บอร์ด สปสช. ทบทวนปรับเงื่อนไขล้างไตช่องท้อง-ฟอกไต

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3311 ครั้ง

บอร์ด สปสช. ทบทวนปรับเงื่อนไขล้างไตช่องท้อง-ฟอกไต

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ “ข้อเสนอทบทวนบริหารจัดการบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง” เน้นลดจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังรายใหม่ ชะลอผู้ป่วยรับบริการบำบัดทดแทนไต พร้อมประสานสมาคมโรคไต ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ทบทวนกระบวนการปรับเงื่อนไข (shift mode) ในการบำบัดล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ที่มาภาพ: medicaldevices.oie.go.th

28 ก.ย. 2560 นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560 ได้เห็นชอบข้อเสนอ “การทบทวนการบริหารจัดการบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตามข้อเสนอของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” นำเสนอโดยคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต มี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ผู้แทนแพทยสภา) เป็นประธาน โดยสาระสำคัญของข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและการควบคุมเพื่อชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต

นพ.ชูชัย กล่าวว่า จากการทบทวนข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มลดลง ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่จำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลง ทำให้การเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้ายในกลุ่มเด็ก วัยกลางคน และผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำเป็นที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขฯ จึงได้มีข้อเสนอเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องเข้าระบบการรักษาทดแทนไต (RRT) ให้น้อยลงในอนาคต โดยต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของการชะลอการเสื่อมไตระยะต่าง ๆ ด้วยการคัดกรอง ส่งเสริมการพัฒนาคลินิกชะลอไตเสื่อมตามแผน การจัดบริการของกระทรวงสาธารณสุข (Service Plan) การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และการหนุนการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อการบริโภคอาหารที่ไม่อันตรายต่อไต

นอกจากนี้จากการทบทวนการบริหารจัดการบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ด้วยข้อถกเถียงการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องและการฟอกไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียม พบว่าแม้การบำบัดทดแทนไตทั้ง 2 วิธีจะมีค่าใช้จ่ายทางตรงที่ไม่แตกต่างกัน แต่การฟอกไตด้วยเครื่องผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมสูงกว่า เพราะต้องเดินทางมารับบริการยังหน่วยบริการที่บางครั้งอยู่ห่างไกล และยังต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลมากกว่า ซึ่งการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมจะใช้พยาบาลดูแลผู้ป่วยในอัตรา 1:8 คน ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้องพยาบาลจะดูแลผู้ป่วยในอัตรา 1:50 คน แต่ทั้งนี้การที่ผู้ป่วยจะรับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีใดนั้น ยังขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ รวมถึงความเหมาะสมในการรับบริการของตัวผู้ป่วยเอง

นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบำบัดทดแทนไตนั้น เพื่อหลักเกณฑ์การปรับเปลี่ยนวิธีบำบัดทดแทนไตมีความชัดเจนยิ่งขึ้น บอร์ด สปสช.ยังได้เห็นชอบตามข้อเสนอของอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขฯ ประสานไปยังราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมพิจารณาทบทวนกระบวนการปรับเงื่อนไข (shift mode) ในการบำบัดล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม

พร้อมกันนี้บอร์ด สปสช.ยังได้มอบคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขในการกำกับคุณภาพและมาตรฐานการบริการร่วมกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ทำการศึกษาการบำบัดทดแทนไตทั้ง 2 วิธีเพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนในการรองรับเพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทั้งด้านผลลัพธ์ทางคลินิก (Clinical Outcome), ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (Cost Utility Analysis) และการนำไปใช้ในด้านนโยบายและการจัดการบริหารภายในประเทศ (Budget Impact & Policy Advocacy) นอกจากนี้ยังให้ดำเนินการร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารคลังและจัดการระบบขนส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: