ชาวบ้านเพชบุรียังค้านโรงไฟฟ้าขยะแม้เดินหน้าก่อสร้างแล้ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 5283 ครั้ง

ชาวบ้านเพชบุรียังค้านโรงไฟฟ้าขยะแม้เดินหน้าก่อสร้างแล้ว

ชาวเพชรบุรี รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่รวม 600 คน ร่วมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินโครงการและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ในโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าของ บ.WPP ผู้บริหารยันศึกษาผลกระทบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมแล้วก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. พร้อมสร้างให้เป็นโรงงานต้นแบบของประเทศ ด้านชาวบ้านระบุไม่ต้องการให้เกิดโรงงานแปรรูปขยะนี้ ที่มาภาพประกอบ: แฟนเพจโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า เพชรบุรี

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2560 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงความคืบหน้า และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินโครงการและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ตามประมวลหลักการปฏิบัติ (COP) โครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าของบริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด (WPP) ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย 7.9 เมกะวัตต์ ที่ ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรี

โดยมี น.ส.รมย์ชลี จันทร์ประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายสุทธิชัย คำรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม บริษัทดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด พร้อมด้วย นายอาทิตยา สุทธิไชยา นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และนายพงศ์ภัทร ศรีขจร กรรมการบริหารและผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอ็น ไวเวิร์ค จำกัด ร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการ และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความคืบหน้าการก่อสร้าง โดยมีประชาชน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 600 คน

น.ส.รมย์ชลี ชี้แจงว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้เป็นการทำเพิ่มเติมตามระเบียบใหม่ หลังจากที่ได้จัดรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไปเมื่อปี 2558 และได้รายงานศึกษาผลกระทบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้วก่อนที่จะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าอย่างถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว และได้ว่าจ้างบริษัท ฮิตาชิ โซเซ็น (Hitachi Zosen) ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะอันดับแรก ๆ ของโลกโดยจะสร้างโรงงานที่เพชรบุรี ให้เป็นโรงงานต้นแบบของประเทศ พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งอุปกรณ์ทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะทยอยเข้ามาถึงประเทศไทยในสิ้นปีนี้และจะสามารถติดตั้งและจำหน่ายไฟฟ้าได้ภายในปี 2561

สำหรับโรงงานนี้ได้สร้างขึ้นบนพื้นที่บ่อขยะเดิม ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทันสมัยที่สุด พร้อมศูนย์เรียนรู้สำหรับในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

ด้าน สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่ากำนัน ต.ท่าแลง พร้อมผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต่างก็ยืนยันว่าชาวบ้านในพื้นที่ทุกหมู่บ้านส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการให้เกิดโรงงานแปรรูปขยะนี้ เพราะที่ผ่านมาได้สร้างความเดือดร้อน รำคาญให้กับชาวบ้าน ขยะที่มีอยู่เดิมและมีการนำมาทิ้งทุกวันนี้ประมาณสี่แสนตันก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ มีเพียงการนำมากองสุมกันทุก ๆ วัน เป็นที่ทิ้งขยะของเอกชนซึ่งไม่มีใครทราบว่าได้รับอนุญาตให้มีการนำขยะมาทิ้งหรือไม่ ทิ้งกันมา 7-8 ปีแล้วร้องเรียนไปทุกระดับก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข ส่วนผญ.บ.หมู่ 6 ต.ท่าแลงกล่าวว่า ชาวบ้านคัดค้านมาตลอดบ่อขยะดังกล่าวก็ทิ้งกันมาโดยไม่มีระบบคัดแยกฝนตกน้ำเสียก็ชะล้างขยะลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ที่ตั้งอยู่บนเชิงเขามีลำห้วยและแม่น้ำอยู่ใกล้เคียง ชาวบ้านแถบนี้ใช้น้ำประปาจากระบบบาดาลผิวดิน ซึมเปื้อนจนได้รับผลกระทบ ร้องเรียนไปก็ไม่มีการเหลียวแลจากภาครัฐผ่านมาแล้วหลายผู้ว่าฯ หลายนายอำเภอก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ของ ITALIAN-THAI DEVELOPMENT หนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ ได้รายงานเมื่อ 25 มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมาว่านายประทีป กีรติเลขา รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ในงานวางศิลาฤกษ์อาคารโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานของ บริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด (WPP) ณ สถานที่ก่อสร้าง หมู่ 7 ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยมีอ.ฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ กองราชพิธี สำนักพระราชวัง เป็นผู้ประกอบพิธี นายสนิท ขาวสอาด ผว.ราชการ จ.เพชรบุรี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ น.ส.รมย์ชลี จันทร์ประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด ให้การต้อนรับ

จังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัด ติด 1 ใน 5 ของประเทศไทยที่มีขยะสะสมตกค้างมากถึง 1.2 ล้านตัน และมีขยะเกิดขึ้นใหม่ วันละ 521 ตัน แต่ด้วยยังขาดงบประมาณและสถานที่ที่เหมาะสม ในการกำจัดขยะ อย่างครบวงจร จึงส่งผลให้จำเป็นต้องขนส่งขยะบางส่วนออกไปกำจัดที่ จ.กาญจนบุรี ดังนั้น WPP เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้เช่าพื้นที่ขยะแห่งนี้ จาก ดร.ปรีดา หวานใจ เจ้าของที่ดินเอกชนเป็นระยะเวลา 30 ปี และจัดตั้ง บ.ดับเบิลยูพี กรีนเอ็นเนอจี จำกัด (WPGE) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อดำเนินโครงการให้ สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการขยะของจ.เพชรบุรี โดยการกำจัดขยะเก่าในบ่อแห่งนี้ที่เปิดดำเนินการมากว่า 10 ปี มีขยะสะสมกว่า 3 แสนตัน และจะขุดขยะเก่าขึ้นมาผสมขยะใหม่ ที่เข้ามาทุกวันและนำไปผลิตไฟฟ้าขนาด 7.5 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้ลงนามสัญญาบริหารจัดการขยะ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการ บริหารจัดการขยะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 32 แห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บมจ.อิตาเลียนไทย จะเป็นผู้ดำเนินการและผู้ร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะสร้างโรงงานแปรรูปขยะ เป็นพลังงาน แล้วเสร็จและสามารถเริ่มดำเนินการได้ ภายในต้นปี พ.ศ. 2561

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: