ไทยแบกค่ารักษาตามหลักมนุษยธรรมปีละ 400-500 ล้าน เสนอตั้งงบเฉพาะ

ทีมข่าว TCIJ : 10 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 12646 ครั้ง

แม้ไทยจะจัดเก็บรายได้ ‘ค่าประกันสุขภาพ’ ได้มากที่สุดจากการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากแรงงานข้ามชาติ  แต่กระนั้นก็เป็นภาระการคลังมากที่สุดด้วยเช่นกัน ในแต่ละปี ก.สาธารณสุข ต้องจ่าย ‘ค่ารักษาพยาบาลตามหลักมนุษยธรรม’ ให้ผู้เจ็บป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งแรงงานและผู้ไร้สิทธิฯ ปีละ 400-500 ล้านบาท จังหวัดชายแดนอ่วม พบโรงพยาบาลใน จ.ตาก รักษาคนไร้สิทธิฯ ปีละมากกว่า 50,000 คน เรียกเก็บค่ารักษาไม่ได้ปีละมากกว่าร้อยล้านบาท เสนอตั้งงบด้านมนุษยธรรมโดยตรงดีกว่าใช้งบประมาณแฝงจากส่วนอื่น ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

แม้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง พม่า ลาว และกัมพูชา ได้พัฒนาเศรษฐกิจ-การเมือง รวมถึงการยกระดับชีวิตคนในประเทศขึ้นมาในระดับหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่กระนั้นก็ยังคงมีการหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในประเทศไทยทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมทั้งประชาชนตามตะเข็บชายแดนก็ยังคงเข้ามารับบริการด้านสาธารณสุขของรัฐไทยปีละหลายหมื่นคน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าบริการด้านสาธารณสุขของไทยมีมาตรฐานสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านรอบ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นปัญหานั้นมีบุคลากรด้านสาธารณสุขต่อสัดส่วนประชากรในระดับที่ต่ำกว่า ‘ระดับต่ำที่สุด’ คือต่ำกว่า 22.8 รายต่อประชากร 10,000 คน [1]

รายได้เข้าคลังจาก’ค่าประกันสุขภาพ’มากสุด แต่ภาระการคลังมากตาม

ในรายงานวิจัยเรื่อง 'แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากประเทศใน AEC กับนัยทางการคลังสำหรับประเทศไทย' (Unskilled Migrant Workforce from AEC Countries and Fiscal Implications for Thailand) โดย รศ. ดร. เอื้อมพร พิชัยสนิธ และ รศ.ดร.กิริยา กุลกลกาล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ทำการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนทางการคลัง (fiscal benefit-cost analysis) จากข้อมูลเชิงทุติยภูมิในส่วนของสถิติเกี่ยวกับข้อมูลแรงงานข้ามชาติที่เป็นทางการในภาพรวม และข้อมูลปฐมภูมิด้านพฤติกรรมในการทำงานและการดำรงชีวิต สภาพความเป็นอยู่ การได้รับบริการภาครัฐ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข และการศึกษาของบุตรที่ติดตามมาด้วย จากการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนทางการคลัง พบว่าสัดส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit to cost ratio) ได้ค่ามากกว่า 1 ภายใต้ทั้งกรณีการประมาณการจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต่ำสุดและสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือสัดส่วนผลประโยชน์และต้นทุนทาง การคลังอยู่ในขอบเขตระหว่าง 2.87- 1.90 และเมื่อลงลึกไปในรายละเอียดของผลประโยชน์ทางการคลังพบว่าองค์ประกอบของผลประโยชน์ทางการคลังที่มีสัดส่วนมูลค่าที่สูงที่สุด คือรายได้จากการตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ และเงินสมทบเข้ากองทุน  รองลงมาคือรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มอันเนื่องมาจากการบริโภคของแรงงานข้ามชาติ และลำดับที่สาม คือรายได้จากค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติ

ในส่วนของต้นทุนทางการคลังที่รัฐต้องเสียให้กับแรงงานข้ามชาติ พบว่าต้นทุนทางการคลังที่มีสัดส่วนที่สูงที่สุดคือรายจ่ายด้านสาธารณสุข ซึ่งสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเกือบเป็นสองเท่าในกรณีที่มีการประมาณการจำนวนแรงงานข้ามชาติสูงที่สุด (ประกันสังคม ร้อยละ 9.2 และ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 63.1 รวมเป็น ร้อยละ 72.3 ของรายจ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ) รองลงมาคือ ต้นทุนด้านการศึกษาของบุตรของแรงงานข้ามชาติ และลำดับที่สามคือต้นทุนด้านการคลอดบุตร และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ต้นทุนการคลอดบุตรมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นในปีถัด ๆ ไป

รัฐจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามหลักมนุษยธรรมปีละ 400-500 ล้านบาท

ข้อมูลจาก ‘รายงานผลการพิจารณาศึกษาสถานการณ์คนต่างด้าวในประเทศไทย’ ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ระบุถึงข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับงบประมาณและการดูแลรักษาสุขภาพคนต่างด้าวที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลของประเทศไทย รวมทั้งกรณีที่โรงพยาบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายตามหลักมนุษยธรรม และกรณีที่เป็นการรักษาแบบต่อเนื่อง (ผู้ป่วยติดเตียง) ในโรงพยาบาลต่าง ๆ พบว่าการดูแลรักษาสุขภาพแรงงานข้ามชาตินั้นในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ 1.ระบบประกันสังคม และ 2.ระบบประกันสุขภาพ ซึ่งนอกเหนือจาก 2 ระบบดังกล่าว ในการรักษากลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน แรงงานสัญชาติอื่น ๆ รวมทั้งแรงงานผิดกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุขจะรับภาระในการรักษาตามหลักมนุษยธรรมซึ่งไม่สามารถเก็บค่ารักษาพยาบาลได้ปีละประมาณ 400-500 ล้านบาท [ส่วนกลุ่มผู้หนีภัยจากการสู่รบตามค่ายอพยพต่าง ๆ นั้น ค่ารักษาพยาบาลมีองค์กรเอกชนด้านการแพทย์ เช่น International Rescue Committee (IRC) ออกให้ เป็นต้น] โดยเฉพาะโรงพยาบาลตามแนวตะเข็บชายแดนที่มีคนต่างด้าวมีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย เข้ามาโดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทหรือลักษณะงานเป็นการชั่วคราว (ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551)เข้ามาใช้บริการสาธารณสุขของไทยเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ได้บริหารจัดการและนำตัวเลขของผู้ไร้สถานะสิทธิดังกล่าวที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนให้รัฐบาลได้รับทราบ เพื่อขอรับงบ ประมาณเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป มาใช้ในการดูแลคนต่างด้าวที่ต้องมีการพิสูจน์สถานะสิทธิตามกระบวนการของสภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีประมาณ 552,493 คน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2559 ได้รับงบประมาณสนับสนุนมาทั้งหมด 2,315 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 2,315 บาท โดยมีการจัดสรรเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนกลาง จำนวน 35% แบ่งเป็นค่าบริหารจัดการของส่วนกลางจำนวน 1% และเป็นค่าสูตินารีเวชกรรม อุบัติเหตุฉุกเฉินโรคพิเศษและค่ายาต่าง ๆ จำนวน 34% และ 2.ส่วนภูมิภาค จำนวน 65% แบ่งให้ศูนย์สุขภาพชุมชน (ศสช.) 1% และแบ่งให้หน่วยบริการต่าง ๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอีก 64%

จ.ตาก รักษาคนไร้สิทธิปีละกว่า 5 หมื่นคน เรียกเก็บค่ารักษาไม่ได้ปีละร้อยล้านบาทขึ้น

อย่างเช่นโรงพยาบาลใน จ.ตาก ซึ่งมีสถิติการเข้ามารับรักษาของกลุ่มบุคคลไร้สถานะสิทธิดังกล่าวจำนวนมากกว่า 50,000 คน รวมทั้งยังมีคนต่างด้าวที่เดินทางเข้าออกทั้งตามช่องทางปกติและช่องทางธรรมชาติเพื่อข้ามมารักษาในโรงพยาบาลซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลได้เช่นกัน จากข้อมูลค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพในกลุ่มผู้รับบริการต่างชาติของจังหวัดตาก พบว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ปี 2557 มีจำนวน 159,471,590 บาท ปี 2558 จำนวน 131,141,639 ล้านบาท และปี 2559 (ณ มิ.ย. 2559) มีจำนวน 100,433,811 ล้านบาท เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่พำนักอยู่ตามตะเข็บชายแดนที่ข้ามมาใช้บริการที่สุขศาลาพระราชทานเลตองคุ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาทรงโปรดฯ ให้ก่อตั้งและดำเนินงานสุขศาลาพระราชทาน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานคล้ายคลึงใกล้เคียงกับศูนย์สุขภาพชุมชน (ศสช.) ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานอยู่แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนอาคารสถานที่จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและเงินบริจาคจากหลายแหล่ง บุคคลากรของสุขศาลาประกอบด้วยครูของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้ดูแล โดยมีลูกทีมเป็นลูกจ้างที่ผ่านการอบรมด้านต่าง ๆ เช่น การรักษาพยาบาลพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาพ การตรวจเชื้อมาลาเลียด้วยกล้องจุลทรรศน์ การฉีดวัคซีนเด็ก โดยมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นพี่เลี้ยงจำนวน 5-6 คน ขณะนี้มีสุขศาลาพระราชทานใน อ.อุ้มผาง 2 แห่ง ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) จึงได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อพัฒนาเครือข่ายบริการปฐมภูมิ โดยได้นำงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปจัดสร้างสุขศาลาเพิ่มเติมในพื้นที่ทุรกันดารอีก 9 แห่ง รวมทั้งมีการดำเนินการจัดตั้งสุขศาลาในพื้นที่ประเทศพม่าโดยการสนับสนุนของโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งแม้ประชาชนในแนวชายแดนจะไม่มีบัตรประชาชน แต่โดยหลักมนุษยธรรมจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นในยามเจ็บไข้ได้ป่วย

แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่ใช้สวัสดิการของรัฐ เพราะกลัวถูกส่งกลับประเทศ

 

แรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมาก ไม่กล้าใช้สวัสดิการด้านสุขภาพในไทย ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ในรายงานวิจัยเรื่อง 'แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากประเทศใน AEC กับนัยทางการคลังสำหรับประเทศไทย' (Unskilled Migrant Workforce from AEC Countries and Fiscal Implications for Thailand) โดย รศ. ดร. เอื้อมพร พิชัยสนิธ และ รศ.ดร.กิริยา กุลกลกาล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ศึกษาแรงงานข้ามชาติจากพม่า 312 คน (มีทั้งชาติพันธ์ พม่า มอญ กะเหรี่ยง ทวาย ไทใหญ่ ยะไข่ ปะโอ คะเรนนี และตองสู) ที่ทำงานใน จ.ตาก กาญจนบุรี และสมุทรสาคร พบว่ามีแรงงานข้ามชาติถึงร้อยละ 61 ที่ไม่ใช้สวัสดิการของรัฐบาลไทย ทั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิต่าง ๆ และอีกสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่แรงงานส่วนใหญ่ในกลุ่มสำรวจนี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นการที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรับสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย จึงไม่สามารถทำได้ อีกทั้งยังเกิดความกลัวที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศก็เป็นได้ จากการที่แรงงานข้ามชาติไม่ใช้สวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยจัดหาให้ จะพบว่าคู่สมรสหรือบุตรของแรงงานเหล่านั้นก็ไม่ใช้สวัสดิการต่าง ๆ เช่นเดียวกัน สัดส่วนที่คู่สมรสหรือบุตรของแรงงานข้ามชาติไม่ใช้สวัสดิการคิดเป็นร้อยละ 68

 

เสนอตั้งงบมนุษยธรรมโดยตรง ดีกว่าใช้งบประมาณแฝงจากส่วนอื่น

แม้ปัจจุบันไทยได้ให้สิทธิในด้านสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายไว้ คือ แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจะไม่สามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ หากแรงงานข้ามชาติดังกล่าวประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานและนายจ้างไม่รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง สำนักงานประกันสังคมมีสิทธิดำเนินการตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 50 ที่กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถสอบสวนและออกคำสั่งให้นายจ้างของแรงงานข้ามชาติเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างโดยตรง  สำหรับแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยมี ทร. 38/1 และใบอนุญาตทำงาน (สำหรับคนที่เป็นแรงงาน) กลุ่มนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจากการซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการสุขภาพครั้งละ 30 บาท ส่วนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่ไม่มีเอกสารใด ๆ แรงงานกลุ่มนี้สามารถรับบริการสุขภาพได้ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลได้เอง ซึ่งในทางปฏิบัติโรงพยาบาลอาจงดเว้นค่ารักษาพยาบาลให้ในกรณีที่คนไข้ไม่มีเงินจ่าย นอกจากนี้แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังได้รับความช่วยเหลือจาก NGO

ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ระบุว่างบประมาณที่นำมาใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลสำหรับกลุ่มคนไร้สถานะสิทธิทั้งหลายที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้นั้น มักจะแอบแฝงอยู่ในงบต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ปีหนึ่ง ๆ มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลตั้งงบประมาณช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมขึ้นมาโดยเฉพาะ ย่อมดีกว่าการแบ่งงบประมาณจากหมวดอื่น ๆ จากกระทรวงสาธารณสุขไปใช้ และรัฐบาลควรมีการชี้แจงพร้อมทั้งแสดงรายละเอียดในการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมในด้านการรักษาพยาบาลนี้ว่า ใช้งบ ประมาณในแต่ละปีเป็นจำนวนเท่าใด

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: หน่วยงานไหน? ได้งบบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวเท่าไหร่?


*ปรับปรุงเนื้อหา 11 ธ.ค. 2560 เวลา 14.25 น.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: