เมื่อรัฐขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ทำไม ‘ไทยเบฟ’ ไม่กระเทือน

ทีมข่าว TCIJ : 22 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 20340 ครั้ง

รัฐบาลประกาศใช้ พรบ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยใช้ฐานการคิดคำนวณภาษีจากปริมาณแรงแอลกอฮอล์  แม้ภาครัฐจะยืนยันว่าอัตราภาษีใหม่ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญกับบรรดาผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่นี้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 2560 ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่มีรายได้ไตรมาสแรก 8 หมื่นล้านบาท

ภาษีสรรพสามิตใหม่และผลกระทบด้านราคา

จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 (เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560) ที่ได้เปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีจากเดิมใช้ฐาน ‘ราคาหน้าโรงงานอุตสาหกรรม’ และ ‘ราคานำเข้า’ มาเป็น ‘ราคาขายปลีกแนะนำ’ แทน ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยให้ความสำคัญกับการคำนวณภาษีจากปริมาณแรงแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ โดยราคาเบียร์จะเพิ่มขึ้น 0.50-2.66 บาท ,เบียร์ราคาแพงเสียภาษีลดลง 0.99-2.05 บาท, สุราขาว เพิ่มขึ้น 0.84-3.49 บาทตามขนาดและดีกรี, สุรากลั่นในประเทศเพิ่มขึ้น 8-30 บาท, สุรากลั่นนำเข้าลดลง 3-26 บาท, ไวน์ในประเทศ ลดลง 25 บาท และไวน์นำเข้าเพิ่มขึ้น 110 บาท (แต่บางชนิดลดลง)

แม้เบื้องต้น ภาครัฐจะยืนยันว่าอัตราภาษีใหม่จะไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญกับบรรดาผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่นี้ก็ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 2560 ปรับตัวสูงขึ้น 0.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 และสูงขึ้น 0.58% เมื่อเทียบเดือน ส.ค. 2560 โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศระบุว่า ผลจากปรับตัวสูงขึ้นของราคาบุหรี่และสุราตามการปรับโครงสร้างภาษีใหม่นั้น ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คิดเป็นสัดส่วนคือ บุหรี่ส่งผล 0.028% เบียร์ 0.001 และเหล้า 0.0004% [1]

จับตา ‘ไทยเบฟ’ มหาอำนาจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หวังก้าวสู่ตลาดเอเชี

‘เหล้าขาว’ ขวัญใจคอสุราตลาดล่างของไทย กำลังจะถูก ‘ไทยเบฟ’ เข็นไปสู้ ‘สาเก’ และ ‘โซจู’ ในตลาดระดับภูมิภาคเอเชีย ที่มาภาพ: Food Group (CC BY-SA 2.0)

เมื่อพูดถึงประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านเราเมื่อไร ชื่อของ ‘บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘ไทยเบฟ’ ก็มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้ง ทั้งนี้ เพราะว่าไทยเบฟเป็นบริษัทที่เกือบจะผูกขาดในอุตสาหกรรมสุราของบ้านเรา ทั้งนี้โครงสร้างภาษีใหม่น่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการขายของผู้ผลิตสุราภายในประเทศไม่มากนัก แม้ว่าสุราจะมีภาระภาษีส่วนเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น แต่ตลาดสุราในประเทศไทยมีผู้ผลิตน้อยราย โดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดคือไทยเบฟ มีส่วนแบ่งตลาดสุราถึง 90%  ส่วนตลาดเบียร์ไทยเบฟมีส่วนแบ่งเกือบ 40%

ข้อมูลที่ไทยเบฟแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ระบุว่าในไตรมาสที่ 2 ตามปีบัญชี (ต.ค.2559-มี.ค.2560) มียอดขาย 97,176 ล้านบาท กำไร 14,322 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งปีแรกมียอดขายสุราอยู่ที่ 296 ล้านลิตร เบียร์ 449 ล้านลิตร และโซดา 23 ล้านลิตร เมื่อจำแนกธุรกิจเป็นรายเซ็กเมนท์ พบว่ากลุ่มสุรามียอดขายไตรมาส 2 ที่ 28,898 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 5,542 ล้านบาท ยอดขายเบียร์ไตรมาส 2 อยู่ที่ 15,522 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 923 ล้านบาท [2] ส่วนข้อมูลจากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือน ต.ค. 2560 ระบุว่า ณ ไตรมาส 3 (30 มิ.ย.) กลุ่มสุราสร้างรายได้จากการขายให้ไทยเบฟแล้ว 8 หมื่นล้านบาท และมีกำไรกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2559 ในด้านสัดส่วนการขายของกลุ่มไทยเบฟที่มียอดขายรวม 139,153 ล้านบาทนั้น ได้มาจากการขายสุรา 76,534 ล้านบาท (คิดเป็น 55%) จากการขายเบียร์ 44,529 ล้านบาท (คิดเป็น 32%) ส่วนรายได้ที่เหลืออีก 13% เป็นการขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร

ทั้งนี้ ไทยเบฟมีทิศทางการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ 2563 (Vision 2020) ซึ่งผู้บริหารของไทยเบฟได้ออกมาเปิดเผยเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2560 ว่าหลังจากผ่านครึ่งทางวิสัยทัศน์ 2563 ภาพรวมการเติบโตทางธุรกิจยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในแง่ของมูลค่าธุรกิจตามราคาตลาด (Market cap) ของบริษัทล่าสุดอยู่ที่ 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเบอร์ 2 ของผู้นำตลาดเครื่องดื่มแบบครบวงจรในเอเชีย เป็นรองแค่เพียง ‘อาซาฮี’ (Asahi) ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีมาร์เก็ตแคป 1.7 หมื่นล้านหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2560-2561(ปีบัญชี ต.ค. 2560-ก.ย. 2561) บริษัทเตรียมงบลงทุนปกติไว้ 7,400 ล้านบาท เพื่อยกระดับอุปกรณ์ เครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยงบลงทุนปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2559-2560 ที่ใช้ประมาณ 5,200 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นจะนำไปขยายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดสุราขาวใหม่ ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์สุราขาวแบรนด์ 'รวงข้าว' ที่อยู่ในตลาดไทยมายาวนาน มาปรับสู่ 'รวงข้าวซิลเวอร์' (Ruang Khao silver) เพื่อบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดสุราขาวมีขนาดใหญ่มาก มีการบริโภคโดยทั่วไปและการเจริญเติบโตสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งนี้การทำตลาดสุราขาวรวงข้าวซิลเวอร์ จะควบคู่กับการทำตลาดสก๊อตช์วิสกี้แบรนด์ 'Old Pulteney' เจาะตลาดพรีเมียม โดยจะเริ่มที่ประเทศเวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ ก่อน ที่ผ่านมาไทยเบฟได้ตั้งบริษัทลูกอย่าง IBHL Vietnam เพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวียดนาม และคาดว่าจะนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้ต้นปี 2561 จากนั้นจะเจาะตลาดเอเชียเหนือ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ปลายปี 2561 และเป้าหมายในปี 2563 บริษัทต้องปักธงสร้างฐานผลิตโรงงานสุราขาวรวงข้าวซิลเวอร์ในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม พม่า ให้ได้ [3]

ส่วนการขึ้นราคาสินค้าหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่นั้น แหล่งข่าวจากไทยเบฟเปิดเผยว่า บริษัทได้แจ้งไปยังเอเย่นต์ทั่วประเทศว่าตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 2560 เป็นต้นไป บริษัทจะปรับราคาสินค้ากลุ่มสุราใหม่ เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างและอัตราภาษีใหม่ซึ่งจะทำให้สินค้าส่วนใหญ่มีราคาเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 12-282 บาทต่อลัง (12 ขวด) อาทิ สุราขาว 35 ดีกรี 625 มล. เพิ่มขึ้น 24 บาท ต่อลัง (12 ขวด) สุราขาว 40 ดีกรี 625 มล. เพิ่มขึ้น 24 บาท ต่อลัง (12 ขวด) สุรามังกรทอง 375 มล. เพิ่มขึ้น 282 บาท ต่อโหล (12 ขวด) แสงโสมเหรียญทอง 700 มล. เพิ่มขึ้น 50 บาท ต่อโหล (12 ขวด) หงส์ทอง 700 มล. เพิ่มขึ้น 72 บาท ต่อโหล (12 ขวด) เบลนด์ 285 1 ลิตร เพิ่มขึ้น 102 บาท ต่อโหล (12 ขวด) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้าบางรายการที่ไม่ปรับขึ้น โดยยังคงราคาเดิมเอาไว้ เช่น สุราขาวบางยี่ขัน 40 ดีกรี 640 มล. บรั่นดีเมอริเดียน 38 ดีกรี 350 มล. และ 700 มล. [4]

ภาษีสรรพสามิตใหม่ส่งผลกระทบต่อตลาด ‘เบียร์-ไวน์’ มากกว่า ‘สุรา’

ที่มาภาพประกอบ: healthline.com 

จากการประเมินของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ระบุว่าภาษีสรรพสามิตใหม่ของไทยน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเบียร์ในประเทศมากกว่าผู้ผลิตสุรา เนื่องจากตลาดเบียร์มีการแข่งขันที่สูงกว่าและความต้องการซื้อของผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาค่อนข้างสูง ผู้ผลิตเบียร์ในประเทศจะได้รับแรงกดดันจากภาระภาษีที่สูงขึ้นจากโครงสร้างภาษีใหม่ เนื่องจากความสามารถในการส่งต่อต้นทุนภาษีที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคและรักษาระดับอัตรากำไรไว้นั้น ขึ้นอยู่กับมูลค่าภาษีที่เพิ่มขึ้นและกำลังซื้อของผู้บริโภคว่าจะสามารถรองรับระดับราคาที่ปรับขึ้นได้มากน้อยเพียงใด นอกจากระดับราคาแล้ว อุปสงค์ของเบียร์ยังมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจและเทศกาลรื่นเริงในประเทศ ทั้งนี้ปริมาณการซื้อขายเบียร์ของไทยมีความผันผวนค่อนข้างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา – ลดลง 9% ในปี 2552  จากการชุมนุมทางการเมืองและการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ลดลง 14% ในปี 2554 จากเหตุการณ์น้ำท่วม ลดลง 5% ในปี 2556 หลังจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ฟิทช์ยังมองว่าโครงสร้างภาษีใหม่น่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการขายของผู้ผลิตสุราภายใน ประเทศไม่มากนัก แม้ว่าสุราจะมีภาระภาษีส่วนเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น แต่ตลาดสุราในประเทศไทยมีผู้ผลิตน้อยราย การแข่งขันในตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัดประกอบกับความยืดหยุ่นต่อราคาที่ค่อนข้างต่ำของอุปสงค์สุราที่ผลิตในประเทศ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของผู้ผลิตสุราในประเทศในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ผู้ผลิตที่มีการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายในแง่ของระดับแอลกอฮอล์หรือระดับราคาสามารถเสนอตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคในการปรับเปลี่ยนการบริโภคสุราให้ตรงกับกำลังซื้อในแต่ละช่วงเวลา และเมื่อพิจารณาจากปริมาณการขายสุราของผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ พบว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตหลายครั้ง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมประมาณ 2% ต่อปี ในช่วงปี 2549-2559 ทั้งนี้ ในขณะที่รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) จากการจำหน่ายสุราในรอบ 10 ปีดังกล่าว มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมที่สูงกว่าอยู่ที่ 6% ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับขึ้นราคาโดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการขาย [5] 

ส่วนการคำนวณของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบหลังการปรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มใหม่กับก่อนการปรับนั้น พบว่า ‘ไวน์’ มีการเปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกมากที่สุดในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกใหม่ประมาณ 21.1% ของราคาขายปลีกเดิม [6]

 

ที่มาข้อมูล

คอเหล้า สะดุ้ง! “ไทยเบฟ” ขยับราคา (ประชาชาติธุรกิจ, 5/10/2560)
"ไทยเบฟ" เดินหน้าขยายธุรกิจ “สุรา-อาหาร” ผงาดเวทีภูมิภาค (คมชัดลึก, 6/10/2560)
นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือน ต.ค. 2560
ผู้ประกอบการเครื่องดื่มไทย...ปรับตัวระมัดระวัง ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมหลากหลายและภาษีสรรพสามิตใหม่ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 22/9/2560)
ฟิทช์มองโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเบียร์มากกว่าสุรา (efinanceThai.com, 25/9/2560)
ยอดขายเบียร์-สุราลดฉุดกำไรไทยเบฟ (กรุงเทพธุรกิจ, 18/5/2560)
ราคาน้ำมัน-เหล้า-บุหรี่ ดันเงินเฟ้อ ก.ย. ขยับ 0.86% (กรุงเทพธุรกิจ, 3/10/2560)


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
 

จับตา: ค่าใช้จ่ายครัวเรือนจากการดื่ม ‘แอลกอฮอล์’
ส่องบรรษัท: ‘คาราบาวกรุ๊ป’ ในวันที่ส่ง ‘ตะวันแดง’ ตีตลาดเหล้าขาว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: