แจงกรณีไทยติด 1 ใน 20 ประเทศอันตรายสำหรับนักท่องเที่ยว

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 1571 ครั้ง

แจงกรณีไทยติด 1 ใน 20 ประเทศอันตรายสำหรับนักท่องเที่ยว

กระทรวงการต่างประเทศออกมาแจงข้อเท็จจริงการจัดอันดับรายงานของ WEF กรณีไทยติด 1 ใน 20 ประเทศอันตรายสำหรับนักท่องเที่ยวและกรณีการลงทุนจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ว่านางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในห้วงวันที่ 8 - 9 มิถุนายน 2560 สื่อมวลชนบางสำนักได้รายงานข่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์บิซิเนสอินไซเดอร์ของออสเตรเลีย ว่า World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว 136 ประเทศทั่วโลก และจัดอันดับให้ไทยติด 1 ใน 20 ประเทศอันตรายสำหรับนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงข้อมูลกับสื่อแขนงต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2560 และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โดยนางสาวบุษฎี กล่าวว่า WEF เผยแพร่รายงาน Travel and Tourism Competitiveness Report นี้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ซึ่งจัดอันดับโดยรวมให้ประเทศไทยอยู่อันดับ 34 ของโลกจาก 136 ประเทศ ขึ้นมาจากอันดับ 35 เมื่อปี 2558 เป็นอันดับ 3 ของประเทศสมาชิกอาเซียนรองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 13) และมาเลเซีย (อันดับที่ 26) และเมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน จะเห็นว่าไทยได้รับการจัดอันดับที่สูงมากในหลายด้าน เช่น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอยู่อันดับ 7 ด้านการให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่อันดับ 16 ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาอยู่อันดับ 18 ด้านโครงสร้างคมนาคมขนส่งทางอากาศอยู่อันดับ 20 แต่เว็บไซต์บิซิเนสอินไซเดอร์ของออสเตรเลียกลับเลือกที่จะเสนอข้อมูลเชิงลบจากตัวชี้วัดด้าน Safety and Security เพียงด้านเดียว จากตัวชี้วัดทั้งหมด 14 ด้าน และตัวชี้วัดดังกล่าวใช้ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก จึงไม่เป็นการสะท้อนสถานะภาพรวมของทั้งประเทศที่ยังมีความปลอดภัย

นางสาวบุษฎี กล่าวต่อไปว่า หลังจากการเผยแพร่รายงานของ WEF เมื่อเดือนเมษายน 2560 คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ WEF และทีมที่จัดอันดับ เพื่อให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพัฒนาการในประเทศไทยและสอบถามวิธีการจัดอันดับเนื่องจากไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลกจากการสำรวจของสำนักชั้นนำของโลกหลายแห่ง ซึ่งในการหารือ WEF ยอมรับว่าข้อมูลที่ใช้จัดทำรายงานฯ ในแต่ละปีเป็นข้อมูลเก่า (ในบางกรณีมากกว่า 1 ปี) รวมทั้งการใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามประสบปัญหาเรื่องอคติและการยึดติดกับภาพลักษณ์ทั้งที่ข้อเท็จจริงได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น WEF กำลังพิจารณาปรับปรุงวิธีการคำนวณและจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกมิติ โดยเพิ่มการใช้ข้อมูลสถิติจากองค์กรระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือและลดการใช้ข้อมูลจากแบบสอบถาม ทั้งนี้ คณะผู้แทนถาวรไทยฯ จะได้ติดตามผลการหารือกับคณะผู้บริหารของ WEF อย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับข้อมูลขององค์กรอื่น ๆ ที่จัดลำดับด้านการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เช่น Master Card ระบุว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวมามากที่สุดในปี 2559 การสำรวจความเห็นของ Expat Insider ปรากฎผลว่าประเทศไทยเป็นลำดับที่ 7 ของประเทศน่าอยู่สำหรับชาวต่างชาติ สำนักข่าว US News & World Report จัดประเทศไทยอยู่อันดับ 26 ในภาพรวม เป็นต้น

นางสาวบุษฎี กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับด้านการลงทุน ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ต่างชาตินิยมมาลงทุน โดยในปี 2559 ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ (FDI Application) ในประเทศไทยสูงถึง 6 แสนล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5.5 แสนล้านบาท นอกจากนั้น พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2560 ฉบับปรับปรุง ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ยังเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูง โดยจะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาถึง 13 ปี และธุรกิจใดที่มีรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา อาจขอลดภาษีได้สูงสุดถึง 300% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่สูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับสิทธิประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: