ฝรั่งเศส 1936 : มิถุนาแดงเดือด (France 1936: Red Hot June)

พัชณีย์ คำหนัก นักกิจกรรมแรงงาน 21 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6540 ครั้ง


การปฏิวัติฝรั่งเศสได้เริ่มขึ้นแล้ว”
ลีออน ทร็อตสกี กล่าวเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 1936

เหตุการณ์เริ่มต้น เมื่อคนงานออกมานั่งประท้วง (sit-in) ปกป้องสมาชิกต่อสู้ 2 คนที่ถูกเลิกจ้าง เพียง 1 สัปดาห์ได้แปรเปลี่ยนเป็นคลื่นยึดโรงงานของคนงานนับหมื่นและทำให้รัฐทุนนิยมเต็มไปด้วยสถานการณ์วุ่นวายโกลาหล

เบื้องหลังของเหตุการณ์มิถุนายน 1936 คือการถดถอยของเศรษฐกิจโลกและอิทธิพลของอุดมการณ์ฟาสซิสต์ ในระหว่างปี 1931 และ 1935 เศรษฐกิจเป็นอัมพาต คนงานเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง ว่างงานเป็นจำนวนมาก โรงงานปิดตัวและค่าจ้างตกต่ำ ความถดถอยอยู่ในสภาพที่สั่นคลอนระบบการเมืองและเกิดเรื่องอื้อฉาวในรัฐบาล

ในปี 1934 กลุ่มหัวรุนแรงเหยียดเชื้อชาติ (ฟาสซิสต์) ได้รับอิทธิพลจากชัยชนะของฮิตเลอร์เมื่อปีก่อน พวกเขาเชื่อว่ามันถึงเวลาของพวกเขาแล้ว จึงเข้าโจมตีตึกรัฐสภาในปารีส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คนบาดเจ็บนับพัน รัฐบาลถูกกดดันให้ลาออก และแทนที่ด้วยแนวร่วมฝ่ายขวาเพื่อความสามัคคีแห่งชาติ

กลุ่มฟาสซิสต์กำลังเลียนแบบตัวอย่างการขึ้นสู่อำนาจของอดอร์ฟ ฮิตเลอร์ แต่พวกเขาก็คาดการณ์ว่าจะมีการต่อต้านจากชนชั้นแรงงาน ซึ่งก็เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ของแรงงานอย่างเห็นได้ชัด 

สมาพันธ์แรงงานฝรั่งเศส (Confédération générale du travail, CGT) เรียกร้องให้สมาชิกนัดหยุดงานทั่วไปในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1934 และพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (Socialist Party, SFIO) ก็เรียกร้องให้สมาชิกเดินขบวนในปารีสในวันเดียวกันด้วย เริ่มแรกนั้นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส (French Communist Party, PCF) วิพากษ์วิจารณ์การเรียกร้องนี้ในหนังสือพิมพ์ L'Humanité ว่า เราจะสร้างเอกภาพกับประชาชนที่ละทิ้งการต่อสู้ทางชนชั้น แล้วหันไปร่วมมือกันปกป้องระบบทุนได้อย่างไร รวมถึงคนที่กำลังปูฐานคิดอุดมการณ์ฟาสซิสต์ในเยอรมันและฝรั่งเศสด้วย”

คืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1934 ช่างภาพวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ว่า ไม่สามารถยืนยันแนวคิดของตัวเองที่ไม่เห็นด้วยกับการออกมาเดินขบวนของสมาพันธ์แรงงานและพรรคสังคมนิยม กับสมาชิกพรรคที่กำลังเรียกร้องให้ทำแนวร่วมกับ CGT และ SFIO

ในนาทีสุดท้าย พรรคคอมมิวนิสต์ตัดสินใจที่จะสนับสนุนการเดินขบวนดังกล่าว คนงานและสมาชิกทั้งสองพรรคจำนวน 5 ล้านคนร่วมนัดหยุดงานและเดินขบวนในใจกลางกรุงปารีส ขบวนแบ่งออกเป็น 2 แถว คือแถวของพรรคคอมมิวนิสต์ และอีกแถวที่ใหญ่กว่าคือ พรรคสังคมนิยม นำโดย นายลีออง บลูม (Leon Blum)

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องความสมานฉันท์สามัคคี ขบวนสองแถวเคียงข้างกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีและยังมีการเดินขบวนอีก 300 แห่งตามเมืองเล็กเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ที่ไม่ยอมให้ฝ่ายขวาขึ้นสู่อำนาจ

การเดินขบวนในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปูทางไปสู่การสร้างขบวนการ “แนวหน้าประชาชน” (Popular Front) ชัยชนะของฮิตเลอร์สร้างแรงกดดันให้แก่สตาลินและผู้นำรัสเซียคนอื่นๆ สตาลินจึงแสวงหาแนวร่วมทางทหารกับรัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษ ด้วยนโยบายการต่างประเทศใหม่ผสมกับแรงกดดันให้มีการสร้างความสามัคคีของสมาชิกระดับล่าง บีบพรรคคอมมิวนิสต์ให้ทิ้งนโยบายเดิมที่ไม่ร่วมมือกับพรรคแนวสังคมประชาธิปไตย

ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างขบวนการแนวหน้าประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์ได้สับเปลี่ยนนโยบายจากลัทธินิกายนิยม (เล่นพรรคเล่นพวก) ที่เลวร้ายเป็นลัทธิรักชาติแบบไร้ยางอาย กล่าวคือ แม้เริ่มแรกพรรคจะต่อต้านการสร้างแนวร่วมกับพรรคสังคมนิยมและสมาพันธ์แรงงานฝรั่งเศส แต่ก็ได้ถกเถียงเพื่อขอขยายข้อตกลง รวมเอาพรรครัดดิคัลส์ (Radicals) เข้ามาเป็นแนวร่วมด้วย โดยใช้ทฤษฎี “การสร้างแนวร่วมด้านกว้าง” คือ การทำงานร่วมกับชนชั้นแรงงานของพรรคสังคมนิยมและสมาพันธ์แรงงาน กับ ชนชั้นกลางของพรรค Radicals โดยพรรคคอมมิวนิสต์ยืนกรานว่า แนวร่วมด้านกว้างนี้จะช่วยต่อต้านการเติบโตของขบวนการฟาสซิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ริเริ่มการทำแนวร่วมด้านกว้าง แต่ขบวนการแนวหน้าประชาชนนำไปใช้อย่างรวดเร็วและประยุกต์กับทุกที่ที่แนวสตาลินมีอิทธิพล ดังเหตุการณ์ที่ตามมาในสเปน (ซึ่งมีขบวนการแนวหน้าประชาชนเช่นกัน-ผู้แปล) ขบวนการลักษณะนี้ีเหมาะกับคนงานที่ไม่ติดอาวุธมากกว่า ดังที่ Duncan Hallas อธิบายแนวคิดมาร์คซิสต์ของทร็อตสกีไว้ว่า

ด้วยมาตรการส่งเสริมทางการทูตของสตาลิน คอมมิวนิสต์สากลถูกโน้มนำไปทางฝ่ายขวา มติที่ประชุมสมาชิกปี 1935 (สตาลินสร้างคอมมิวนิสต์สากลเป็นเครื่องมือทางการเมือง-ผู้แปล) ได้เรียกร้องจัดตั้งขบวนการแนวหน้าประชาชน (United People’s Front) ในการต่อสู้เพื่อสันติภาพและต่อต้านสงคราม และในปัจจุบันรัฐชาติอื่นก็เริ่มกังวลเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ในการสร้างแนวร่วมด้านกว้างของชนชั้นแรงงานทั้งประเทศเพื่อสู้กับภยันตรายจากสงครามจักรวรรดินิยม (แนวคิดชาตินิยม/ทุนนิยมเป็นกระแสหลักในบริบทการทำสงครามโลก-ผู้แปล)

ความต้องการสันติภาพของรัฐทุนนิยมในยุโรปนี้ คือชัยชนะแห่งปี 1918 เป็นชัยชนะของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและอังกฤษนั่นเอง เป็นมาตรการใหม่ (new line) ของสตาลิน (แต่ในความเป็นจริง-ผู้แปล) แนวหน้าที่ว่านั้นถูกใช้เพื่อปกป้องสถานะเดิมของประเทศจักรวรรดินิยม วาทโวหารของนักปฏิรูปถูกใช้ปกปิดความจริงนี้ และก็ประสบความสำเร็จในฝรั่งเศสช่วงหนึ่ง

เมื่อเดือนกรกฎาคม 1935 พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับพรรค Radicals ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของประชาธิปไตยทุนนิยม ทั้ง 3 พรรคการเมืองได้จัดตั้งขบวนการแนวหน้าประชาชน เป็นพันธมิตรการเลือกตั้ง เพื่อนำฝ่ายซ้ายเข้าสู่รัฐสภา

แต่เมื่อคำนวณผลประโยชน์ในการเลือกตั้งแล้ว แนวหน้าประชาชนพึ่งพาคะแนนโหวตของพรรค Radicals และพยายามไม่ทำให้ชนชั้นกลางเสียประโยชน์เพื่อรักษาคะแนนโหวต แนวชาตินิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ถูกตัดออกจากแผนงานของขบวนการแนวหน้าประชาชน

ประโยชน์ของการมีแนวร่วมประชาชนฝรั่งเศสนี้ คือ ความอดทนต่อความต้องการของคนงานที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน กระแสการต่อสู้ทางชนชั้นสูงขึ้น การส่งเสริมกิจกรรมของคนงานสถานประกอบการ และก่อให้เกิดเหตุการณ์การต่อสู้ขั้นสูงสุดในเดือนมิถุนายน 1936 ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนงานกับยุทธศาสตร์ของแนวหน้าประชาชน

คำประกาศของขบวนการแนวหน้าประชาชน เรียกร้องให้มีการปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ต่อต้านอุดมการณ์ฟาสซิสต์ สนับสนุนสิทธิแรงงาน โดยลดจำนวนวันทำงาน แต่ไม่ลดค่าจ้าง เรียกร้องการสร้างงานให้แก่คนหนุ่มสาว หลักประกันสังคมรูปแบบใหม่ ที่มีบำนาญและการจ่ายค่าชดเชยการว่างงาน และเรียกร้องสันติภาพโลก สโลแกนเหล่านี้นำไปสู่การเดินขบวนคนจำนวนครึ่งล้านของขบวนการแนวหน้าประชาชนทั่วปารีสในวันบาสตีล

เดือนกุมภาพันธ์ 1936 รัฐบาลในรูปแบบการจัดตั้งขบวนการแนวหน้าประชาชน ก็ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในสเปนเช่นกัน----เป็นปฏิบัติการมวลชนคนงานและชาวนา. ในเดือนนี้มีการเดินขบวนจำนวนครึ่งล้านทั่วกรุงปารีส เพื่อต่อต้านฟาสซิสต์ และในวันแรงงานสากล คนงานวิศวกร 120,000 คน หยุดงาน ประชาชนเห็นว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะเดินหน้า และฝ่ายซ้ายมองในแง่ดีว่าจะได้รับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ความคาดหวังของพวกเขานั้นท่วมท้น เมื่อขบวนการแนวหน้าประชาชนได้รับการเลือกตั้งและผลโหวตสวิงไปทางฝ่ายซ้าย พรรคสังคมนิยมได้ที่นั่ง 142 ที่นั่ง มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) และแนวหน้าประชาชนได้ที่นั่งกว่า 100 ที่นั่ง ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ได้ 72 ที่นั่ง มากกว่าเดิมเท่าตัว รัฐบาลจากแนวหน้าประชาชนชุดแรกนำโดยผู้นำพรรค Radicals คือ Deladier แต่คะแนนเสียงเหวี่ยงไปทางฝ่ายซ้าย ทำให้ผู้นำพรรคสังคมนิยมได้เป็นรัฐบาลใหม่ต่อมา

ผลการเลือกตั้งมาถึงเย็นวันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม ในขณะเดียวกันก็มีการเดินขบวนประกาศชัยชนะทั่วประเทศ เมื่อชัยชนะท่วมท้น ชนชั้นแรงงานฝรั่งเศสก็รู้สึกถึงความฝันที่เป็นไปได้

มันคือชัยชนะของนักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ที่สมานฉันท์ต่อต้านขบวนการฟาสซิสต์เป็นเวลา 2 ปี แต่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ Thorez อ้างว่า ที่ใดที่มีอิทธิพลของสตาลิน ก็จะได้รับชัยชนะ ด้วยภาษาชาตินิยม ว่า 

เราได้ช่วงชิงสิ่งที่ศัตรูได้ขโมยไปจากเราและเหยียบย่ำเราไว้ เราได้ยึดธงชาติ 3 สี แล้ว (Marseillaise and Tricolore)

นายกรัฐมนตรี ลีออง บลูม ไม่สามารถควบคุมรัฐบาลที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในอีก 1 เดือนเนื่องจากเขากำลังรอจังหวะ ชนชั้นต่างๆ จึงขับเคลื่อนด้วยตัวเอง คนรวยตื่นตระหนกและพากันย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง คนงานใจร้อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลง เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากชัยชนะการเลือกตั้งของขบวนการแนวหน้าประชาชนที่สเปน (เมื่อกุมภาพันธ์ 1936-ผู้แปล) คนงานจึงขับเคลื่อนด้วยตัวเอง 

เริ่มจาก การนัดหยุดงาน 2 กลุ่มแยกกันในอุตสาหกรรมการบิน คือ ในวันที่มีการเลือกตั้ง คนงานทั้งสองแห่งต่างเรียกร้องการกลับเข้ามาทำงานของคนงานนักต่อสู้เคลื่อนไหวที่ถูกเลิกจ้างเพราะดำเนินการจัดงานวันกรรมกรสากลในเวลาทำงาน (เกริ่นไว้ในย่อหน้าแรกของบทความแปล)

ลักษณะใหม่ของการพิพาทของสองกรณี : หนึ่ง แม้คนงานจะหยุดงาน ก็ยังอยู่ในโรงงานเพื่อควบคุมและหลีกเลี่ยงการถูกปิดงานโดยนายจ้างในช่วงที่มีการเลิกจ้างจำนวนมาก สอง การยึดโรงงานได้รับการสนับสนุนจากชุมชนใกล้เคียง สาม คนงานทั้งหมดเข้าร่วมนัดหยุดงาน และสี่ พวกเขาได้รับชัยชนะภายในสองสามวัน กรณีนี้ได้กลายเป็นรูปแบบตัวอย่างให้แก่คนงานแห่งอื่น ยกเว้นข้อหนึ่งคือ การต่อสู้ทั้งสองกรณีเป็นการตั้งรับป้องกันและเป็นเรื่องของการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสช่วง 1936 ไม่มีธรรมเนียมการปฏิวัติอย่างที่เกิดขึ้นในอิตาลีปี 1920 คือ ไม่มีขบวนการสภาโรงงาน ไม่มีปัญญาชนอย่างกรัมชี่ หนังสือพิมพ์ของคนงานอย่าง “ระเบียบใหม่” ยิ่งกว่านั้น การปฏิวัติรัสเซียที่เป็นแรงบันดาลใจของชนชั้นแรงงานอิตาลี ถูกละเลยและขาดตอนในฝรั่งเศสในทศวรรษ 1920 พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสมีลักษณะเป็นพรรคข้าราชการคล้ายกับพรรคของสตาลิน

การยึดโรงงานแพร่กระจาย 

ไม่มีอะไรจะยับยั้งคนงานฝรั่งเศสจากการต่อสู้เพื่อสมาชิกที่ถูกเลิกจ้างได้ พวกเขารู้จากประสบการณ์ของตัวเองว่า การนัดหยุดงานสื่อถึงการใช้ความรุนแรงของตำรวจกับคนงาน รวมถึงการถูกข่มขู่ไล่ออกและต้องการกลับมาทำงาน จากมุมมองนี้ การยึดโรงงานก็ดูมีเหตุผล

จุดเริ่มต้นของกระบวนการยึดโรงงานจริงๆ คือการยึดในวันที่ 14 พฤษภาคม โรงงานการบิน Bloch ขนาดใหญ่ ณ ชานเมืองปารีส คนงานเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นและสภาพการทำงานที่ดี บริษัท Bloch ขาดทุนและโรงงานวิศวกรรมแห่งอื่น ทยอยเรียกร้องแบบเดียวกันนี้และเตรียมตัวนัดหยุดงานด้วย จุดนี้ขบวนการแรงงานจึงรุกคืบ

วันที่ 24 พฤษภาคมเป็นวันเดินขบวนรำลึกเหตุการณ์คอมมูนปารีส 1871 เป็นประจำ การชุมนุมของคนงานน่าทึ่งมาก คือ คนงาน 600,000 คนเดินขบวนการในใจกลางกรุงปารีสและตอนนี้เองที่พวกเขารู้สึกถึงอำนาจการต่อรองของตัวเอง

ที่โรงงาน Hotchkiss โรงงานวิศวกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงปารีส คนงานได้จัดทำข้อเรียกร้องตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ คนงานเรียกร้องการมีสหภาพแรงงาน การขึ้นค่าจ้าง การจ่ายค่าพักร้อน ยกเลิกการทำงานล่วงเวลา และการยึดโรงงานต้องไม่ผิดกฎหมาย และจ่ายค่าจ้างในช่วงของการยึดโรงงานด้วย พวกเขาประสบความสำเร็จในการเรียกร้อง

ทันใดนั้นคนงานก็เข้าใจเลยว่า สามารถได้ทุกสิ่งที่พวกเขาได้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งโดยไม่ต้องรอคอยรัฐบาลชุดใหม่ และเมื่อคนงานผลิตรถยนต์เรโนลด์ จำนวน 35,000 คนยึดโรงงานเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมเป็นการส่งสัญญาณให้แก่โรงงานวิศวกรรมแห่งอื่นในปารีสกระทำตาม 

ถัดมาวันที่ 29 พฤษภาคม 1936 หนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ L'Humanité รายงานว่า คนงาน 100,000 คนนัดหยุดงานและส่วนใหญ่ยึดโรงงาน ปฏิบัติการนี้แพร่กระจายไปยังคนงานก่อสร้างในปารีส ที่เขตก่อสร้างศูนย์แสดงนิทรรศการนานาชาติ

วันที่ 1 มิถุนายนการยึดโรงงานแพร่กระจายไปยังโรงงานขนาดเล็กกว่าทั่วกรุงปารีส หลังจากนั้นการนัดหยุดงานแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วยังอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า การขนส่งอาหาร เหมืองถ่านหิน อู่ต่อเรือ การพิมพ์ และเฟอร์นิเจอร์ ปฏิบัติการยึดแพร่กระจายไปยังเมือง Lyon, Lille, Vierzon, Rouen, Brive, Nice, Toulouse และ Marseille

วันที่ 4 มิถุนายน พนักงานส่งหนังสือพิมพ์ พนักงานร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายพลอย เสื้อผ้า ปั๊มน้ำมัน คนงานก่อสร้าง คนงานภาคเกษตร ช่างทำกุญแจ นัดหยุดงานและยึดโรงงาน คนงานที่ยังไม่เคยมีสหภาพแรงงานได้ยึดสถานที่ทำงานของตัวเอง เมื่อการนัดหยุดงานแพร่กระจาย สาธารณชนคนธรรมดาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ประชาชนมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น เมื่อคนขายของในร้านค้าออกมาเรียกร้องค่าจ้าง (ภายใต้รัฐบาลพรรคสังคมนิยม- ผู้แปล) 

ภายใน 14 วัน ขบวนการได้พัฒนาไปสู่การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยเห็น Alexander Werth อธิบายภาพสุดวิเศษของการเมืองปารีสช่วงเดือนมิถุนายน 1936 ว่า ตึกแล้วตึกเล่าแม้แต่โรงงานเล็กๆ โบกสะบัดธงสีแดง และธง 3 สีที่ประตู

วันที่ 4 มิถุนายน ลีออง บลูมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ประธานาธิบดี Lebrun ขอร้องให้เขาออกอากาศร้องขอคนงานที่นัดหยุดงานว่า บอกคนงานว่า รัฐสภากำลังจะเปิดสมัยการประชุม และทันทีที่การประชุมเริ่ม คุณจะต้องขอให้มีกฎระเบียบทางสังคมตามปกติ โดยไม่ล่าช้า......พวกเขาจะเชื่อคุณและบางทีจากนั้นการนัดหยุดงานก็จะยุติลง

วันต่อมา ลีออง บลูม พูดออกอากาศ แต่ขบวนการยึดโรงงานไม่ยุติแต่อย่างใด

ทว่ากลับมีการยึดโรงงานที่แพร่กระจายทั่วฝรั่งเศสและพื้นที่ๆ มีสหภาพแรงงาน ห้างสรรพสินค้าในปารีสถูกยึดและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตั้งแต่สตูดิโอยันพนักงานเดินตั๋วนัดหยุดงาน คนงานหยิบฟิล์มและมาเปิดให้คนงานที่นัดหยุดงานชม Jean Renoir (จีน เรอนัวร์) ได้สร้างหนัง เรื่อง “Le Crime de Monsieur Lange” ที่คนงานปารีสควบคุมสถานที่ทำงานไล่เจ้าของออกและดำเนินกิจการเป็นสหกรณ์ของคนงาน.

ผู้สนับสนุนแนวหน้าประชาชน คนหนึ่งที่เป็นสมาชิกของพรรค Radicals บ่นในที่ประชุมพรรคว่า การยึดโรงงาน ร้านค้าและฟาร์ม ไม่ได้อยู่ในแผนงานของแนวหน้าประชาชน นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เป็นการทำให้นายจ้างเสียเกียรติ การยึดโรงงานจะต้องยกเลิก

การต่อสู้ของคนงานด้วยการนัดหยุดงานจำนวน 2 ล้านคนในสถานประกอบการ 12,000 แห่ง หรือ 3 ใน 4 ถูกคนงานยึด ควบคุม นายจ้างไม่มีทางเลือก เว้นแต่จะเห็นด้วยกับการยกให้คนงาน 

ข้อตกลง Matignon

ในวันที่ 8 มิ.ย.1936 นายกรัฐมนตรีลีออง บลูมได้จัดทำข้อตกลง Matignon ฉบับแรก (Matignon หมายถึงที่พักของผู้นำรัฐบาล-ผู้แปล) ระหว่างรัฐบาล ฝ่ายแรงงานและนายจ้าง นายจ้างยอมรับข้อตกลง ซึ่งข้อตกลงฉบับนี้ได้ประกันการมีสหภาพแรงงาน สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม การเพิ่มค่าจ้างระหว่าง 7%-12% การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การจ่ายค่าจ้างในวันลาหยุดพักร้อน ชั่วโมงทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตราเป็นกฎหมายและประกันสิทธิการนัดหยุดงาน การยึดโรงงานไม่ใช่อาชญากรรม

ขบวนการแรงงานหลีกเลี่ยงการเมืองรัฐสภาและขับเคลื่อนตามคำประกาศของขบวนการแนวหน้าประชาชนจากล่างสู่บน ภายใน 4 วันของการเข้าไปเป็นรัฐบาลของบลูม คนงานได้รับประโยชน์ แต่พวกเขายังต้องการอีก และผู้นำสหภาพแรงงานมีปัญหากับการโน้มน้าวคนงานให้ยุติการยึดโรงงาน

ขณะที่ขบวนการยึดโรงงานกำลังแพร่กระจายเกินกว่าจะเหนี่ยวรั้งไว้ได้ ข้อตกลงดังกล่าวกำลังส่งเสริมคนงานที่ยังไม่มีสหภาพเข้าร่วมการยึดโรงงาน กล่าวคือ คนงานร้านกาแฟออกมาและโรงแรมถูกปิด ในชนบทคนงานภาคเกษตรนับพันๆ คนนัดหยุดงานและยึดฟาร์ม ปฏิบัติการกระจายไปยังทวีปอัฟริกาตอนเหนือ คนว่างงานหลายพันยึดสำนักงานประกันสังคม และรุกเข้าไปในศาลากลางจังหวัด เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันการว่างงานและเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่คนว่างงาน

เหตุการณ์มุ่งไปสู่การปฏิวัติ ในปารีส คนงานนักต่อสู้เคลื่อนไหวในโรงงาน Hotchkiss ตัวแทนของคนงานจากโรงงานที่ถูกยึด 33 แห่ง ร่วมจัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการร่วม.....หน่ออ่อนของสภาแรงงาน ดังนั้นข้อตกลง Matignon ฉบับ 2 จึงจัดทำขึ้นอย่างรีบเร่ง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ผู้นำแรงงานถูกคนงานกดดันให้เจรจาต่อรองขอเพิ่มค่าจ้างที่ถูกปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ในการต่อรองระดับท้องถิ่น สหภาพแรงงานที่ีจัดตั้งมาเป็นอย่างดีในปารีสสัญญากับพวกเขาแล้วว่าจะดำเนินการยึดโรงงานจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง

พรรคคอมมิวนิสต์สนับสนุนการนัดหยุดงานและยึดโรงงานมาจนถึงเหตุการณ์ตอนนี้ จากที่ผ่านมาสมาชิกพรรคระดับพื้นฐานได้ริเริ่มและนำปฏิบัติการเอง แต่พรรคคอมมิวนิสต์มีท่าทีเปลี่ยน เมื่อรัฐบาลเริ่มแข็งกร้าว คือในวันที่ 12 มิถุนายน รัฐบาลยึดหนังสือพิมพ์ของกลุ่มการเมืองสายทร็อตสกี “Lutte Ouvirere” เนื่องจากพยายามเรียกร้องคนงานให้ออกมายึดโรงงาน

พรรคคอมมิวนิสต์ออกคำสั่ง

ในวันนั้น ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ออกแถลงการณ์ Maurice Thorez กล่าวว่า ด้วยพัฒนาของการรณรงค์ของฝ่ายขวา มันจะดีกว่าถ้าไม่ใช้รูปแบบการต่อสู้เช่นนี้; และด้วยพัฒนาการรณรงค์ของฝ่ายปฏิกิริยา มันยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่และไม่แน่นอน......เราจะทำอย่างไรให้การนัดหยุดงานยุติลง

วันที่ 14 มิถุนายน หนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศ “พรรคคอมมิวนิสต์ออกคำสั่ง” จากนั้นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ก็เป็นหัวหอกของการกลับเข้าไปทำงาน เหตุผลของพวกเขาคือ การยึดอำนาจมันเป็นไปไม่ได้ สภาพยังไม่สุกงอมและการดำเนินการยึดโรงงานจะนำไปสู่ความเสี่ยงถูกโดดเดี่ยวจากชาวนาและชนชั้นกลางและจะทำให้แนวหน้าประชาชนเปิดประตูให้พวกนาซี

สตาลินต้องการทำแนวร่วมกับฝรั่งเศส ไม่ใช่การปฏิวัติในฝรั่งเศส ดังนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จึงต้องการยับยั้งการนัดหยุดงานและยึดโรงงานและดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลของแนวหน้าประชาชนกับนโยบายของมอสโก นี่คือยุทธศาสตร์ที่เป็นอันตราย และนำไปสู่ชะตากรรมของฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสและสเปน

การกลับเข้าทํางานครั้งแรกของคนงานกลุ่มใหญ่ ในอุตสาหกรรมวิศวกรรมในปารีส โดยมีการทำข้อตกลงกับนายจ้าง คือ นายจ้างต้องเจรจาประนีประนอมกับคนงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำต่อไป อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการยอมรับจากคนงานระดับล่างและระดับนำในที่สุด โรงงานแล้วโรงงานเล่าเตรียมกลับเข้าทำงาน แม้การนัดหยุดงานและยึดโรงงานที่นานทีจะเกิดขึ้นก็ยุติลง

ขบวนการแนวหน้าประชาชนเฉลิมฉลองวันบาสตีล โดยออกมาเดินขบวนอย่างเข้มแข็งนับล้านคน แต่การต่อสู้ได้ยุติลงแล้ว ความสนุกสนานและความกระตือรือร้นของเดือนมิถุนายนจบลงด้วยการที่ครอบครัวคนงานเดินทางไปพักผ่อนตามชายทะเล ชนบทโดยได้ค่าจ้างในวันลาพักร้อน

แนวหน้าประชาชนก็อยู่ได้ไม่นานนัก หลังคนงานยุติการยึดโรงงาน ในเดือนพฤษภาคม 1937 รัฐบาลฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้ฝ่ายขวาในปี 1938 รัฐบาลขบวนการแนวหน้าประชาชนก็ล้มเหลว ฝ่ายขวากลับคืนสู่อำนาจและยกเลิกผลประโยชน์ของคนงานที่สร้างไว้

ในเดือนพฤศจิกายน 1938 แนวร่วมฝ่ายขวานำโดยพรรค Radicals ยกเลิกชั่วโมงการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่คนงานเรียกร้องได้มาในปี 1936 CGT จึงตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานแต่ไม่มีพลัง ผู้นำไม่เข้มแข็งและการนัดหยุดงานก็เป็นหย่อมๆ จึงยกเลิก คนงานผลิตรถยนต์เรโนลด์ถูกผลักให้ออกไปเดินขบวนนอกโรงงานเผชิญหน้ากับตำรวจที่สนับสนุนฟาสซิสต์ 

แนวทางการเมืองสายกลางและชาตินิยมไม่มีประโยชน์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด ในปี 1939 รัฐสภาลงคะแนนออกกฎหมายให้พรรคคอมมิวนิสต์ผิดกฎหมาย ขับไล่ส.ส.พรรคฯ และ 9 เดือนต่อมา รัฐสภามอบอำนาจเผด็จการแก่จอมพล Petain จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพวกฟาสซิสต์ฝรั่งเศส และร่วมมือกับนาซีเยอรมันดังภาพยนตร์สารคดีฝรั่งเศสเรื่อง Army of Crime (กองทัพอาชญากรรม) ฉายภาพที่ชัดเจนของผลลัพธ์ที่ร้ายแรงตามมา

มหกรรมของผู้ถูกกดขี่

Jacques Danos และ Marcel Gibelin อธิบายเหตุการณ์มิถุนายน 1936 ว่าเป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ของผู้ถูกกดขี่ที่น่าจดจำ ที่ส่งผลสะเทือนต่อสังคมฝรั่งเศสอย่างถึงรากถึงโคน

พวกเขาชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวงที่ขบวนการได้สร้างไว้ และมองว่าน่าจะนำไปสู่การยึดอำนาจรัฐ

ขอบเขตของความก้าวหน้าทางสังคมไม่ควรถูกประเมินต่ำไป เพราะชนชั้นแรงงานฝรั่งเศสในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายังไม่เคยชนะเช่นนี้ การปฏิรูปบางอย่างยังคงอยู่ ไม่มีใครโจมตีได้

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่อยากรู้เลยว่า เหตุการณ์มิถุนายน 1936 เป็นบางอย่างที่มากไปกว่าการต่อสู้ของแรงงานในระดับชาติหรือไม่ และมันอาจจะส่งผลทันทีและยิ่งใหญ่กว่านี้ก็เป็นได้ 

เราไม่ควรลืมว่า เหตุการณ์มิถุนายน 1936 เกิดขึ้นในช่วงที่การต่อสู้ทางชนชั้นระดับโลกกำลังถดถอย การนัดหยุดงานนี้มีพลังเพียงพอที่จะสร้างเงื่อนไขต่อการปฏิวัติ หากคนงานสามารถโค่นล้มรัฐทุนนิยมได้ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่อๆ มาก็จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

ปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ขาดหายไป คือ ไม่มีการจัดตั้งสภาคนงานที่จะเชื่อมโยงการต่อสู้และท้าทายอำนาจรัฐกับทุนรายใหญ่ คนงานน่าจะมั่นใจว่า การเรียกร้องให้จัดตั้งองค์กรจะได้รับการตอบสนองอย่างกระตือรือร้น แต่ก็ไม่มีใครเรียกร้องเลย

หน่ออ่อนขององค์กรสภาแรงงาน ริเริ่มแล้วโดยคนงาน Hotchkiss คือ คณะกรรมการตัวแทนของคนงานท้องถิ่นจาก 33 แห่ง ถ้าการยึดโรงแรมยืดเวลาออกไปได้ การรวมกลุ่มของคนงานที่จะพิจารณาข้อตกลง Matignon คงมั่นใจมากกว่านี้ที่จะผลักดันองค์กรหน่ออ่อน และต่อต้านมาตรการ (แนวร่วมด้านกว้าง-ผู้แปล) ของพรรคคอมมิวนิสต์ ความคิดที่จะสร้างองค์กรสภาคนงาน ก็คงแพร่หลาย

ปัจจัยที่ขาดไปอีกปัจจัยหนึ่ง คือ องค์กรปฏิวัติในขบวนการที่ยิ่งใหญ่ทุกขบวน จากคนงานระดับล่างสู่ความคิดทางการเมือง มีบทบาทสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์ของการต่อสู้ การต่อสู้ปี 1936 เป็นขบวนการที่ยิ่งใหญ่ขบวนการหนึ่ง คนงานหลายพันคนออกแนวต่อสู้ต้องการจะผลักดันการนัดหยุดงานทั่วไปและการยึดโรงงานไปสู่การท้าทายระบบทุนนิยมฝรั่งเศส 

อย่างไรก็ตาม คนงานนักเคลื่อนไหวที่เก่งกาจเหล่านี้ ก็ขาดองค์กรทางการเมืองของตัวเอง ที่จะฝึกฝนการคานอำนาจกับผู้นำแรงงาน และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีลักษณะประนีประนอม หยุมหยิม ชาตินิยม ต้องการยับยั้งพลังการต่อสู้ของคนงานและกลับคืนสู่สภาวะปกติ 

และโชคร้ายที่นักทร็อสกี ผู้ที่เข้าใจสถานการณ์และต้องการตอบโต้การทรยศของขบวนการแนวหน้าประชาชน มีจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะสร้างอิทธิพลต่อคนงานได้.

 

บทความนี้แปลจาก เดฟ เชอรี่ (Dave Sherry). (ก.พ. 2010). Occupy!: A Short History of Workers’ Occupations. ลอนดอน : สำนักพิมพ์ Bookmarks. บทที่ 5 น.47.

หมายเหตุ: ภาพประกอบเลือกโดยผู้แปล
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Médias & espaces de recherche

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: