ธุรกิจเรือประมงไทยส่ออาการหนัก ขาดแรงงาน-เรือจอดเพียบ ทำราคาปลาพุ่ง 6 เท่าตัว

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4324 ครั้ง

ธุรกิจเรือประมงไทยส่ออาการหนัก ขาดแรงงาน-เรือจอดเพียบ ทำราคาปลาพุ่ง 6 เท่าตัว

เรือประมงไทยอาการหนักแรงงานขาดแคลนต้องจอดเรือกันเพียบทั้งฝั่งอันดามัน อ่าวไทย และภาคตะวันออก เหตุโทษรุนแรงปรับถึงหัวละ 4 แสนบาท ออกเรือมีจำนวนแรงงานน้อยกว่าที่แจ้งล่วงหน้ายังถูกดำเนินคดีฟ้องศาล ขณะที่ ครม.เลื่อนการออกหนังสือ Seabook ให้แรงงานต่างด้าวจาก ม.ค.ไปกลาง มี.ค.นี้มีสิทธิ์ไม่ทันอีก ที่มาภาพ: แฟ้มภาพ TCIJ

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2560 ว่าสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าจากการที่กรมประมงได้มีหนังสือถึงสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการให้เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป และขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป ที่ใช้เครื่องมืออวนลาก อวนล้อมจับ อวนครอบปลากะตัก และมีแรงงานบนเรือเป็นคนต่างด้าว ต้องไปยื่นขอมีหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ภายหลังประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะสิ้นสุดภายในเดือนมกราคมนี้ ทางสมาคมได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกชาวประมงในหลายจังหวัด เกี่ยวกับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่มีความล่าช้าและมีขีดจำกัด ซึ่งชาวประมงเกรงว่าแรงงานต่างด้าวจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ(Seabook) ไม่ทันตามระยะเวลาตามที่กรมประมงกำหนด เนื่องจากจะเริ่มดำเนินการบังคับใช้ตามกฎหมายแล้วนั้นทางสมาคมจึงได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ฉัตรชัยสาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอขยายระยะเวลาการมีหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) สำหรับแรงงานต่างด้าวออกไปอีก

รายงานข่าวกล่าวว่า ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

โดยสาระสำคัญของร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ขยายเวลาในการกำหนดให้คนประจำเรือที่ทำงานอยู่ในเรือประมง ซึ่งเป็นคนต่างด้าว และยังไม่มีหนังสือคนประจำเรือ ต้องมีหนังสือคนประจำเรือ จากเดิมที่ต้องดำเนินการภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับภายในวันที่ 12 มกราคม 2560 ออกไปเป็นวันที่ 15 มีนาคม 2560

นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ให้ขยายระยะเวลาในการกำหนดให้คนประจำเรือที่ทำงานอยู่ในเรือประมงซึ่งเป็นคนต่างด้าว และยังไม่มีหนังสือ

คนประจำเรือให้มีหนังสือคนประจำเรือ (Seaman Book) จากเดิมที่ต้องมีการดำเนินการภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่มีผลใช้บังคับ (ภายใน 12 มกราคม 2560) เลื่อนออกไปเป็น 15 มีนาคม 2560 นั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการได้เข้ายื่นหนังสือมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯถึงปัญหาในการจดทะเบียน โดยอุปสรรคหลักคือเรื่องของภาษาในการสื่อสาร ขาดแคลนล่าม จึงทำให้ล่าช้า ทั้งนี้เร็ว ๆ นี้ตามกำหนดการเดิมในเดือนมกราคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กรมประมง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เพื่อหารือและรายงานความก้าวหน้าผลการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งจะมีประเด็นความคืบหน้าผลการบังคับคดีเรือประมงผิดกฎหมาย ศูนย์ PIPO การควบคุมจำนวนเรือขนถ่ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากเรื่องนี้เป็นระบบใหม่ กรมประมงมีการสั่งเครื่องมืออุปกรณ์มาทำงานเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทำให้ระบบและเจ้าหน้าที่ยังไม่พร้อม สามารถออกหนังสือ Seabook ให้แรงงานต่างด้าวได้เฉลี่ยวันละ 40-50 คน วันที่ 12 มกราคมนี้ไม่ทันอย่างแน่นอน และคาดว่าวันที่ 15 มีนาคมศกนี้ก็คงไม่เรียบร้อยเช่นกัน

สถานการณ์ของเรือประมงไทยขณะนี้อาการหนักมาก ต้องมีเอกสารไว้ยื่นกับหลายหน่วยงาน ทั้งกรมประมง กรมเจ้าท่ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศูนย์ตรวจสอบเรือเข้า-ออก (PIPO) และทหารเรือ กอปรกับไม่มีแรงงานใหม่ลงเรือ ทำให้เรือประมงต้องจอดตายนับร้อยลำที่ อ.กันตัง จ.ตรัง และอีกจำนวนมากที่สงขลา ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคตะวันออก เพราะหากถูกจับเรื่องแรงงานผิดกฎหมายจะถูกปรับถึงรายละ 4 แสนบาท ล่าสุด เรืออวนล้อมปลากะตัก นำแรงงานผิดกฎหมาย 14 คนจับปลาถูกจับที่ภาคตะวันออกรวมแล้วถูกปรับคิดเป็นเงินกว่า 5.6 ล้านบาทหรือหากแจ้งล่วงหน้าต่อ PIPO ว่าจะมีแรงงานบนเรือประมงออกจับปลา 15 คน เมื่อออกไปจับจริงแรงงานบนเรือเหลือ 12 คน เพราะแรงงานมีการโยกย้ายบ่อยมาก ก็จะจับดำเนินคดีส่งฟ้องศาล ทำให้เรือประมงสุดจะอดกลั้นในปัญหาที่ถาโถมเข้ามาจำนวนมาก ในขณะที่การจ่ายค่าชดเชยการซื้อเรือคืนของภาครัฐก็ค่อนข้างช้า

ส่วนราคาสินค้าประมงก็ขยับขึ้นสูงมาก ปลาทูจากที่เคยซื้อตัวละ 5 บาท ก่อนแก้ IUU ขณะนี้ตัวละ 20-30 บาทแล้วแต่ขนาดปลาสด จากเดิม กก.ละ 60-70 บาท ก็ขยับเป็น กก.ละ 150 บาท เพราะเรือประมงไม่ออกทะเลจำนวนมาก ทำให้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปส่งออกในไทยต้องนำเข้าสัตว์น้ำจากมาเลเซียและอินเดียแทน

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
ไทยเร่งทำแต้มสู้ ‘Tier3+ใบเหลืองEU’ จับค้ามนุษย์-ประมงอ่วม-แรงงานหาย
อาชีพสุดเสี่ยง‘แรงงานบนเรือประมง’ ถูกหลอก งานหนัก เฆี่ยนตี ไม่ได้ค่าแรง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: