เร่งระบายน้ำเหนือ แต่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างน้ำทะเลยังหนุนสูงถึง 27 ต.ค.

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2341 ครั้ง

เร่งระบายน้ำเหนือ แต่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างน้ำทะเลยังหนุนสูงถึง 27 ต.ค.

กรมชลประทานเร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเลเร็วที่สุด ขณะที่ระดับน้ำที่นครสวรรค์ลดลงต่อเนื่อง แต่ระยะนี้แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างยังคงได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงจนถึงวันที่ 27 ต.ค. 2560 ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านบริเวณสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช้าวันที่ 25 ต.ค. 2560 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,019 ลบ.ม./วินาที ส่วนระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยายังทรงตัวจากวันที่ 24 ต.ค. 2560 ยังคงปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,697 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะคงอัตรานี้ไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ พร้อมบริหารจัดการน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยการแบ่งรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกันประมาณ 767 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับรับน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,361 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่เขื่อนภูมิพลยังคงปิดการระบาย ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ทรงตัว ส่วนบริเวณตั้งแต่ จ.สิงห์บุรี จนถึง จ.อ่างทอง เพิ่มขึ้น 11 – 12 เซนติเมตร และบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 เซนติเมตร บ้านบางหลวงโดด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 4 เซนติเมตร และ อ.บางบาล เพิ่มขึ้น 2 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาอัตรา 2,702 ลบ.ม./วินาที (ปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับได้ 3,500 ลบ.ม./วินาที) ซึ่งระยะนี้แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างยังคงได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงจนถึงวันที่ 27 ต.ค. 2560

นายสมเกียรติ กล่าวว่ากรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ 7 ลำ และเรือหลวงมารวิชัย 1 ลำ จากกองทัพเรือ นำมาติดตั้งในบริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลงให้ออกสู่ทะเลเร็วขึ้น หลังจากรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือมาแล้ว 55 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนบริเวณ จ.สมุทรสาคร พร้อมกับเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานอีก 53 เครื่อง ติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนบริเวณจ.นครปฐม เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ กรมชลประทานยังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 14 เครื่อง บริเวณคลองระพีพัฒน์ ไซฟ่อนพระธรรมราชา ไซฟ่อนพระอินทราชา คลองเปรมประชากร ประตูระบายน้ำคอกกระบือ ประตูระบายน้ำบางน้ำจืด และบริเวณท้ายท่อระบายน้ำบึงฝรั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้นเช่นกัน

ส่วนทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเต็มความจุเกือบทุกทุ่งแล้ว คงเหลือทุ่งโพธิ์พระยา ที่ยังรับน้ำได้อีกประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งเจ้าเจ็ดบางยี่หน ยังรับน้ำได้อีกประมาณ 127 ล้าน ลบ.ม. ส่วนทุ่งพระยาบรรลือและทุ่งรังสิตใต้ เป็นทุ่งที่ใช้เป็นทางผ่านลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนให้ระบายออกสู่ทะเล เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง ไม่สามารถเอาน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ได้ ปัจจุบัน (25 ต.ค. 2560) มีปริมาณน้ำในทุ่งรวมกันประมาณ 1,361.50 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ ลดลงต่ำกว่าระดับน้ำในทุ่งจะทำการระบายน้ำออกจากทุ่งระยะต่อไป โดยจะคงเหลือปริมาณน้ำไว้ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรเตรียมแปลงทำนารอบที่ 2 ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: