เผยเอกชนไทยผลิตไฟฟ้าใช้เองแล้ว 2.4 พันเมกะวัตต์

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 61754 ครั้ง

เผยเอกชนไทยผลิตไฟฟ้าใช้เองแล้ว 2.4 พันเมกะวัตต์

กกพ.เผยเอกชนผลิตไฟฟ้าใช้ไฟฟ้าเองแล้ว 2.4 พันเมกะวัตต์ เช่น เอสซีจี ขอผลิตโซลาฟาร์ม ลดต้นทุน ส่งผลพีกย้ายเวลาจากกลางวันเป็นกลางคืน ย้ำค่าไฟฟ้าชาวบ้านเก็บค่าไฟอัตราเดียวทุกช่วงเวลา ไม่ได้เก็บกลางคืนแพงกว่ากลางวัน ที่มาภาพ: Energy News Center

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2560 ว่านายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า จากการขอความร่วมมือทั้ง 3 การไฟฟ้า และภาคเอกชนในรายช่วยรายงาน กำลังผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply :IPS)พบว่า ปริมาณล่าสุดมีกว่า 2,400 เมกะวัตต์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการลงทุนเพื่อลดค่าไฟฟ้าในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะ การลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งติดตั้งภาคพื้นดิน (Solar Farm ) และ ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop ) เช่น เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ก็มาแจ้งให้ทราบว่า จะติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม 75 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตเองใช้เองเพราะต้นทุนแผงโซลาร์ที่ถูกลงทำให้ผลิตไฟฟ้าคุ้มทุน

“แนวโน้ม IPS เพิ่มขึ้น ซึ่งปริมาณที่สูงถึง 2,400 เมกะวัตต์ เพราะ มีหลายโรงงานเช่น โรงงานแป้งมัน โรงงานชูรส โรงงานน้ำตาล ผลิตเองก่อนที่ จะมี กฏหมาย กกพ. อย่างไรก็ตาม ตามกฏหมายไม่ได้บังคับให้รายงาน เราก็ต้องขอร้องขอความร่วมมือให้รายงาน เพราะเมื่อลงทุนผลิตไฟฟ้าเองมากขึ้น จะมีผลต่อการวางแผนระบบไฟฟ้า ที่จะทำอย่างไร ให้มั่นคงเพียงพอ และไม่กระทบต่อผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้อง”นายวีระพลกล่าว

นายวีระพล กล่าวด้วยว่า ระบบ IPS และพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ยังมีผลต่อการ ระบบไฟฟ้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีก กำลังปรับเปลี่ยนจากช่วงกลางวันเป็นกลางคืน มีผลต่อการจัดทำแผนไฟฟ้าที่ยุ่งยากขึ้น เพราะเกี่ยวข้องกับแนวโน้มความต้องการไฟฟ้าที่พยากรณ์ได้ลำบาก และวางแผนผลิตไฟฟ้ายุ่งยากขึ้น ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือ IPS เพื่อทำให้แผนผลิตให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากที่สุด โดยผลที่เกิดขึ้น จะนำไปรวมอยู่ในแผนโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงและมีการประกาศใช้ในต้นปี 2561

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ในส่วนภาคประชาชน ค่าไฟฟ้ายังเป็นระบบเป็นอัตราคงที่ต่อหน่วย (Flat Rate)ที่มีลักษณะอัตราก้าวหน้า (progressive rate) คือ ค่าไฟฟ้า กลางวันและกลางคืนยังเป็นอัตราเดียวกัน ไม่มีการจ่ายค่าไฟฟ้ากลางคืนแพงกว่ากลางวัน แต่อย่างใด แต่ในส่วนผู้ประกอบการ หรือ ผู้ที่ใช้อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเวลาจากปัจจุบัน ช่วงพีก(peak ;09.00 – 22.00 น. วันจันทร์ – ศุกร์) และออฟพีก (off-peak 22.00 – 9.00 น. วันจันทร์ – ศุกร์ รวมถึง ช่วงเวลาทั้งวันของวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการทั้งวัน) ใหม่ จากกลางวันเป็นกลางคืน ส่วนค่าไฟฟ้ากลางคืนอาจจะแพงกว่าหรือไม่ เรื่องนี้ อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: