กระทรวงดีอีหนุนเอกชนตั้ง 'บริษัทพัฒนาเมือง'

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2508 ครั้ง

กระทรวงดีอีหนุนเอกชนตั้ง 'บริษัทพัฒนาเมือง'

หน่วยงานในกระทรวงดีอี สนับสนุนตั้งภาคเอกชนบริษัทพัฒนาเมือง โมเดลใหม่ขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ หลังมี 'บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง' พบเอกชนเชียงใหม่และภูเก็ตเตรียมเดินรอยตาม ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอีให้การสนับสนุนการพัฒนาและวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง การจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต้องอาศัยพลังประชารัฐ หรือการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนที่เป็นคนในพื้นที่ แนวคิดหลักของสมาร์ทซิตี้ คือ การกระจายอำนาจและสร้างความสามารถในการบริหารจัดการเมืองของแต่ละท้องถิ่น การสร้างอำนาจให้กับประชาชน และชุมชนในการร่วมกำหนดทิศทาง รวมถึงการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลในการบริหารจัดการเมือง เช่น การมีระบบแจ้งเหตุร้ายหรือความเสียหายของเมืองจากประชาชนผ่านระบบแอปพลิเคชั่น

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ความท้าทายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเมือง การบริหาร การจัดทำงบประมาณ รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ในภาพรวมและที่สำคัญ คือ หัวใจหลักของการเรียนรู้และพัฒนาทั้งคน สังคม เมือง ต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) เดิม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการภูเก็ตสามาร์ทซิตี้ ทำให้พบปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น

นายพิเชฐ กล่าวว่า การพัฒนาสมาร์ทซิตี้แบบยั่งยืน ต้องแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณให้มีความต่อเนื่อง การขาดผู้ดำเนินงานในระยะยาว หากต้องการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วย หากมีรูปแบบธุรกิจที่ดี จึงเชื่อว่าภาคเอกชนจำนวนมากต้องการเข้ามาดำเนินการตรงนี้ ดังนั้นภาครัฐเองจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง แต่ให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมดำเนินงาน จุดนี้เองเป็นข้อต่อที่สำคัญในการเชื่อมประสานการลงทุนและเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมือง หรือการรวมตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ของตนเองไปข้างหน้าและไม่ได้หวังพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียว โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากนักธุรกิจขอนแก่นที่ได้รวมตัวกันจดทะเบียนในชื่อว่า บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) ที่มีแนวคิดต้องการพัฒนาขอนแก่นให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศไทยในเรื่องของรายได้ระดับปานกลางและการรอคอยการพึ่งพาจากผู้อื่น โดยไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตนเอง

ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองของขอนแก่น ก็เป็นที่มาให้จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ตพัฒนาตามการจัดตั้ง “บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง (พีเคซีดี)” เกิดขึ้นครั้งแรกจากการรวมตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น 25 คน ลงทุนจดทะเบียนเปิดบริษัทในทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยการบริหารในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้งคอมพานี ซึ่งประกอบด้วยหน่วยธุรกิจ (Business Unit) 12 หน่วยธุรกิจ และมีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา โครงการ Phuket Smart City ด้วย ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้ศึกษาหลายมิติ เช่น มิติเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนด้านดิจิทัล โดยมิติเหล่านี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการเป็นที่ปรึกษา การถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยี การส่งเสริมการลงทุนร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ทดลองนำร่องโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ และเมื่อมีการผนวกการทำงานร่วมกัน จะทำให้กลไกในการทำงานง่ายขึ้นเพราะเป็นการขยายผลต่อ โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ถือเป็นการประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีกงล้อสำคัญที่เข้ามาดัน คือ บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมืองคาดว่าการดำเนินการจะได้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายน โดยการเปิดตัวแอปพลิเคชันที่จะทำให้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางได้สะดวกมากขึ้น โดยจะมีการลงทุนเรื่องรถขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวคำนวณเวลาการเดินทางและรู้ว่าควรเดินทางเช่นไรได้ และการพัฒนาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการลงทุน นอกจากนี้ ในช่วงระยะ 3 ปีขึ้นไป จะมีการศึกษาพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน อาทิ การพัฒนาความปลอดภัยเมือง การดูแลสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชน พลังงานลม และคลื่นในทะเล

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ความต้องการของเมืองนั้นมีไม่สิ้นสุดและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่การลงทุนเพียง 1 ปีแล้วเลิกไป แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ จะนำงบประมาณจากที่ไหนมาลงทุน ดังนั้นงบประมาณจากภาคเอกชนจึงเป็นคำตอบที่จะทำให้กงล้อทั้งหมดหมุน ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนจำนวนมากต้องการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพะจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ซึ่งมีความพร้อมหลายด้าน แต่ติดปัญหาด้วยวิธีปฏิบัติ การหาเจ้าภาพจากหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจน การมีบริษัทพัฒนาเมืองจะเป็นตัวกลางในการจัดการเรื่องการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะทำให้ง่ายขึ้น โดยภายในงานวันที่ 26มกราคมนี้ เชื่อว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจขึ้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานมีทั้งผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี นักลงทุน สถานทูต หากโมเดลการพัฒนาเมืองมีการพัฒนาในระยะที่สองจะมีการเปิดให้นักธุรกิจเข้ามาเพิ่มทุนและขยับไปถึงการเข้ามาของประชาชนในพื้นที่ ตลอดไปถึงความสำเร็จสูงสุด คือ การระดมทุนจากทั่วประเทศผ่านการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นยั่งยืนต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: