ปี 2561 หุ่นยนต์มาแรง หากไม่ใช้เทคโนโลยีใน 5 ปี เสี่ยงปิดโรงงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3726 ครั้ง

ปี 2561 หุ่นยนต์มาแรง หากไม่ใช้เทคโนโลยีใน 5 ปี เสี่ยงปิดโรงงาน

'ฐานเศรษฐกิจ' ชี้ปี 2561 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาแรง รับการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีการผลิต ผลศึกษาสถาบันไทย-เยอรมัน ชี้ผู้ประกอบการ 1.4 แสนราย ไม่ปรับตัว 85% ธุรกิจไปไม่รอดแน่ ขณะที่ BOI อัดยาแรงกระตุ้นการใช้ เชื่อ 5 ปี ลงทุน 2 แสนล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2560 ว่าจากยุทธศาสตร์ของประเทศ 20 ปี หรือไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิตอล เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่มีเป้าหมายใน10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคนในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ดีขึ้น

นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์และในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เปิดเผยกับว่าในปี 2561 จะเห็นภาพของการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เข้ามาทำงานแทนแรงงานคนเพิ่มมากขึ้น สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ที่ผลการศึกษาของสถาบันไทย-เยอรมัน ชี้ให้เห็นว่าหากโรงงานที่มีอยู่กว่า 1.4 แสนแห่งไม่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ 85% ของอุตสาหกรรมในประเทศจะไม่สามารถแข่งขันได้ภายใน 5 ปี และ 53% ของเอสเอ็มอีอาจจะต้องปิดกิจการ

โดยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ถือเป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้มีมาตรการส่งเสริมให้เกิดขึ้น ซึ่งตลอด 1 ปี 2560 มีเอกชนได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอไปแล้วกว่า 30 รายคิดเป็นมูลค่าลงทุนราว2.1ล้านบาท เป็นการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีถึง 1.4 หมื่นล้านบาทซึ่งมองว่ายังไม่สูงมากนัก

แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่บีโอไอได้ออกมาตรการ ซึ่งเป็นยาแรงในการส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2560 ด้วยการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุน เช่น กรณีมีการใช้เครื่องจักรที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเครื่องจักรที่ใช้ในโครงการ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 100% ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน รวมถึงการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิต จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน แต่จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563

นายชิตกล่าวอีกว่า ดังนั้น จากมาตรการดังกล่าว จึงเชื่อว่าในปี 2561 จะมีผู้ประกอบการลงทุนในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างตลาดให้เกิดในประเทศ ที่จะนำไปสู่ให้เกิดการลงทุนผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเฉลี่ยราวปีละกว่า 2 แสนล้านบาทแต่ผลิตและส่งออกเฉลี่ยได้ราวปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้ขาดดุลการค้ากว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีดังนั้นหากส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ส่งเสริมการผลิต จะยิ่งทำให้ประเทศขาดดุลเพิ่มมากขึ้น”

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอกล่าวว่า จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ออกมาเป็นการให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวเพื่อปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน

ดังนั้นมองว่าในปี 2561 นี้ จะทำให้มีผู้ประกอบการยื่นขอส่งเสริมการใช้ระบบอัตโนมัติ เพิ่มจากปี 2560 ที่มีจำนวนน้อย และจะช่วยให้เกิดการลงทุนผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในช่วง 5 ปี ราว 2 แสนล้านบาทลดการนำเข้าได้ 8 หมื่นล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: