นักวิชาการห่วงเขื่อนขนาดกลางและเล็กของไทย ซ้ำรอยลาว

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 1464 ครั้ง

นักวิชาการห่วงเขื่อนขนาดกลางและเล็กของไทย ซ้ำรอยลาว

นักวิชาการห่วงเขื่อนขนาดกลางและเล็กทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อบต.อาจไม่มีประสิทธิภาพ อาจเกิดเขื่อนเเตก อย่าง สปป.ลาว กรณีของเขื่อนเซเปียน คาดสาเหตุจากการทรุดตัวของเขื่อนและระบบเตือนภัยไม่ดีพอ ส่วนไทยได้รับผลกระทบด้านกระเเสไฟฟ้าน้อยมาก

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 15 เรื่อง “เขื่อนแตก เรื่องของลาวกับเรื่องของเรา” เพื่อถอดบทเรียนเเละนำเสนอองค์ความรู้หลังเกิดกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยที่แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างเเตก ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมหลายหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตเเละผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางการลาวคาดว่าสาเหตุที่ทำให้เขื่อนเเตกนั้นเกิดจากความบกพร่องระหว่างการก่อสร้าง

นายฐิรวัตร บุญญะฐี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวทิยาลัย กล่าวว่าเขื่อนเเบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ เขื่อนคอนกรีตใช้น้ำหนักตัวเองต้านเเรงดันน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นหินเเข็ง เช่น เขื่อนเเม่มาว ,เขื่อนคอนกรีตที่มีความหนาแน่น, เขื่อนคอนกรีตบาง เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนดิน ซึ่งน้ำหนักเบากว่าคอนกรีต เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนเเก่งกระจาน โดยเเต่ละเขื่อนสร้างตามสภาพเเวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ โดยเขื่อนในลาว ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเขื่อนดิน กรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยที่เเตก เมื่อมองสภาพเเวดล้อมพบว่าบริเวณดังกล่าวมี 2 เขื่อนใหญ่ คือเขื่อนเซเปียนเเละเขื่อนเซน้ำน้อย เเละมีเขื่อนเล็ก ซึ่งเป็นเขื่อนปิดช่องเขา 5 เขื่อน ซึ่งเขื่อนที่เเตกครั้งนี้เป็น 1ใน 5 เขื่อนเล็ก

โดยสาเหตุที่เเตกเบื้องต้นคาดว่า มีการวางระบบระบายช่องทางน้ำล้นไม่ดีพอ ขณะที่เขื่อนไม่มีความเเข็งเเรงมากพอกับการรับน้ำหนักของน้ำอาจจะประมาทในการประเมินวัสดุที่นำมาสร้างเขื่อน เช่น ดินไม่มีความหนาเเน่น การบดอัดดินไม่เพียงพอ ทำให้ดินยุบตัวระหว่างการเติมน้ำ ประเมินการไหลซึมผ่านตัวเขื่อนเเละใต้เขื่อนไม่ถูกต้องหรือออกเเบบไม่เหมาะสม การฉีดอัดน้ำปูนให้ชั้นดินไม่เพียงพอ ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่นความไม่เเน่นอนของธรรมชาติ

ขณะเดียวกันอาจมีระบบการจัดการความเสี่ยงที่ไม่ดีพอเนื่องจากมีข้อมูลว่าบริษัทเกาหลีซึ่งเป็นผู้ร่วมสร้างเขื่อนได้รายงานต่อสภาของเกาหลีว่าเขื่อนดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดลองเติมน้ำ หลังสร้างเสร็จก่อนกำหนด 5 เดือนในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา โดยก่อนเขื่อนจะเเตก 4 วันเกิดดินทรุดตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งเเต่ขนาด 11เซนติเมตรจนกว้างขึ้นเป็น 1 เมตร จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่ามีการรู้ตัวก่อน เเต่มีการเเจ้งเตือนเพียง 1 วันก่อนที่เขื่อนจะเเตกเท่านั้น

ด้านนายอนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลายฝ่ายอาจจะมองว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดเขื่อนเเตกนั้น คือการเปลี่ยนเเปลงสภาพอากาศโลก เเต่ตนมองว่าหากเป็นสาเหตุดังกล่าวจะทำให้หลายเขื่อนเเตกไปแล้ว สาเหตุหลักที่ทำให้เขื่อนเล็กเเตกในครั้งนี้เกิดจากน้ำล้นตัวสันเขื่อน ตัวเขื่อนทรุดตัวลง

เนื่องจากฐานรากไม่ดีเเละเกิดการสไลด์ตัวของชั้นดิน ส่วนข้อมูลที่มีความผิดพลาดว่าจากเขื่อนเเตก ทำให้มีน้ำบ่าลงมา 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เเต่ความจริงเขื่อนมีความจุเก็บกักได้เเค่ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงคาดว่าน่าจะเป็นน้ำป่าประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ขณะที่หากเทียบเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยในไทยถือเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ในไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่ประมาณ 34 เขื่อน ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูเเลเขื่อนทั้งหมดมากขึ้น ซึ่งตนมองว่าหากจะเกิดเขื่อนเเตกในไทย ความกังวลน่าจะเป็นเขื่อนขนาดกลางเเละขนาดเล็กที่มีกว่า 800 เขื่อนและ8,000 เขื่อนตามลำดับเพราะมองว่ามีการดูเเลน้อย ที่ผ่านมามีการรายงานพบการรั่วซึมของน้ำมากกว่าปกติ ขณะเดียวกันเขื่อนขนาดเล็กซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากการโอนย้ายของกรมชลประทาน จนตั้งข้อสังเกตว่า อบต.จะมีศักยภาพการดูเเลเขื่อนได้หรือไม่หากเขื่อนเเตกขึ้นมา

ขณะที่หลังเกิดเหตุการณ์นี้หลายคนอาจให้หยุดสร้างเขื่อนเพื่อตัดต้นตอปัญหา เเต่ตนมองว่าอาจหยุดไม่ได้เพราะเขื่อนในไทยส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์กักน้ำไว้ใช้ในช่วงน้ำเเล้ง ส่วนเรื่องป้องกันน้ำท่วมได้เเค่ร้อยละ 10 เท่านั้น เเต่ถึงอย่างไรก็ต้องรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่เปลี่ยนเเปลงไป สุดท้ายบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ ฝากสำนักงานทรัพยากรน้ำเเห่งชาติ (สทนช.) เเละหน่วยงานภาครัฐว่าควรมีข้อมูลระยะยาว คาดการณ์สภาพอากาศใน 30 ปีข้างหน้าครอบคลุมทั้งประเทศเเละเผยเเพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาหาข้อมูลได้ยากมาก

ส่วนนายกุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเหตุการณ์เขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยเเตกในลาว ส่งผลกระทบด้านพลังงานของไทยน้อยมาก ที่เดิมทีจะผลิตกำลัง ไฟฟ้ากว่า 3,931 เมกะวัตต์เเละส่งให้ไทยในเดือน ก.พ.ปี 2562 เนื่องจากไทยมีการนำเข้ากระเเสไฟฟ้าจากลาว โดยรวมทั้งหมดไม่มากประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ไทยยังมีสัดส่วนการสำรองไฟฟ้าสูงจากอีกหลายประเทศ เเต่หากสถานการณ์จะน่าห่วงคงเป็นหลังปี 2567 เนื่องจากช่วงนั้นมีหลายประเทศมีเเผนสร้างโรงงานไฟฟ้าน้อยมาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: