สนข.แจงยังไม่ได้ข้อสรุปญี่ปุ่นร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2404 ครั้ง

สนข.แจงยังไม่ได้ข้อสรุปญี่ปุ่นร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจงฝ่ายไทยยังยืนยันที่ต้องการให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย ที่มาภาพประกอบ: foolish adler (CC BY 2.0)

เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่านายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อบ้างแขนง โดยนำเสนอข่าว ว่าประเทศญี่ปุ่นจะไม่เข้าร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ในส่วนของงานก่อสร้างและงานวางระบบ รวมถึงงานจัดซื้อตัวรถและซ่อมบำรุง เนื่องจากกังวลว่าจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนด้านงานบริหารและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมลงทุนควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านความรู้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง เพื่อผลิตบุคลากรรองรับในอนาคต

ทั้งนี้จะขอชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวประกอบด้วยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (MOC) เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยได้เริ่มทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2558 แล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2560

ล่าสุดกระทรวงคมนาคมและ MLIT อยู่ระหว่างการหารือเรื่องรูปแบบการลงทุนโครงการร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีรายละเอียดหลายประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างและงานวางระบบ รวมถึงงานจัดซื้อตัวรถและการซ่อมบำรุง โดย คค. และ MLIT ได้มีการหารือร่วมกันครั้งล่าสุดในคราวประชุมระดับรัฐมนตรีด้านคมนาคม เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 โดยฝ่ายไทยยังยืนยันว่าฝ่ายญี่ปุ่นควรร่วมพิจารณาลงทุนกับฝ่ายไทย (Joint Investment) เนื่องจากผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สรุปว่าต้องมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่รอบสถานี (TOD) ร่วมด้วย จึงจะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่น ดังนั้นการตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้รัฐบาลไทยจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตามในการหารือล่าสุดฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาใช้รูปแบบการดำเนินงานในลักษณะเดียวกับการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา (Texas High-Speed Railway Project) เมื่อปี 2558 ที่ลงทุนผ่าน Japan Oversea Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN) โดยมอบหมายให้คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่าย (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมกันศึกษาและหารือในรายละเอียดดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมลงทุนในโครงการนี้โดยเร็วต่อไป

“ขณะนี้เรื่องการเจราจารวมถึงรูปแบบรายละเอียดต่างๆ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ถือว่ายังไม่ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน ซึ่งเราอยู่ระหว่างการทำร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งด้านเทคนิคและรูปแบบการลงทุน โดยจะแบ่งเป็นการประชุมกลุ่มย่อยด้านเทคนิค และการประชุมสรุประดับรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามฝ่ายไทยยังยืนยันที่ต้องการให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนด้วย เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารงานในเส้นทางรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงที่ให้บริการในขณะนี้ นอกจากที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความชำนาญเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว เราก็มีภาระด้านการลงทุนอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะระบบราง นอกจากนี้ยังมีในส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบข้างตลอดเส้นทางและพื้นที่ในส่วนของสถานี งานบริหารและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) สำหรับผลการศึกษา JICA ระบุว่าหากเป็นการลงทุนด้านการเดินรถอย่างเดียวจะไม่คุ้มค่าในการลงทุน แต่หากรวมการบริหารพื้นที่ตลอดเส้นทางและสถานีพบว่าจะมีความคุ้มค่าด้านการลงทุน ซึ่งในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 ไทยได้ยืนยันกับทางญี่ปุ่นว่าต้องการได้รับความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้ตอบปฏิเสธ นอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นก็ยินดีที่จะมอบอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษให้กับไทยด้วย” นายสราวุธ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: