กลุ่มคนงานหญิงพิการในกัมพูชาถูกโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 11 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3773 ครั้ง

กลุ่มคนงานหญิงพิการในกัมพูชาถูกโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

คนงานพิการหญิงในกัมพูชาจำนวน 20 คน ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้สืบสวนการเลือกปฏิบัติของบริษัท Shimano โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ที่เลิกจ้างพวกเธอโดยไม่ระบุสาเหตุเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ที่มาภาพข่าว: Phnom Penh Post

คนงานพิการจำนวน 20 คนเดินทางจากจังหวัดกำปงสปือ ไปยังกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 6 มี.ค. เพื่อยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้สืบสวนการเลือกปฏิบัติของบริษัท ชิมาโน (กัมพูชา) จำกัด (Shimano) โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ไล่พวกเธอออกจากงานโดยไม่ระบุสาเหตุเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยคนงานหญิง 14 คนนั่งรถเข็นจัดแถลงข่าว ณ สำนักงานองค์การคนพิการ กัมพูชา

Seng Bopha อายุ 29 ปี กล่าวว่า บริษัทจ้างคนพิการจำนวน 90 คน แต่เลิกจ้างจำนวน 19 คน รวมทั้งตัวเธอด้วยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์โดยไม่ทราบสาเหตุ  “เราต้องการทำงาน เราถูกบังคับให้พิมพ์รอยนิ้วมือเพื่อรับค่าชดเชยจากบริษัท” Bopha กล่าว

Chhoun Chanveasna อายุ 32 ปี ทำงานที่โรงงานมาเป็นเวลา 10 ปี ได้รับค่าชดเชยโดยไม่เต็มใจ ประมาณ 2,730 เหรียญสหรัฐฯ กล่าวระบุว่าถูกบังคับให้ออกจากงานอย่างกะทันหัน นายจ้างไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ด้าน Reoun Srey  Mom อายุ 34 ปี ระบุว่าเธอถูกบังคับให้รับค่าชดเชย 1,278 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับอายุงาน 4 ปี และบริษัทอ้างว่ามาจากปัญหาทางการเงินของบริษัท แต่เธอยังสงสัยถึงสาเหตุที่แท้จริง เธอยังสังสัยว่าทำไมต้องเลิกจ้างคนพิการออกเป็นอันดับแรก

ด้านผู้อำนวยการองค์การคนพิการกัมพูชาระบุว่าองค์การพัฒนาเอกชนจะส่งจดหมายถึงสภารัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงกิจการสังคม และกระทรวงกิจการสตรี โดยหวังว่า คณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงจะเข้ามาตรวจสอบกรณีปัญหานี้ มันไม่ยุติธรรมเพราะสะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติกับคนพิการ

ส่วนตัวแทนของบริษัท ชิมาโน ปฏิเสธว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ไม่ใช่ การเลือกปฏิบัติ แต่ก็ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ โดยบอกว่าประเด็นนี้เป็นความลับภายในบริษัท แต่คนงานทุกคนได้รับค่าชดเชยแล้ว

Velibor Popovic ผู้เชี่ยวชาญของ UNDP กล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการที่รัฐบาลกัมพูชาให้การรับรองเมื่อปี 2012 นั้นห้ามการเลือกปฏิบัติบนฐานของความพิการ ในเรื่องการจ้างงาน “สิทธิที่จะทำงานของคนพิการยังได้รับความคุ้มครองในมาตรา 33 ของกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของคนพิการของกัมพูชาด้วย” Popovic ระบุ

ด้าน Moeun Tola จากกลุ่มส่งเสริมสิทธิแรงงานกลางระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจสอบว่าการเลิกจ้างคนงานเป็นการเลือกปฏิบัติหรือจากการปฏิบัติงาน  หากมาจากการปฏิบัติงาน ควรตรวจสอบว่า นายจ้างได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับคนพิการหรือไม่ หากไม่ ก็ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา และจะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างจริงจังเพื่อหาสาเหตุของการเลิกจ้างคนงานกลุ่มนี้

นอกจากจะเข้าไปตรวจสอบการเลือกปฏิบัติว่าเกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างหรือไม่ เจ้าหน้าที่ควรจะสอบสวนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านแรงงานของนายจ้างด้วย เช่น การแจ้งเลิกจ้างล่วงหน้า ภายใต้กฎหมายแรงงาน คนงานต้องได้รับการแจ้งล่วงหน้า 1 สัปดาห์ถึง 3 เดือน และนายจ้างไม่สามารถบังคับคนงานให้เซ็นชื่อรับค่าชดเชยโดยไม่ปฏิบัติตาม ขั้นตอนของกฎหมาย

Tola กล่าวว่าแนวปฏิบัติของการจ้างคนพิการในอุตสาหกรรมนี้ ยังไม่ถูกบังคับใช้อย่างทั่วถึง ทั้ง ๆ ที่ รัฐบาลสัญญาว่าจะส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอย่างน้อย 1% ของจำนวนพนักงานของบริษัท 1 แห่ง

Mey Samith ผู้อำนวยการ Phnom Penh Center for Independent Living กล่าวว่าข้อปฏิบัติของการจ้างงานสำหรับคนพิการกำลังนำไปบังคับใช้มากขึ้น นายจ้างบางแห่งมีความตั้งใจที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ทั้งนี้คนพิการสามารถทำงานได้ ในวิธีการที่แตกต่างกันไป

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
Disabled women fired at factory, Phnom Penh Post, 7/3/2017

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: