สแกนลายพราง: ยุคโซเชียล ทหาร 'IO' ตอบโต้ฝ่ายเห็นต่าง 'ชายแดนใต้' อย่างไร?

ทีมข่าว TCIJ : 15 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 7937 ครั้ง

บทความในวารสารเสนาธิปัตย์ เรื่อง ‘ทำไม? ต้อง IO Advanced จชต.' สรุปการตอบโต้ 'IO' ในการปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จะต้องตอบโต้ฝ่ายเห็นต่างใน 5 เรื่อง "เนื้อหา-กลุ่มเป้าหมาย-กิจกรรม-ช่องทางนำเสนอ-ระบบเครือข่าย" พึงระลึกไว้เสมอว่า “กระสุนทุกนัด จะต้องมีงาน IO รองรับ....และต้องทำเร็ว ทำไว ไร้ร่องรอย”

ในบทความ ทำไม? ต้อง “IO Advanced” จชต. ของผู้ใช้นามแฝงว่า 'หัวหน้าควง' ใน วารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 2 พ.ค. - ส.ค. 2560 (หรืออ่านจากลิงค์นี้ https://fliphtml5.com/hubo/xgmw/basic) ได้ระบุว่าปัจจุบันภาพรวมการทำ 'IO' ทั้งรัฐและผู้ก่อการร้าย (ผกร.) มีการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น…ผลสุดท้ายของการ IO มิใช่ชัยชนะทางทหารและทางการเมือง…แต่เป็นการเอาชนะจิตใจของประชาชน ซึ่งหลักการ IO (การปฏิบัติการข่าวสาร: Information Operations) ก็ไม่เปลี่ยนไปจากการพยายามรวบรวมกิจการทางทหารมาไว้ในบริบทเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเหนือกว่าทางด้านข้อมูลข่าวสารฝ่ายตรงข้าม ส่วน 'วิธีการ' จากเดิมเป็นเพียงแค่การใช้สื่อกระแสหลักโฆษณาชวนเชื่อทาง วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เปลี่ยนวิธีการมาเป็นการใช้สื่อกระแสรอง ได้แก่ Facebook, Facebooklive, Instagram, Line, YouTube, Twitter และสื่อออนไลน์อื่น ๆ ผ่าน คลิป, ภาพยนตร์เรื่องสั้น,บทความ, รูปภาพ, รูปภาพประกอบคำบรรยาย,สัญลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ 'หัวหน้าควง' ได้ระบุไว้ในบทความ 'แนวทางในการตอบโต้ IO ของ ผกร. ว่าแนวทางในการตอบโต้ IO ของ ผกร. ตามขั้นตอนการปฏิบัติ 'ปิดล้อมตรวจค้น' โดยจะพิจารณาไปทีละเรื่อง ได้แก่ เนื้อหา (Content), กลุ่มเป้าหมาย (target), กิจกรรม (Event), ช่องทางการนำเสนอ (Channel) และระบบเครือข่าย (Networking) ตามลำดับ ก่อน-ระหว่าง-หลังดังต่อไปนี้

ประการแรก การตอบโต้ด้าน ‘เนื้อหา (Content)’ เนื่องจาก NGOs มักจะใช้ประเด็น 'การละเมิดสิทธิมนุษยชน' มาตอบโต้รัฐ ส่วน ผกร.จะใช้ประเด็น 'ผู้เสียสละพลีชีพเพื่อญิฮาด' ดังนั้นฝ่ายรัฐควรจะต้องกำหนดเนื้อหาตอบโต้ว่า ‘การปิดล้อมตรวจค้นเป็นการบังคับใช้กฎหมาย’ หรือ ‘ใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน’ หรือ ‘ผู้เสียชีวิตหรือผู้ถูกควบคุมตัว ล้วนเป็นผู้มีประวัติก่อเหตุร้ายแรง มี ป.วิอาญาทุกคน’ รวมทั้ง ‘การควบคุมตัวเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีการซ้อมทรมาน’ อย่างนี้ถือว่าเป็นการตอบโต้โดยเนื้อหา ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่รัฐ จะตอบโต้ภายหลังเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว ทำให้ดูประหนึ่งว่าเป็นการแก้ตัวมากกว่าการชี้แจงในข้อเท็จจริง เพื่อการตอบโต้ตรงประเด็นเนื้อหานั้น ๆ

ประการที่สอง 'กลุ่มเป้าหมาย (Target)' การปฏิบัติการลักษณะมีความล่อแหลมต่อการเผยแพร่ทางสื่อ กลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกก็คือสื่อมวลชนและกลุ่ม NGOs ตามด้วยประชาชนผู้บริโภคสื่อ ญาติพี่น้อง และผู้ใหญ่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเรา ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้น และสมาชิกเครือข่ายที่อาจจะเผลอหลุดภาพของความรุนแรงออกไป

ประการที่สาม 'กิจกรรม (Event)' ก่อนเหตุการณ์จะต้องมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชน สื่อมวลชนและกลุ่ม NGOs กรณีที่มีการปิดล้อมตรวจค้น ในเรื่องการปฏิบัติเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก การบังคับใช้กฎหมาย กรณีนี้จะต้องมีความเฉียบขาดเพราะ ผกร. มีอาวุธสงครามและใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ระหว่างเหตุการณ์ จะใช้หน่วยหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) พร้อมมีอุปกรณ์ ชี้แจง ขอร้องให้มอบตัว โดยมีผู้ใหญ่ฝ่ายพลเรือนและฝ่ายท้องถิ่น รวมทั้งญาติพี่น้องมาช่วยกันเจรจาเกลี้ยกล่อม มีการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก แจ้งเตือนการปฏิบัติขั้นต่อไปเป็นระยะ ๆ กรณีที่ ผกร. ยิงสวนกลับ เจ้าหน้าที่จะป้องกันตัวอย่างสมเหตุสมผลตามเหตุการณ์ ทั้งนี้ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่เฉพาะของการปฏิบัติการ หลังเหตุการณ์ เมื่อเหตุการณ์ยุติลงเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่จึงจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เข้าไป งาน IO จะต้องยุติเงื่อนไขตรงนี้ให้ได้ ท้ายสุดทางราชการจะต้องมีการแถลงข่าวผลการปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงจนสิ้นสงสัย สรุปบทเรียนแล้ว ชาวบ้านได้อะไรให้เห็นความเลวร้ายของ ผกร. ในอดีตที่ก่อเหตุผู้บริสุทธิ์อย่างไร้ปราณี

ประการที่สี่ 'ช่องทางการนำเสนอ (Channel)' ใช้สื่อกระแสหลัก คือ วิทยุ หนังสือพิมพ์โทรทัศน์ และการพบปะพูดคุย และสื่อกระแสรองคือ สื่อสารออนไลน์ ปัจจุบันอาจจะเป็นกระแสหลักไปแล้ว เริ่มจากการแพร่ภาพประวัติของ ผกร. ทั้งนี้การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ได้วิเคราะห์อย่างรอบคอบถึงผลที่จะเกิดขึ้นแล้ว มีการควบคุมช่องทางสื่อสารของสื่อมวลชนอิสระ เพราะแม้จะห้ามมิให้ถ่ายภาพก็มักจะไม่ทำตามคำขอร้อง แต่ถ้าได้ชี้แจงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นและกระทบต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และภาพลักษณ์ของประเทศชาติในเรื่องความรุนแรงที่ถูกแพร่ภาพออกไปก็มักจะยอม และที่สำคัญรัฐเองก็ต้องใช้การสื่อสารออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญในการชี้แจงทำความเข้าใจให้ข้อเท็จจริง มีภาพประกอบคำอธิบาย หรืออาจจะทำคลิปสั้น ๆ อธิบายเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติการครั้งนี้ก็ยิ่งเป็นการดี

ประการที่ห้า 'ระบบเครือข่าย (Networking)' เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากภาพการปฏิบัติการมักจะถูกถ่ายทอดแบบ Real time ซึ่งมักจะมีภาพหลุดที่มิได้มีการกลั่นกรอง ซึ่งภาพเหล่านั้นจะกระทบใจของประชาชนผู้ชม ก่อให้เกิดการสงสารหรือรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อ ผกร.ขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามก็มีวิธีการเบี่ยงเบนสร้างความเชื่อและศรัทธาทางศาสนาว่าด้วยการปฏิบัติงานจนตัวตาย ถือว่าเป็นการทำ 'ญิฮาด' เรื่องอย่างนี้เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องสร้างภาพคู่แข่งขันขึ้นมาสู้กันทางความคิด เช่น ระบุว่าเป็น 'ญิฮาดจอมปลอม' เป็นต้น

สรุปการตอบโต้ 'IO' ในการปิดล้อมตรวจค้น จะต้องตอบโต้ใน 5 เรื่องคือ “เนื้อหา กลุ่มเป้าหมาย กิจกรรม ช่องทางนำเสนอ และระบบเครือข่าย” ถ้าสามารถบูรณาการได้ครบองค์ประกอบแล้ว จะทำให้เกิด 'ชุดความคิด IO' เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจริง ๆ พึงระลึกไว้เสมอว่า “กระสุนทุกนัด จะต้องมีงาน IO รองรับ....และต้องทำเร็ว ทำไว ไร้ร่องรอย”

 

 

*หมายเหตุกองบรรณาธิการ เพิ่มเติมเนื้อหาไฟล์ PDF จากต้นฉบับบทความเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: