ทุน 'ไทย-จีน-ไต้หวัน' เล็งลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมใหญ่ที่สุดในโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3920 ครั้ง

ทุน 'ไทย-จีน-ไต้หวัน' เล็งลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมใหญ่ที่สุดในโลก

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์จับมือพันธมิตรจีนและไต้หวัน ลงทุนแสนล้านสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ขนาด 50 GWh ต่อปีในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ใหญ่ที่สุดในโลก คาดช่วยเพิ่มจีดีพีโตขึ้นร้อยละ 3.6 ที่มาภาพประกอบ: greencarreports.com

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2560 ว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยตั้งเป้าดำเนินการเสร็จภายใน 2 ปี มีบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตรจีน คือ “Shenzen Growatt New Energy Technology” และ “Amita Technologies” จากไต้หวันตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทย

นานสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ กล่าวว่า บริษัทและพันธมิตรจากจีนและไต้หวันมีแผนลงทุน 5 ปี ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม เริ่มก้อนแรกปี 2561 กำลังผลิตเริ่มต้น 1 Gigawatt hours (GWh) ต่อปี หลังจากนั้นลงทุนระยะ 2 เพิ่มกำลังผลิตเป็น 50 GWhต่อปีใช้สำหรับเก็บพลังงานหลักที่มีความต้องการสูง วงเงินลงทุนทั้งหมด 100,000 ล้านบาท ตลาดเป้าหมาย คือ ประเทศเพื่อนบ้าน โรงงานแห่งนี้จะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าของเทสล่าที่มีกำลังผลิต 25 GWhต่อปี

นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ร่วมกับ กนอ.คัดเลือกโครงการเป้าหมายที่มีความสำเร็จสูงเป็นฐานพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve และ First S-Curve เป็นโครงการนำร่องเริ่มต้นจาก “อุตสาหกรรมสำรองไฟฟ้า” Energy Storage หากมีการส่งเสริมจากภาครัฐเต็มระบบ คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่ามากขึ้นถึง 10 เท่า และมีขนาดตลาดประมาณ 500,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตลาดแบตเตอรี่ในไทยที่มีประมาณ 50,000 ล้านบาท จะสามารถสร้างจีดีพีในสัดส่วนร้อยละ 3.6 ของจีดีพีประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมหลักในตลาดที่มารองรับ คือ 1.ระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage สำหรับระบบกักเก็บไฟฟ้าของประเทศ Generation Unit และ Distribution รวมถึงระบบกับเก็บพลังงานของพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อความเสถียรของระบบไฟฟ้าของประเทศ และใช้ในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง 2. ระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage ใช้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภท Hybrid Electric Vehicle (HEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) Battery Electric Vehicle (BEV) และอื่น ๆ และ 3.ระบบสำรองไฟฟ้า Energy Storage สำหรับอุตสาหกรรมประเภทอุปกรณ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สำหรับโทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าฯ กนอ. กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะพิจารณาใช้พื้นที่ก่อสร้างนิคมในเขตอีอีซีประมาณ 1,000-2,000 ไร่ โดยจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป วงเงินลงทุนสร้างนิคมประมาณ 3,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปีนี้

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จะเชิญ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในไทยที่มีประมาณ 30 รายเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสากรรมแห่งนี้เช่นกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: