คิดให้รอบคอบก่อนเดินหน้า ‘อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี’ หวั่นควบคุมสารเคมีอันตรายไม่ได้

พัชณีย์ คำหนัก 22 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 11770 ครั้ง

คิดให้รอบคอบก่อนเดินหน้า ‘อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี’ หวั่นควบคุมสารเคมีอันตรายไม่ได้

ตั้งคำถามดัง ๆ ต่อทุกฝ่าย หากเดินหน้าอุตสาหกรรมแบตเตอรรี ว่าจะสามารถควบคุมการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายนี้ให้อยู่กรอบมาตรฐาน การใช้แรงงานเพื่อทำงานที่อันตรายมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีและสุขภาพในการทำงานกับการป้องกันเพียงใด? เจ้าหน้าที่รัฐตรวจโรงงานอย่างทั่วถึงหรือไม่? และแรงงานได้ประโยชน์อะไรจากการลงทุนนี้? ที่มาภาพประกอบ: metaefficient.com

เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ 5 บริษัทลงทุนกว่าแสนล้านในภาคตะวันออก ผลิตแบตเตอรี่ [1] ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและลงทุนมหาศาล สอดคล้องกับแผนลงทุนของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ โตโยต้า นิสสัน และค่ายรถยนต์จากยุโรป ที่กำลังปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง อีวี ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด ตามเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล  รวมถึงสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมใหญ่ที่สุดในโลก [2] แต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนงานได้

ในการผลิตแบตเตอรรีนั้นมีประเด็นที่สำคัญคือต้องระวังสารเคมีที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ตะกั่ว ดีบุก กรดซัลฟูริกกรณีตัวอย่างจากการทำงานในโรงงานผลิตแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย (ไม่สามารถเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบผลกระทบและการร้องเรียนในขั้นต่อไป) โดยกลุ่มคนงานโรงงานแห่งนี้ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดเพื่อค้นหาความผิดปกติ มีอาการปวดศีรษะ มึนงง ปวดข้อ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ปวดบิดอย่างรุนแรงในท้องเป็นพัก ๆ ท้องเสีย  สิ่งที่พบเบื้องต้น คือ

  1. คนงานจำนวน 22 คน ส่วนใหญ่มีภาวะโลหิตจาง
  2. คนงานจำนวน 21 คน มีสารตะกั่วเกินค่าอ้างอิง
  3. คนงานจำนวน 18 คน มีสารตะกั่วสูงเกิน 60 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
  4. คนงาน 8 คน มีสารตะกั่วสูงเกิน 100 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
  5. คนงานรายที่มีระดับตะกั่วสูงสุด มีค่า 90 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
  6. คนงานที่มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดต่ำสุด มีค่า 95 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (เป็นคนงานไทย ทำงานไลน์ฉาบ ไลน์ตัด อายุงาน 3 เดือน)

บุญยืน สุขใหม่ ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าพนักงานทั้งหมดของโรงงานนี้แบ่งเป็นแรงงานไทย 50 คน แรงงานพม่า 550 คน ลาว 50 คน และจีน 50 คน  รวมทั้งสิ้น 700 คน

ทั้งนี้คนทั่วไปสามารถทำความเข้าใจกับระดับค่าสารตะกั่วได้เบื้องต้น จากข้อมูลจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมดังตารางแสดงระดับตะกั่วในเลือด ไมโครกรัม/เดซิลิตร (µg/dl) [3] กับการส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้

 

ระดับตะกั่วในเลือด (µg/dl)

ผลกระทบต่อร่างกาย

5

Transplacental transfer (การถ่ายโอนเชื้อสู่รก)

10

Developmental toxicity (พัฒนาเป็นพิษในเด็ก)

20

Erythrocyte protoporphyrin

โมเลกุลเม็ดเลือดแดงเพิ่ม

50

Porphyrin enzyme ลด และ metabolites เพิ่ม

60-100

Symptomatic เช่น Colic, anemia, neuropathy

(เช่น ปวดบิดในทารก โลหิตจาง และโรคเส้นประสาท)

100

Encephalopathy (ความผิดปกติทางสมอง)

150

Death (เสียชีวิต)

 

ประเทศไทยมีข้อกำหนด/มาตรฐานการใช้ตะกั่ว โดยระดับตะกั่วในเลือดของคนทั่วไปไม่ควรเกิน 30µg/dl  และค่าที่ยอมให้มีไว้ชั่วคราวในคนทำงานสัมผัสกับสารตะกั่ว ไม่ควรเกิน 60 µg/dl  อีกทั้ง มีค่าควบคุมของตะกั่วในน้ำ ให้ควบคุมไม่เกิน 0.2 mg/l [4] แต่โรงงานอาจมีการปล่อยน้ำที่ค่าตะกั่วเกินการควบคุมออกสู่ระบบลำธารธรรมชาติที่มีความเข้มข้นกว่า 2.6 mg/l ได้ และบางครั้งน้ำในบ่อบำบัดอาจมีค่าตะกั่วสูงกว่า 10 mg/l  และสามารถล้นออกจากบ่อพักในระหว่างที่ฝนตก และฝุ่นตะกั่วที่เกิดจากการผลิตและหลอมตะกั่วสามารถฟุ้งกระจายในอากาศ [5] มีความเข้มข้นมากถึง 1.5 แสน ppm. (หนึ่งส่วนในล้านส่วน) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงานได้ ดังภาพประกอบด้านล่างนี้

 

ภาพประกอบที่ 1 ฝุ่นตะกั่วจำนวนมากตกบนพื้น

 

ภาพประกอบที่ 2 กวาดฝุ่นตะกั่วใส่ถุง

 คำถามคือ ทำอย่างไรที่จะควบคุมการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายนี้ให้อยู่กรอบมาตรฐาน การใช้แรงงานข้ามชาติเพื่อทำงานที่อันตรายมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีและสุขภาพในการทำงานกับการป้องกันเพียงใด เจ้าหน้าที่รัฐตรวจโรงงานอย่างทั่วถึงหรือไม่ และแรงงานได้ประโยชน์อะไรจากการลงทุนนี้

หากไทยจะเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ทันสมัยมากขึ้น ควรมีการกลั่นกรองและตรวจโรงงานอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมสภาพการทำงานที่ปลอดภัย บังคับให้นายทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างจนเกินมาตรฐานและมีมาตรการกำจัดสารตกค้างที่ไม่ส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและคนในชุมชน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: