First they killed my father: มองสงครามผ่านสายตาของเด็กๆ

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์: 21 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 8798 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

First they killed my father อำนวยการสร้างโดยแองเจลินา โจลี่ ดาราฮอลลีวู้ดที่มีสายสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชามาเนิ่นนาน เพื่อที่จะบอกเล่าความโหดร้ายของสงครามและการเสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งของประชาชนในยุคที่เขมรแดงเรืองอำนาจ แม้ว่าจะมีทั้งหนังสือและภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้มาแล้วจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่เราๆ ก็รู้ตอนจบของเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ First they killed my father ก็ยังคงควรค่ากับการรับชมอีกครั้ง

เริ่มเรื่องจากชีวิตที่ปกติสุขและค่อนข้างที่จะสุขสบายของครอบครัว Ung พ่อของ Loung ตัวเอกของเรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่แม่เป็นแม่บ้าน มีพี่น้องร่วมท้องอีก 6 คน ในวันหนึ่งเมื่อรัฐบาลของนายพลลอน นอลหมดอำนาจและเขมรแดงขึ้นมาปกครองประเทศพร้อมกับคำสั่งให้คนในเมืองต่างๆอพยพออกไปยังชนบทเพื่อทำการเกษตร ทำให้ครอบครัวของ Loung ต้องเก็บข้าวของย้ายออกจากเมือง รวมถึงปกปิดสถานะของพ่อที่เคยเป็นข้าราชการในรัฐบาลเก่าเพื่อไม่ให้ถูกกวาดล้างทางการเมือง (ขณะนั้นเขมรแดงกวาดล้างข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ อาจารย์ ปัญญาชน และพ่อค้า เชิดชูเกษตรกรในฐานะผู้เลี้ยงดูประเทศชาติ) ชีวิตที่ต้องเริ่มต้นใหม่ภายใต้ยุคเขมรแดงเป็นไปอย่างลำบาก คนเมืองต้องเปลี่ยนมาเป็นเกษตรกรที่ต้องทำทุกอย่างด้วยสองมือโดยไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องทุ่นเเรงใดๆช่วย ไม่ว่าจะเป็นการไถนา ตัดไม้ ทำบ้านอยู่เอง ขุดคลอง ฯลฯ เรียกว่าเป็นการสลายชนชั้นและอยู่รวมกันเป็น "คอมมูน" ตามที่ผู้นำเขมรแดงวางนโยบายเอาไว้เพื่อทำให้ประเทศกัมพูชาพัฒนาขึ้น

เรื่องดำเนินไปเรื่อยๆตามเหตุการณ์ที่เราคาดเดาได้ หลังจากนั้นไม่นานพ่อของ Loung ถูกนำไปฆ่าเมื่อมีคนรู้ว่าเคยเป็นข้าราชการมาก่อน แม่ของ Loung ตัดสินใจให้ลูกๆที่ยังเหลืออยู่สามคน หลังจากที่พี่ทั้งสามถูกเรียกตัวให้ไปช่วยในแนวหน้า แยกย้ายกันออกเดินทางไปอยู่ยังคนละหมู่บ้าน พร้อมให้เปลี่ยนชื่อใหม่ บอกว่าตัวเองเป็นเด็กกำพร้า เพื่อที่จะได้ไม่มีใครสงสัยและตามสืบได้ว่าทั้งหมดเคยเป็นลูกข้าราชการของรัฐบาลก่อน เด็กๆแยกย้ายกันไปตามทาง Loung กับพี่สาวอีกคนหนึ่งได้ไปอยู่ในหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายที่เคยอดอยากได้กินอาหารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เวลานี้เองที่ Loung ถูกจับแยกกับพี่สาวเพื่อไปฝึกเป็นทหารเด็กๆให้กับเขมรแดงและเพื่อต่อสู้กับทหารเวียดนาม หลังจากนั้น Loung กลับไปยังหมู่บ้านเดิมเพื่อเยี่ยมแม่กับน้องคนสุดท้อง ก่อนจะได้รู้ว่าแม่ถูกทหารจับไปไม่นานหลังจากนั้น และเธอไม่เคยได้ยินข่าวคราวของแม่กับน้องอีกเลย

อาจจะเรียกได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงอย่างมีความสุข สุดท้ายพี่น้องทั้งห้าได้กลับมาพบกันที่ชายแดนรอยต่อระหว่างเวียดนามและกัมพูชา Loung และพี่ชายอีกคนมีโอกาสเดินทางลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา ตั้งต้นชีวิตใหม่ ก่อนที่จะกลับมาหาพี่น้องที่ยังคงติดค้างอยู่ที่กัมพูชาอีกครั้ง ปัจจุบัน Loung เป็นนักเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนและเดินสายบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเองเผชิญ เรื่องราวของครอบครัวนี้อาจนับว่าเป็นความโชคดีในระดับหนึ่งเมื่อคิดถึงความจริงที่ว่า หลายครอบครัวไม่มีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดแม้แต่คนเดียว และอีกหลายครอบครัวที่คนที่เหลือรอดไม่ได้มีโอกาสครั้งที่สองที่จะเริ่มต้นใหม่ที่สดใสนัก

ผู้เขียนค่อนข้างชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะการเล่าเรื่องผ่านสายตาของเด็ก เด็กมักจะมีมุมมองต่อโลกและเหตุการณ์รอบตัวที่แตกต่างออกไปจากผู้ใหญ่เสมอ รายละเอียดเล็กๆน้อยที่ถูกบอกเล่า ทำให้สะเทือนใจเกี่ยวกับความโหดร้ายและความไร้มนุษยธรรม ตอนที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ Loung อายุแค่ 5 ขวบ เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกาตอนอายุประมาณ 10 ขวบ เมื่อเทียบช่วงวัยแบบนี้และคิดไปถึงชีวิตของตัวเอง Loung ผ่านอะไรมาหนักหนาสาหัสเลยทีเดียว

สาเหตุที่ผู้เขียนชอบหลายๆอย่างในรายละเอียด อาจเป็นเพราะแองเจลินา เป็นผู้หญิง และ Loung คนแต่งเรื่องนี้ก็เป็นผู้หญิง ทำให้หลายๆ ฉากเราได้เห็นความรู้สึกของผู้หญิงที่อัดแน่นอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นตอนที่พี่สาวของ Loung ขอเอาชุดเดรสตัวสวยที่สุดที่เอาไว้ใส่ในงานปีใหม่ติดกระเป๋ามาด้วยตอนย้ายออกจากเมือง ตอนที่รองเท้าแตะสีเหลืองคู่สวยของน้องคนเล็กถูกกระชากออกจากเท้า เพราะทหารเขมรแดงเห็นว่ามันเป็นเครื่องหมายของพวกทุนนิยม ตอนที่แม่ของ Loung ลูบใบหน้าของตัวเองแล้วคิดไปถึงตอนที่แต่งหน้าอยู่หน้ากระจก หรือแม้แต่ตอนที่ Loung อิดออดไม่ยอมลงจากรถและเกวียน เพราะไม่เคยชินกับความลำบาก สงครามไม่เพียงแต่ดึงเอาความเป็นมนุษย์ของทุกคนออกไป แม้แต่สิ่งที่จรรโลงใจ สิ่งที่จะปลอบประโลมใจก็ยังถูกทึ้งออกไปอย่างไม่ปรานี

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของสงคราม บางทีอาจไม่ใช่การเข่นฆ่าชีวิตของคนอื่่น แต่เป็นการทำลายความฝัน ความสุข และความหวังก็เป็นได้ และเพราะเหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงได้เห็นว่าพ่อของ Loung เตรียมรูปถ่ายของครอบครัวและเเกะสลักแผ่นไม้ไผ่เขียนคำว่า "พ่อแม่รักลูก" ไว้ให้กับลูกๆเอาไว้ได้ติดตัวกันทุกคน และรูปถ่ายเหล่านี้เองที่เป็นเสมือนสิ่งยึดเหนี่ยวและความทรงจำสุดท้ายที่ทุกคนมีร่วมกัน

เด็กที่แสดงเป็น Loung ได้รับคำวิจารณ์ทางลบจำนวนหนึ่ง ถึงสีหน้าเรียบเฉยเเข็งทื่อไม่เเสดงอารมณ์ตลอดทั้งเรื่อง ผู้เขียนดูไปแล้วก็รู้สึกบ้างในบางครั้ง แต่พอมาคิดอีกที ก็ไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจของผู้กำกับรึเปล่าที่จะให้ทำสีหน้าแบบนี้ตลอดเรื่อง Loung ในวัย 5 ขวบ ณ ตอนนั้น เมื่อเห็นความโหดร้ายของสงคราม จะคิดอย่างไรกับเหตุการณ์เหล่านั้น ในโลกที่ไร้เดียงสาของเด็กๆ เด็กจะเข้าใจมั้ยว่าการกระทำอะไรคือความโหดร้ายหรือไม่โหดร้ายกันแน่? ทั้งเรื่อง ผู้เขียนจึงเห็น Loung ทำกิจกรรมทุกอย่างไปเรื่อยๆแบบไร้อารมณ์ เห็นศพคนตายลอยอยู่ในน้ำที่ตัวเองต้องตักไปที่หมู่บ้าน ก็แค่ไปหาผ้าปิดจมูกแล้วก็ใช้ไม้เขี่ยศพออกไปซะ เจ้าหน้าที่ในหมู่บ้านให้ไปฝึกเป็นทหาร ทำระเบิด ทำกับดัก ก็ไปทำ เรียกได้ว่า ทำไปเรื่อยๆ ขอแค่ไม่หิวข้าว ไม่ตาย เท่านี้ก็พอแล้ว อีกฉากหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าบทพูดดี คือตอนที่ Loung และครอบครัวไปขออาศัยกับบ้านลุงที่เป็นเกษตรกรอยู่ในชนบท ตอนแรก Loung ไม่ยอมเดินเข้าบ้าน ก่อนจะกระซิบกับพ่อว่า "พวกเขาจนจังค่ะ" พ่อของเธอยิ้ม ก่อนจะบอกกับลูกว่า "ตอนนี้เราจนกว่าเขาอีกนะลูก"

โลกของผู้ใหญ่นั้นพังทลายไปแล้ว แต่โลกใบนั้นยังคงสมบูรณ์ดีอยู่ในความรู้สึกของเด็กๆ

เอาเข้าจริงแล้ว ผู้เขียนยังสงสัยว่าความรู้สึกและความทรงจำร่วมของเรา- คนไทย มีอยู่มากแค่ไหนกับขุคเขมรแดงและความตายของชาวกัมพูชาจำนวนมาก เหตุการณ์นี้หากจะนับในไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์โลกก็นับว่าสดใหม่มากเหมือนแผลที่เพิ่งเกิด แต่พอเวลาพูดถึงยุคเขมรแดง ผู้เขียนกลับรู้สึกเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่ห่างไกลมากกว่าสงครามโลกครั้งที่สองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวซะอีก เอาเข้าจริงแล้ว ยังมีที่ทางให้กับการศึกษาเกี่ยวกับความทรงจำร่วมและผลกระทบของยุคเขมรแดงทั้งต่อไทยและกัมพูชาอยู่อีกมากเลยก็ว่าได้

First they killed my father จึงนับเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคงนำเสนอให้คนที่สนใจไปหามาดู มันควรค่าและคุ้มค่าพอสมควรกับการนั่งดูในเวลาสองชั่วโมง อาจจะติดอยู่นิดนึงกับการเดินเรื่องแบบเนิบช้า ไม่ได้มีจุดพลิกผันหักเหอะไรที่น่าตื่นเต้น อีกอย่างที่ดีคือ ภาพสวยมาก มีทั้งเล่นแสดง มุมสูง และวิวสวยๆของชนบท (ที่ไหนไม่รู้) ให้ได้เห็น

 

แด่ โลกที่ไม่ไร้เดียงสา

 

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: The Culture Trip

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: