ส่องบรรษัท: ‘คาราบาวกรุ๊ป’ ในวันที่ส่ง ‘ตะวันแดง’ ตีตลาดเหล้าขาว

ทีมข่าว TCIJ : 20 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 12242 ครั้ง

นอกจากจะส่งเครื่องดื่มชูกำลัง 'คาราบาวแดง' ลุยยุโรปแล้ว ในประเทศ 'ตะวันแดง 1999' บริษัทลูกของกลุ่ม 'คาราบาวกรุ๊ป' ก็ได้ส่ง ‘เหล้าขาวตะวันแดง’ มาท้าทายมหาอำนาจน้ำเมาอย่าง 'ไทยเบฟ' ทั้งนี้ตลาดเหล้าในประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท ที่มาภาพ: nationmultimedia.com

'บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด' จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2544 เพื่อประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง 'คาราบาวแดง' ซึ่งเป็นการเป็นการนำชื่อของ ‘วงคาราบาว’ ที่มีนักร้องเพื่อชีวิตชื่อดังอย่าง ‘ยืนยง โอภากุล’ เป็นสัญลักษณ์ของวงมาผสมผสานกับชื่อของ ‘โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง’ ของ 'เสถียร เศรษฐสิทธิ์' ภายใต้สโลแกน “คาราบาวแดง เชิดชูนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” เมื่อธุรกิจผลิต ทำการตลาดและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้ถือหุ้นได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมให้ครบวงจรจึงได้ตั้ง ‘บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ ขึ้นเมื่อ 8 ก.ค. 2557 และนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2557

ผุด ‘บ.ตะวันแดง 1999’ รุกเหล้าขาวก่อนแตกไลน์ ชน ‘ไทยเบฟ’

ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ และ Brand Inside ที่รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาระบุว่า กลุ่มคารา     บาวกรุ๊ป ได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตสุราใน อ.หันคา จ.ชัยนาท ผ่าน ‘บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด’ เพื่อแตกไลน์ธุรกิจในกลุ่มสุราอย่างครบวงจร โดยในช่วงแรกจะเปิดตัวด้วยสุรากลั่นหรือเหล้าขาวแบรนด์ 'ตะวันแดง' ก่อนที่จะมีแผนเปิดตัวสุราสีในอนาคต โดยบริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด มีกรรมการบริษัทคือ นายร่มธรรม เศรษฐสิทธิ์ บุตรชายของนายเสถียร์ เศรษฐสิทธิ์, นายสุพจน์ ธีระวัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงเบียร์ตะวันแดง และนายชวลิต ตั้งตระกูล อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสวายเอ็น เจแปน เบฟเวอร์เรจ จำกัด โดยบริษัทตะวันแดง 1999 จำกัด ได้ทำการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำนวน 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2553 ได้จดทะเบียนในนามบริษัท โรงเหล้าสยาม 2010 จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จากนั้นในปี 2554 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสวายเอ็น เจแปน เบฟเวอร์เรจ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ก่อนจะเปลี่ยนเป็นบริษัทตะวันแดง 1999 จำกัด ในปี 2559

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้สร้างโรงงานสุราเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท เตรียมเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทในปีหน้า (2561) มีใบอนุญาตผลิตสุรา รองรับกำลังการผลิตเต็มที่ได้ 150,000 ลิตรต่อวัน หรือบรรจุได้กว่า 5 แสนขวด แต่ในปี 2560 นี้ยังเดินหน้าการผลิตที่ 80,000 ลิตรต่อวัน เป้าหมายแรกคือการผลิตเหล้าขาว ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด มียอดขายสูงที่สุดปริมาณการบริโภคสูงสุด (คาดการณ์ว่ามีมูลค่าตลาดประมาณ 80,000 ล้านบาท) และ 'ตะวันแดง' จะเป็นแบรนด์ที่มาชน 'รวงข้าว' ของกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าตลาดในปัจจุบันโดยตรง

ผู้บริหารคาราบาวกรุ๊ป ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การมีธุรกิจจัดจำหน่ายจะช่วยให้สินค้าของบริษัทสามารถเข้าไปหาผู้บริโภคได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งการที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่าย จะเป็นการสร้างความนิยมให้กับสินค้าและสร้างโอกาสในการขาย โดยเฉพาะเมื่อมีการออกสินค้าใหม่การกระจายสินค้าส่วนใหญ่ที่ผ่านระบบเอเย่นต์และซับเอเย่นต์ ที่จะซื้อสินค้าไปขายต่อก็ต่อเมื่อเชื่อว่าสินค้านั้นขายได้ ซึ่งหากไม่สามารถกระจายไปถึงร้านค้าปลีกได้ผู้บริโภคก็จะไม่มีโอกาสเห็นและซื้อสินค้า โดยแบรนด์ตะวันแดงเน้นการเจาะร้านค้าท้องถิ่นโชห่วยในหมู่บ้าน เพื่อเสริมจุดบอดให้สามารถลงลึกไปในระดับรากหญ้าซึ่งบางครั้งเอเย่นต์และซับเอเย่นต์ยังเข้าไปไม่ถึง ทั้งนี้ ปัจจุบันคาราบาวกรุ๊ปได้จัดตั้งศูนย์และหน่วยรถสำหรับกระจายสินค้าของตัวเองขึ้นช่วงปลายปี 2558 บริหารงานภายใต้บริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม จำกัด และได้มีการลงทุนเพื่อขยายจำนวนดีซีและหน่วยรถอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมีจำนวนดีซีทั้งสิ้น 30 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 7 แห่ง ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ 9 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 6 แห่ง พร้อมกับหน่วยรถอีก 337 คัน ที่ครอบคลุมร้านค้ากว่า 320,000 ร้านทั่วประเทศ

อนึ่ง ตลาดเหล้าในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท มีผู้นำตลาดคือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งครองมาร์เก็ตแชร์กว่า 95% มีโรงงานสุราทั้งหมด 18 แห่ง ประกอบไปด้วยแบรนด์เหล้าสี เหล้าขาว และเหล้าผสมสมุนไพร ทั้งหมดประมาณ 25 แบรนด์ อาทิ แม่โขง, แสงโสม, หงส์ทอง, เบลนด์ 285, มังกรทอง, รวงข้าว, ไผ่ทอง, นิยมไทย, บางยี่ขัน, เซี่ยงชุน ฯลฯ เป็นต้น โดยรายได้ของกลุ่มสุราของบไทยเบฟในช่วง 9 เดือนของปี 2559 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 76,649 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 14,548 ล้านบาท ขณะที่รายได้ทั้งปี ในปี 2558 พบว่ากลุ่มสุรามีรายได้ 105,991 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 20,169 ล้านบาท

6 เดือนแรกปี 2560 ‘คาราบาวกรุ๊ป’ ยอดขายทะลุ 6 พันล้าน

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ระบุว่า บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ CBG) ตั้งอยู่ที่ 393 อาคาร 393 สีลม ชั้น 7-10 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กทม.10500 มีคณะกรรมการ คือ 1.นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ / ประธานคณะกรรมการบริหาร 2.นางสาวณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ รองประธานกรรมการ / กรรมการผู้จัดการ 3.นายยืนยง โอภากุล กรรมการ 4.นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร กรรมการ 5.นายร่มธรรม เศรษฐสิทธิ์ กรรมการ 6.นางเสาวนีย์ กมลบุตร กรรมการอิสระ / ประธานกรรมการตรวจสอบ 7.นายคณิต แพทย์สมาน กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ 8.นาย สัญชัย จุลมนต์ กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ และ 9.พลโทศิริพงษ์ วงศ์ขันตี กรรมการอิสระ

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก (ข้อมูล ณ 29 ส.ค. 2560) ได้แก่ 1.บริษัท เสถียรธรรมโฮลดิ้ง จำกัด 250,064,500 หุ้น (25.01%) 2.นางสาวณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ 210,000,000 หุ้น (21.00%) 3.นายยืนยง โอภากุล 70,480,000 หุ้น (7.05%) 4.นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ 48,154,100 หุ้น (4.82%) 5.นายประชา ดำรงค์สุทธิพงศ์ 45,948,700 หุ้น (4.59%) 6.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 32,148,521 หุ้น (3.21%) 7.นางลินจง โอภากุล 26,145,800 หุ้น (2.61%) 8.UBS AG SINGAPORE BRANCH 25,161,400 หุ้น (2.52%) 9.Northend Investment Limited 20,000,000 หุ้น (2.00%) 10.นางวงดาว ถนอมบูรณ์เจริญ 18,152,700 หุ้น (1.82%) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2560 คาราบาวกรุ๊ปมียอดขายสุทธิ (6 เดือน) 6,194.93 ล้านบาท (ปี 2559 ยอดขายทั้งปีอยู่ที่ 9,965.40 ล้านบาท, ปี 2558 อยู่ที่ 7,753.02 ล้านบาท และปี 2557 อยู่ที่ 7,448.43 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 647.37 ล้านบาท (ส่วนกำไรสุทธิปี 2559 อยู่ที่ 1,489.76 ล้านบาท ปี 2558 ที่ 1,255.53 ล้านบาท และปี 2557 ที่ 913.14 ล้านบาท)

‘แอ๊ด คาราบาว’ จากราชาเพลงเพื่อชีวิต สู่มหาเศรษฐีเครื่องดื่มชูกำลัง

ปัจจุบันพบว่า ‘ยืนยง โอภากุล’ หรือ 'แอ๊ด คาราบาว' ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 3 ของคาราบาวกรุ๊ป  ซึ่งมีมูลค่าถึง 6,625 ล้านบาท แต่ถ้านับรวมผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในตระกูล 'โอภากุล' ทั้งหมดก็มีมูลค่าถึง 13,362 ล้านบาท ที่มาภาพ: Forbes Thailand

นอกจากจะเป็นผู้บริหารของคาราบาวกรุ๊ปแล้ว ข้อมูลจาก Forbes Thailand ระบุว่า 'ยืนยง โอภากุล' หรือ 'แอ๊ด คาราบาว' มีความสัมพันธ์อันดีกับนักธุรกิจใหญ่ในประเทศหลายคน เช่น 'ธนินท์ เจียรวนนท์' ผู้จุดประกายงานอดิเรกเลี้ยงไก่ชน และมอบไก่ชนตัวแรกจากฟาร์มไก่ในเวียดนามให้แอ๊ดนำมาเพาะพันธ์ในประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้เขาเป็นนายกสมาคมส่งเสริมอาชีพไก่ชนไทย, จากงานคอนเสิร์ตการกุศลให้ธนาคารกสิกรไทย เพื่อช่วยเหลือมูลนิธิการศึกษาเด็กร่วมกับ Stephen Seagal ทำให้แอ๊ดสนิทกับ 'บัณฑูร ล่ำซำ' หรือแม้แต่คู่แข่งทางธุรกิจในปัจจุบัน แอ๊ดก็เคยเป็นคนแต่งเพลงให้กับเบียร์ช้างในแคมเปญ “กินแล้วภาคภูมิใจ เบียร์คนไทยทำเอง” ทำให้เขาได้รู้จักกับ 'เจริญ สิริวัฒนภักดี'

“การทำธุรกิจเปลี่ยนมุมมองของผมไปมาก จากคนที่ก้าวร้าวรุนแรงไม่ยอมใคร ตอนนี้กลายเป็นยอมก้มหัวยกมือไหว้ขอความช่วยเหลือเขา เช่น ง้อให้เขากลับมาขายของเราหรือแก้ความเข้าใจผิด เมื่อเราทำได้เราเคารพตัวเองและมั่นใจมากขึ้น ถ้าเรายังคงอัตตาความเป็นศิลปินใหญ่ เราคงไม่สามารถทำการค้าหรือธุรกิจได้”

ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว)
ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Forbes Thailand, April 2017

ข้อมูลจาก รายงานข่าวของ moneychannel.co.th เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 พบว่าคาราบาวกรุ๊ป (CBG) มีราคาหุ้นขึ้นไปทำจุดสูงสุดระดับ 95.50 บาท ก่อนจะปิดทำการที่ 94 บาท เพิ่มขึ้น 8.67% ด้วยปริมาณซื้อขายหนาแน่นถึง 1.46 พันล้านบาท และถือเป็นราคาสูงสุดนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนใน SET เมื่อปี 2557 สำหรับประมาณการคาราบาวกรุ๊ป (ณ วันที่ 22 ก.ย. 2560) คาดว่ากำไรไตรมาส 3/60 จะขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 4,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% Q/Q และเพิ่มขึ้น 5% Y/Y เป็นไปตามยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศเพิ่มขึ้น 17% Q/Q รับปัจจัยหนุนทางฤดูกาล นอกจากนั้นยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากน้ำดื่มและกาแฟ รวมถึงยอดขายสินค้าเติบโตสูงของบุคคลที่สาม ผ่านหน่วยรถเงินสด (Cash Van) ขณะที่ยอดขายในแถบ CLMV ยังเติบโตถึง 40% Y/Y ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นจากการสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอล “EFL Cup” (ลีกคัพเก่าแก่ของอังกฤษ) โดยเปลี่ยนชื่อเป็น 'คาราบาวคัพ' ระยะเวลา 3 ปี (ปี 2017 – 2020) ค่าลิขสิทธิ์ปีละ 6 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 260 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังคาดว่ายอดขาย 'คาราบาวแดง' ในอังกฤษปีนี้อยู่ที่ 12 ล้านกระป๋อง จากยอดขาย 8 เดือนแรก 3.6 ล้านกระป๋อง และเพิ่มเป้ายอดขายปี 2561 เป็น 45 ล้านกระป๋อง และปี 2562 ขึ้นเป็น 90 ล้านกระป๋อง เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายในอังกฤษเริ่มวางขายเครื่องดื่มชูกำลังผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ในครึ่งปีหลัง และมีจุดขายมากกว่า 10,000 จุดในอังกฤษ และจะเพิ่มอีกหลายพันจุดหลังจากที่ ASDA และ Co-op กิจการค้าปลีกอันดับ 3 และอันดับ 4 ในอังกฤษ ที่สำคัญคือคาราบาวกรุ๊ป กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับร้านใหญ่อย่าง TESCO และ Sainsbury เพื่อขอวางจำหน่ายสินค้าภายในเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งการที่ CBG สามารถเข้าไปวางจำหน่ายสินค้าในโมเดิร์นเทรดเหล่านี้ จะเข้าถึงลูกค้าออนไลน์ที่คิดเป็นสัดส่วน 50% ของยอดขายค้าปลีกในอังกฤษได้ ขณะที่ยังมีความได้เปรียบจากการได้รับยกเว้นภาษีน้ำตาลของอังกฤษ (มีผลเดือน เม.ย. 2561) เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะคู่แข่งต้องปรับเพิ่มราคาขายขึ้นอีก 10% เพื่อชดเชยผลกระทบภาษีน้ำตาล

ขณะที่คาราบาวกรุ๊ปกำลังขึ้นเป็นผู้เล่นระดับโลกนั้น ในฝั่งสัดส่วนการถือครองหุ้นพบว่าแอ๊ด คาราบาว เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 3 ถือครองจำนวน 70.48 ล้านหุ้น มีมูลค่าถึง 6,625 ล้านบาท แต่ถ้านับรวมผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในตระกูล 'โอภากุล' ทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 142.15 ล้านหุ้น ก็จะคิดเป็นมูลค่าถึง 13,362 ล้านบาท เลยทีเดียว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: