พบบริษัทชั้นนำของโลกจ้างงานเหมาช่วงถึง 94%

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 14 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3038 ครั้ง

พบบริษัทชั้นนำของโลกจ้างงานเหมาช่วงถึง 94%

ผลสำรวจบริษัทข้ามชาติชั้นนำจำนวน 50 บริษัท มีการจ้างงานโดยตรงเพียง 6% แต่กลับจ้างซับพลายเออร์และบริษัทจ้างเหมาช่วงถึง 94% หรือคิดเป็นจำนวนแรงงานถึง 116 ล้านคน เลยทีเดียว คนงานรับช่วงต่อเหล่านี้ได้ผลิตสินค้าและบริการให้แก่บริษัทซึ่งกอบโกยกำไรมหาศาล แต่หลายบริษัทกลับล้มเหลวที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา (ที่มาภาพ: goodelectronics.org)

จากงานวิจัยของ ITUC (International Trade Union Confederation) ระบุว่าปัจจุบันการแพร่หลายของระบบห่วงโซ่การผลิตถูกออกแบบมาเพื่อเอาเปรียบแรงงานด้วยค่าจ้างราคาถูก และขาดการบังคับใช้กฎหมายที่เพียงพอ โดยจากการสำรวจบริษัทข้ามชาติชั้นนำจำนวน 50 บริษัท มีการจ้างงานโดยตรง (พนักงานประจำของบริษัท) เพียง 6% แต่กลับจ้างซับพลายเออร์และบริษัทจ้างเหมาช่วงถึง 94% หรือคิดเป็นจำนวนถึง 116 ล้านคน เลยทีเดียว

เลขาธิการของสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมโลกหรือ IndustriALL ที่มีสมาชิกราว 50 ล้านคน ได้เคยแถลงในที่ประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปี 2016 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในบรรยากาศกระแสการถกเถียงเรื่องงานที่เหมาะสมในห่วงโซ่การผลิตของโลก โดยเรียกร้องให้บริษัทในห่วงโซ่การผลิตโลกสร้างมาตรฐานแรงงานใหม่

ทั้งนี้ ILO ประมาณการณ์ว่าจำนวนตำแหน่งงานในระบบห่วงโซ่การผลิตโลก 40 ประเทศ (บริษัทรับจ้างผลิต บริษัทเหมาช่วงจากแบรนด์) เพิ่มขึ้นจาก 296 ล้านตำแหน่งในปี 1995 เป็น 453 ล้านตำแหน่งในปี 2013 หรือมากกว่า 1 ใน 5 ของกำลังแรงงานทั่วโลก

คนงานในห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกได้ผลิตสินค้าและบริการให้แก่บริษัทซึ่งกอบโกยกำไรมหาศาล แต่ล้มเหลวที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา แม้จะมี CSR ก็ไม่ได้เคารพสิทธิแรงงานแต่อย่างใด ล่าสุดการตรวจสอบโรงงานและการรับประกันคุณภาพมาตรฐานของ SAI และ BSCI ที่รับรองความปลอดภัยอาชีวะอนามัยให้แก่บริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในปากีสถานก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ตึก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 254 คน และ และอาคาร Rana Plaza ในบังคลาเทศก่อนตึกถล่ม ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้คนงานเสียชีวิตถึง 1,134 คนเลยทีเดียว

ในครั้งการประชุมใหญ่ของ ILO เมื่อปี 2016 นั้น IndustriALL ได้สนับสนุนข้อเรียกร้องของคนงานในห่วงโซ่การผลิต ให้มีกฎหมายและข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่บริษัทปฏิบัติตามเพื่อประกันสิทธิแรงงาน ทั้งนี้ IndustriALL ได้ทำกรอบข้อตกลงโดยตรงกับบริษัท 47 ฉบับที่ครอบคลุมคนงานราว 10 ล้านคน และก่อนหน้านั้นได้มีการทำข้อตกลงที่เรียกว่า GFA (Global Framework Agreement) ร่วมกับ H&M เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดคนงานในห่วงโซ่การผลิตที่พม่าและปากีสถานซึ่งจะครอบคลุมคนงานจำนวน 1.6 ล้านคน และทำข้อตกลง GFA กับบริษัท Inditex ที่จ้างคนงานจำนวน 1.4 ล้านคนในซับพลายเออร์กว่า 6,000 แห่ง โดยให้หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และเป็นกลไกในการระงับข้อพิพาทแรงงานระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระหว่างประเทศ

แต่สิ่งที่สำคัญคือ การเปลี่ยนวิธีการผลิตในห่วงโซ่การผลิตให้ปลอดภัย ไม่ใช้ค่าจ้างราคาถูก และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง IndustriALL กับซับพลายเออร์ของแบรนด์เสื้อผ้า ผู้ซื้อสินค้า รวมถึงการทำข้อตกลงเพื่อความเข้าใจ (MoU) กับแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก เป็นกลไกในการสร้างความตระหนักในสิทธิแรงงาน เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และค่าจ้างยังชีพ แทนการใช้วิธีประณามบริษัทเหมือนแต่ก่อน

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
Holding multinational companies accountable, โดย IndustriALL ในเว็บไซต์ goodelectronics.org, 13/6/2016

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: