว่าชาวเยอรมนีทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ในการรวบรวม WEEE นั้น หน่วยงาน Öffentlich-rechtliche Entsorgungsträger (örE) จะแจ้งประชาชนผู้เป็นเจ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics and Electrical Equipment หรือ EEE) ในเรื่องกรรมวิธีการจัดการกับ WEEE โดยหน่วยงานนี้จะเป็นผู้กำหนดวิธีในการเรียกคืนและการรวบรวม WEEE ในแต่ละพื้นที่ ทำการชี้แจงกฎระเบียบในการรีไซเคิลหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ของ WEEE ระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ WEEE เช่น ลักษณะสัญลักษณ์บนฉลากสินค้า รวมไปถึงหน้าที่การเตรียมให้ WEEE ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมก่อนผู้ผลิตจะนำ WEEE ไปดำเนินการในขั้นต่อไป

ส่วนบทบาทของภาคเอกชนในการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า จะเริ่มจาก ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยื่นขอจดทะเบียนกับ Stiftung EAR ทำการจัดตั้งจุดรวบรวมของเสียอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปถอดแยกชิ้นส่วน รีไซเคิลส่วนประกอบที่สามารถรีไซเคิลได้ นำส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ไปกำจัด รวมไปถึงจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับปริมาณอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิต-จำหน่าย และปริมาณของเสียอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้น รีไซเคิล และกำจัดส่งให้กับ Stiftung EAR โดยในส่วนของการรีไซเคิลและการกำจัดขยะอุปกรณ์นั้น กฎหมาย ElectroG ได้มีการระบุหลักเกณฑ์ในเรื่องความสามารถในการถอดแยกส่วนประกอบ และการรีไซเคิล ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์นั้นจะต้องมีอัตราการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Rate of recovery) อย่างน้อย 80% (โดยน้ำหนักรวม)

ในปี 2550 กลุ่มผู้ผลิตแผงในสหภาพยุโรปได้รวมกันก่อตั้งองค์กรชื่อ PV Cycle เพื่อจัดทำการบริหารจัดการแผงหมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า โดยทำหน้าที่ประสานการจัดเก็บรวบรวม การขนส่งและการทำรีไซเคิลในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทวีปยุโรป รวมถึงในประเทศเยอรมนีด้วย โดยตั้งแต่ปี 2553-2558 PV Cycle ได้เก็บและรีไซเคิลรวมกันถึง 13,000 ตันของแผงหมดความคุ้มค่า โดยเป็นแผงจากประเทศเยอรมนีถึง 7,637 ตัน ทั้งนี้ในเดือน ก.พ. ของปี 2559 PV cycle ได้ประกาศว่าสามารถรีไซเคิลได้ถึง 90% ของแผงกลุ่มที่เป็นวัสดุพวก Silicon-based และถึง 97% ของแผงที่เป็นวัสดุ Non silicon

การบริหารจัดการการแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการใช้งานเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 33.3 GW ในปี 2558 ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นนั้นมีอัตราที่เพิ่มสูงมากในราวปี 2533 และมีการติดตั้งเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปี 2538 เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานชั่วคราวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองโกเบ และอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มอนจู อย่างไรก็ตาม จากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะและการที่ต้องนำเข้าทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ญีปุ่นต้องคำนึงถึงเรื่องมลพิษและการนำกลับของวัตถุดิบจากของเสียแผงไปพร้อม ๆ กัน สำหรับการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์นั้น ในประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายที่มีผลบังคับในเรื่องการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดความคุ้มค่าโดยเฉพาะ มีเพียงกฎหมายที่ใช้ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2 ฉบับที่ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมลดการเกิดขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยกระบวนการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่กล่าวคือ the Law for Promotion of Effective Utilization of Resources (LPUR) และ the Law for Recycling of Specified Home Appliance (LRHA)

ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ได้เริ่มมีความตื่นตัวและเริ่มกระบวนการเก็บรวบรวมแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดความคุ้มค่า โดยคิดค่าบริการ 8 ยูโรต่อเซลล์แสงอาทิตย์ 1 แผงมา ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 และเริ่มมีมาตรการเพื่อการสนับสนุนนโยบายการรีไซเคิลของรัฐบาล ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการถอดแยก ขนส่งและแปรรูปของเสียอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายได้เริ่มภายในปลายเดือน มี.ค. 2559 ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะมีขยะแผงเซลล์ในหลุมฝังกลบเป็นจำนวนถึง 800,000 ตันภายในปี 2583 โดยมาตรการนี้จะส่งเสริมให้เกิดการแยกวัตถุมีค่าเช่น เงิน ทองแดง และแร่ธาตุหายากชนิดต่าง ๆ ออกจากแผงเซลล์หมดอายุ เพื่อเป็นการสงวนแหล่งทรัพยากร เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นต้องนำเข้าแร่ธาตุจากต่างประเทศอยู่แล้วจึงไม่ควรทิ้งของมีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเตรียมความพร้อมในการเก็บรวบรวมแผงและการรีไซเคิล โดยการสนับสนุนการวิจัยร่วม เช่น กับ NEDO Asahi Glass PVTECH บริษัทชาร์ป และ Showa Shell ได้ร่วมกันศึกษาเทคโนโลยีการรีไซเคิลกระจกแผงมาตั้งแต่ปี 2544

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade, และ Industry; METI) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรากฎหมาย และวางนโยบายด้านอุตสาหกรรม การค้า ความมั่นคงด้านพลังงาน การควบคุมการส่งออก รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบทบาทที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การจัดการเซลล์แสงอาทิตย์นั้น กระทรวงเศรษฐกิจฯ เป็นผู้ตรากฎหมาย 2 ฉบับขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมช่วยลดการเกิดขยะอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยกระบวนการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ คือ The Law for Promotion of Effective Utilization of Resources (LPUR) และ The Law for Recycling of Specified Home Appliance (LRHA) ซึ่งได้มีการกำหนดรูปแบบการจัดการเป็นขั้น ๆ

ในประเทศญี่ปุ่น ผู้ทิ้งของเสียอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 44 ล้านครัวเรือนจะก่อเกิดขยะประเภทนี้ประมาณ 18 ล้านชิ้นต่อปีโดยมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้ในการจัดการขยะ โดยของเสียเหล่านี้จะถูกทิ้งได้ตามจุดที่มีการจำหน่ายหรือจุดเก็บที่ได้ตกลงกันไว้ประมาณ 80,000 จุดทั่วประเทศ (Consumer-Retailer Model) จุดจำหน่ายเหล่านี้จะมีการจัดส่งของเสียไปศูนย์รวบรวมจำนวน 380 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะถูกบริหารจัดการโดย 2 กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ โดยกลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยบริษัท อีเล็กโทรลักซ์ จีอี มัตสึชิตะ และโตชิบ้า กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยบริษัทเดวู โซนี่ ฮิตาชิ และชาร์ป เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ โดยศูนย์รวบรวมเหล่านี้จะมีความรับผิดชอบในการรวบรวมและขนส่งไปยังไปยังสถานที่ที่สามารถทำการรีไซเคิลได้ตามกฎหมายประมาณ 41 แห่งต่อไป

นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่น เจ้าของขยะจ่ายค่าจัดการของเสียให้กับตัวแทนจำหน่าย ณ จุดจำหน่ายหรือจุดเก็บทั่วประเทศ ในกรณีที่ตัวแทนจำหน่ายไม่สามารถจัดการได้ AEHA-Association of Electric Home Appliance จะเข้าไปดูแลการเก็บรวบรวมแทน ระบบของการเก็บเงินค่าจัดการนี้ถึงแม้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการยืดระยะการใช้ให้ยาวที่สุด แต่ก็จะทำให้เกิดการลักลอบทิ้งเช่นกัน ในปี 2559 นี้ PV Cycle จะเข้าไปทำงานในญี่ปุ่น โดยจะเปิดศูนย์รวบรวมอีก 14 แห่งทั่วประเทศ และจะมีการทำงานร่วมกับโครงการนำร่องรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ของรัฐบาลญี่ปุ่น (Akita Photovoltaics Recycling Model Project) อีกด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: