คาดสรุป 'ภาษีที่ดิน' พ.ย. 2560 นี้ สนช. หนุน ยกเว้นบ้านราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2385 ครั้ง

คาดสรุป 'ภาษีที่ดิน' พ.ย. 2560 นี้ สนช. หนุน ยกเว้นบ้านราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท

รัฐมนตรีช่วยคลังคาดได้ข้อสรุปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเดือนหน้า ขณะที่ สนช. หนุน ยกเว้นเก็บภาษีบ้านราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท ส่วนที่เกินจัดเก็บแบบขั้นบันได เริ่มจัดเก็บจริงปี 2562 ที่มาภาพประกอบ: dreamhomemakers.com

เว็บไซต์ moneychannel.co.th รายงานเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ว่านายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการ สนช.เสียงส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับแนวคิดการปรับลดเพดานจัดเก็บภาษีที่ดินฯ สำหรับที่อยู่อาศัยจากเดิมกำหนดบ้านราคาบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี ปรับลดเหลือ 20 ล้านบาทต่อหลัง คาดว่า จะสามารถสรุปแนวทางทั้งหมดได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทำให้มีคนต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 3 หมื่นราย แต่ผู้เสียภาษีคิดเป็นแค่ 1% ของผู้ที่มีบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น ส่วนการเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร ยังยกเว้นมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท เหมือนเดิม เนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนการเกษตร

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของกรรมาธิการ ยังมีรายละเอียดการเก็บภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ โดยให้มีการเก็บข้อมูลการเสียภาษีจริงในปัจจุบัน ที่เสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อมาเปรียบเทียบกับการเสียภาษีตามกฎหมายใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีภาระภาษีที่เหมาะสม โดยจะเป็นแบบขั้นบันได ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี จะมีภาระภาษีน้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นหรือบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้ประกอบการบางประเภท เช่น โรงเรียนและสถานศึกษาเอกชน โรงพยาบาลเอกชน สนามกีฬาของเอกชน นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีกฎหมายลูกออกมารองรับ

ทั้งนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บรายได้ปีละ 28,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งถือไม่มาก เพราะรายได้ส่วนใหญ่รัฐบาลยังสนับสนุนให้ อปท. แต่ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างจะเป็นการสร้างฐานการเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่สำคัญ และทำให้ผู้เสียภาษี มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของ อปท.มากขึ้น ว่านำภาษีไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นหรือไม่

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอ อัตราเพดานภาษีแบ่งเป็น 4 ประเภท ให้สนช.พิจารณา ได้แก่

1.ที่ดินเพื่อการเกษตรมีเพดานภาษี 0.2% และให้เว้นเก็บภาษีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท

2.ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยอัตราเพดานภาษี 0.5%

3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์อัตราเพดานภาษีไม่เกิน 2%

4.ที่ดินว่างเปล่าเพดานภาษีไม่เกิน 2% หากที่ดินไม่ใช้ประโยชน์จะเก็บเพิ่มขึ้น 0.5% ทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: