กัมพูชายังเป็นแหล่งอุ้มบุญเถื่อน แม้รบ.สั่งห้าม พบราคาต่อหัวกว่าหมื่นดอลลาร์

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2689 ครั้ง

กัมพูชายังเป็นแหล่งอุ้มบุญเถื่อน แม้รบ.สั่งห้าม พบราคาต่อหัวกว่าหมื่นดอลลาร์

หมู่บ้าน Puth Sar ในจังหวัด Takeo หนึ่งในหมู่บ้านยากจน ที่มีนายหน้ามาหาหญิงสาวรับจ้างตั้งครรภ์แทนให้กับคู่สมรสชาวต่างชาติ

กัมพูชากลายเป็นปลายทางรับอุ้มบุญ (surrogacy) ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากกัมพูชามีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ราคาถูก และไม่มีกฎหมายควบคุม รวมถึงประเทศที่เคยเป็นสถานที่อุ้มบุญที่ได้รับความนิยม เช่น อินเดีย เนปาล และไทย กำหนดให้การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ความต้องการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากพุ่งมาที่กัมพูชาอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความวิตกเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้กัมพูชาออกคำสั่งห้ามรับอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2559 แต่ในความเป็นจริงยังพบว่าอุตสาหกรรมการรับอุ้มบุญยังคงมีอยู่

Chhum Long หญิงชาวกัมพูชาอายุ 60 ปี เผยถึงเหตุผลที่ลูกสาวของเธอตัดสินใจรับอุ้มท้องให้แก่คู่สมรสชาวตะวันตก เพื่อหวังนำรายได้มาหาซื้อสิ่งของจำเป็นให้แก่ครอบครัว โดยจะมีนายหน้ามาปรากฏตัวที่หน้าบ้าน พร้อมเสนอเงิน จำนวน 10,000 ดอลลาร์ ให้แก่ลูกสาวของเธอ เพื่อเป็นแม่อุ้มบุญให้แก่คู่สามีภรรยาชาวต่างชาติที่ร่ำรวย และลูกสาวก็ตกลงทันทีกับข้อเสนอเพราะมีความยากจนมาก โดยภายหลังจากการคลอดบุตร นายหน้าคนดังกล่าวจะมาเอาเด็กไปทันทีที่เกิด โดยลูกสาวเธอไม่ทันได้แม้แต่เห็นหน้าเขา

ที่ผ่านมากัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ด้วยรายได้ต่อปีเฉลี่ยเพียง 1,150 ดอลลาร์ และการอุ้มบุญนาน 9 เดือน อาจทำรายได้เทียบเท่ากับเงินเดือน 9 ปี หัวหน้าหมู่บ้าน Puth Sar เผยว่านายหน้ามาปรากฏตัวที่หมู่บ้านเป็นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน และมีผู้หญิงในหมู่บ้านอย่างน้อย 13 คน ตกลงที่จะรับตั้งครรภ์แทน โดยปัจจุบันมีผู้หญิงรับอุ้มบุญกำลังตั้งท้องอยู่ 4 คน แม้จะไม่เห็นด้วยต่อการรับจ้างอุ้มบุญโดยมองว่าเป็นการหลอกใช้ประโยชน์ แต่ก็ตระหนักดีว่าเป็นการยากสำหรับผู้หญิงเหล่านั้นที่จะปฏิเสธข้อเสนอจำนวนมากขนาดนั้น  

ที่มาข่าวและภาพประกอบ: South China Morning Post, 18/6/2017

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: