สองทศวรรษแห่งความหลัง: สำรวจอารมณ์หนังไทยในวิกฤตต้มยำกุ้ง

วีรวรรธน์ สมนึก เก็บความจากนิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน! (ระหว่างวันที่ 7 มี.ค. - 2 ก.ค. 2560) 10 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 12190 ครั้ง

ครบรอบ 20 ปีที่ไทยผ่าน ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ย้อนมองวิกฤตผ่านอารมณ์ของหนังไทย ‘ตลก 69’-‘2499’-‘บางระจัน’-‘ฟ้าทะลายโจร’  ทั้งจากคำบอกเล่าของผู้กำกับภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้น และความทรงจำของวิกฤตผ่านมุมมองภาพยนตร์

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเกิดขึ้นในปี 2540 รู้จักกันดีในชื่อ’วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ที่ส่งผลกระทบไปสู่หลายภาคส่วนของประเทศ เช่นเดียวกับวงการภาพยนตร์ ที่วิกฤติต้มยำกุ้งได้ส่งอิทธิพลไปถึง เปลี่ยนบรรยากาศการทำภาพยนตร์ ณ ห้วงเวลานั้น ไปจนถึงการหยิบยกเรื่องราวและเหตุการณ์ในวิกฤตครั้งนั้นมาบอกเล่าผ่านจอภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง  ผู้สื่อข่าวพิเศษของ TCIJ จะพาผู้อ่านลองย้อนมองวิกฤตผ่าน ‘อารมณ์ของหนังไทย’  จากการคำบอกเล่าของผู้กำกับภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้น และความทรงจำผ่านมุมมองภาพยนตร์เรื่องเด่น ๆ ในยุคนั้น (เก็บความจากนิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!  (ระหว่างวันที่ 7 มี.ค. - 2 ก.ค. 2560)

‘ตลก 69’ เรื่องราวจากปรากฏการณ์ ‘เลย์ออฟ’ ยุคต้มยำกุ้ง

ตุ้ม (ลลิตา ปัญโญภาส) พนักงานบริษัทไฟแนนซ์ที่เพิ่งถูกให้ออกจากงาน หลังจากบริษัทประสบปัญหาการเงินอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ เธอพักอาศัยคนเดียวในห้องหมายเลข 6 บนชั้นสามของอพาร์ทเมนท์ ด้วยความที่เธอเป็นคนสวย และโสด จึงเป็นที่สนใจของใครหลาย ๆ คน รวมทั้งชายโรคจิตที่ชอบโทรศัพท์มาที่ห้องเพื่อสำเร็จความใคร่ให้ฟัง

เป็นเอก รัตนเรือง เล่าที่มาหนังเรื่องนั้นว่าไอเดียเกิดจากเขามีเพื่อนหลายคนมากจากบริษัทโฆษณาที่ถูกเลย์ออฟในช่วงนั้น ตอนแรก ๆ ก็ตกใจ ตอนหลัง ๆ ดูเป็นเรื่องธรรมดา

แล้วยังมีโจ๊กถึงความไม่แฟร์ของการเลย์ออฟในช่วงนั้น เช่นกรณีว่าทำไมผู้บริหารไม่โดนบ้าง ซึ่งในฉากแรกของเรื่องตลก69 (2542) ที่หมิว ลลิตา โดนเลย์ออฟก็เป็นการถูกให้ออกที่ประหลาดมาก คือใช้วิธีจับเบอร์เอา แล้วก็มีพนักงานคนหนึ่งถามเจ้านายว่าทำไมไม่จับเบอร์ด้วย เจ้านายบอกว่า“ไม่ต้องจับ ผมเป็นเจ้านาย” อะไรแบบนี้มันก็เป็นประสบการณ์ตรง ๆ จากเพื่อน ๆ ของผู้กำกับเป็นเอกเอง

หรืออย่างเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ (2544) “มันไม่ได้เป็นหนังที่มีความเป็นไทย เพราะว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องชีวิตในต่างจังหวัดเลย เราเป็นคนกรุงมาก เกิดเติบโตอยู่ในกรุงเทพจากครอบครัวชนชั้นกลาง ไม่ได้มีความรู้เรื่องพวกนั้น พอหนังถูกทำออกมาใหม่ ๆ ก็ถูกด่าเยอะเหมือนกันนะ”

เป็นเอกรับว่าสิ่งเดียวที่ทำให้ภาพยนตร์รอดตัวไปได้ ก็คือความสนุกของหนังแล้วก็มีศิลปะความเป็นภาพยนตร์ของยุคนั้น เป็นเอกยังระบุว่าเพราะไม่ได้คิดถึงความเป็นไทยเท่าไหร่ “แค่อยากทำหนัง แบบว่าคนเรามีชีวิตเรียบ ๆ ง่าย ๆ มันก็ดีอยู่แล้ว แต่ดันทุรังอยากดังอยากมี แล้วเป็นไงละ ท้ายที่สุดก็บาดเจ็บไปตาม ๆ กัน” เขาสื่อความว่าต้องการจะพูดแค่นี้สำหรับหนังเรื่องนั้น “เรามาจากอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีแต่ความอู้ฟู่เลยนะ ดูรถที่เขาขับกันสิ ดูเสื้อผ้าที่เขาใส่กันสิ ดูทุกอย่างในชีวิตที่เขาใช้กันน่ะ ทุกอย่างแม่งพรีเมี่ยมกันหมดอ่ะ ค่าตอบแทนที่ได้จากอุตสาหกรรมหนังโฆษณามันก็สูงมาก แต่ส่วนตัวตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปอยู่ในนั้นเราไม่เคยเชื่อเรื่องพวกนั้นเลย”

เป็นเอกระบุว่า เพราะตนไม่เห็นด้วยว่ายุค ‘Nics’ เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียจะมาถึงจริง เขาจึงทำหนังเรื่องมนตร์รักทรานซิสเตอร์ด้วยจิตใจที่เชื่อว่าในที่สุดมันก็กลับมาสู่สิ่งนี้ ซึ่งต้มยำกุ้งมันก็มาจากตรงนั้น “ที่ดินมันเคยราคาเท่านี้ ๆ (ยกมือสูง) มันก็ไปตรงนี้ (ยกมือสูงขึ้นอีก)” เขารู้สึกว่าเศรษฐกิจมันจำกัดให้บริษัทบริษัทหนึ่งทำได้เท่านี้ แต่กลับปั่นมันให้สูงกว่านั้นมาก ๆ แล้วมันก็ล่มสลาย ทุกอย่างเป็นอย่างนั้นหมดเลย ทุกอย่างเวลาถูกพาขึ้นไปสู่จุดสูงสุด ที่บอกว่าดี มันขึ้นไปเร็วมาก แล้วตอนที่ขึ้นไปสู่จุดที่มันดี มันเยอะมากเกินจริง “ผมก็คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรักษาความอู้ฟู่อันนั้น ไอ้ความรุ่งเรื่องที่มันเกินจริงอันนั้น มันรักษาไว้ไม่ได้”

เขายังเล่าถึงอดีตอันหอมหวานของวงการโฆษณาว่า ในช่วงนั้นเคยต้องไปถ่ายหนังโฆษณาชิ้นหนึ่ง ที่มีผู้ชายสองคนวิ่งไล่กันอยู่ในน้ำทะเล วิ่งไล่กันไปไล่กันมา แล้วก็เปิดเพลงเท่ ๆ แล้วก็จบลงด้วยสินค้าตัวหนึ่ง “ไม่ได้ขายฮาร์ดเซลล์เลย เป็นการขายแอดติจูด เป็นการขายภาพพจน์ ผู้ชายสองคนมันวิ่งไล่ในกันทะเล ไล่เตะกัน มันใส่ชุดอะไรละ ก็นุ่งกางเกงขาสั้นคนละตัวถูกไหม กางเกงบอล ผมจำได้ว่าค่าเสื้อผ้าที่ต้องใช้ประมาณห้าหมื่น ขนาดแค่ชุดกางเกงบอล วันถ่ายทำมีกางเกงบอลแขวนเป็นราว ๆ มาให้เลือกเลย เยอะมาก แต่ผมใช้แค่สองตัว แล้วมันอยู่ในน้ำด้วย จริง ๆ ไม่ต้องใช้กางเกงยังได้เลย”

ผู้กำกับจากสายโฆษณาอย่างเขาจึงตั้งคำถามว่า “แล้วไอ้กางเกงที่มาให้เลือกเยอะมากนี่มันคืออะไรละ ไม่มีใครรู้สึกว่ามันผิดปกติ ใคร ๆ ก็ทำกัน นี่จึงเป็นสัญญาณว่ามันจะถล่มลงมาแน่ ๆ เลย”  อาจเป็นเพราะเป็นเอกมีสไตล์การทำงานแบบทำงานน้อย ๆ ใช้เงินน้อย ๆ มาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งเขาบอกว่าค่าตอบแทนมันสูงกว่าที่ใช้ในชีวิตจริง เขาจึงรอดตัวมาได้

“ผมเปรียบตัวเองเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่ต่อให้เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีเราก็ขายได้ เพราะเราขายอยู่แค่นี้ ไม่เคยป๊อปถึงขั้นขายเอาร่ำรวย แต่ลูกค้าก็กินตลอด” เป็นเอกระบุ

แม้สังคมไทยไม่ค่อยมีการศึกษาวิกฤตเป็นบทเรียน แต่สำหรับเป็นเอก การที่คนวงการโฆษณาถูกเลย์ออฟ กลับเป็นประเด็นให้เขาทำเรื่องตลก 69  วันหนึ่งหลังต้มยำกุ้งผ่านไปหลายปี เขาเจอเพื่อนที่ถูกเลย์ออฟคนนั้นที่ห้างเอ็มโพเรี่ยม มาเปิดร้านขายผ้าไทยและบอกว่าขายดีมาก เพราะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าสูงได้ เช่น ซื้องานคราฟต์ราคาสิบบาทไปขายต่อให้ฝรั่งร้อยหนึ่งอะไรแบบนี้ เพื่อนที่ถูกเลย์ออฟตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง มาตอนนี้กลับมีความสุขมีทั้งเงินแถมยังได้ท่องเที่ยว

“เขา ตอนอยู่บริษัทเขาก็ไม่ได้เป็นสตาร์โดดเด่นอะไรเพราะเขาไม่ได้เก่ง แต่เขาไม่ค่อยมีความกะล่อนเหมือนคนโฆษณาทั่วไป เขาคิดช้า ทำช้า พูดช้า ลองนึกภาพถ้าเขาไม่ถูกเลย์ออฟ จากบริษัทโฆษณา ก็คงนึกภาพไม่ออกว่าจะมาอยู่ตรงจุดนี้ได้” เป็นเอกทิ้งท้ายถึงที่มาของการเกิด เรื่องตลก 69 หนังแบล็คคอเมดี้สุดคลาสสิคอีกเรื่องของวงการหนังไทย

2499 อันธพาลครองเมือง กลิ่นอายที่สังคมไทยสุดถวิล

“ผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ ฉะนั้นอะไรที่เรารู้หรือไม่รู้แต่อยากเล่าว่าคนเหล่านี้มีดีอะไร ก็อยากทำ” นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับที่มีผลงานจากยุคปี 2540 โดยเฉพาะ ‘นางนาก’ (2542)  และ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ (2540) ที่กวาดรายได้ถล่มทลาย บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำหนังช่วงนั้น

ด้วยความสงสัยว่าทำไมอันธพาลกลุ่มนี้ถึงมีชื่อเสียงมากในยุคนั้น เมื่อนนทรีย์ได้ค้นข้อมูลในอดีต จึงเห็นเรื่องราวพวกเขาขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกวัน และด้วยความอยากทำหนังแบบเรียลลิสติคสมเหตุสมผล ไม่อยากใช้นักแสดงมีชื่อเสียงในขณะนั้น เลยทำให้ราคาค่าผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่แพงมาก ทางนายทุนบอกเขาว่ามีงบประมาณให้หกล้านกว่าบาท คิดว่าการทำงานด้านโปรดักชั่นโฆษณามานาน ก็พอมีเพื่อนฝูงพวกพ้องที่จะมาช่วยเหลือกัน ขณะนั้นเลยบอกว่าทำได้ จึงเอาเงินตัวเองบวกเข้าไปอีกก็ประมาณสิบล้าน กระทั่งพอหนังถูกฉายมันก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทำเงินสูงสุดในประเทศตอนนั้น หนังเรื่องต่อมาของเขา (นางนาก) เลยได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากที่ได้ดูหนังวัยรุ่นซ้ำ ๆ จนเริ่มเบื่อวงการหนังว่าไม่ได้มีอะไรมากกว่าไปกว่านั้น และเชื่อว่ามันคงเป็นอารมณ์ร่วมของคนไทยในสมัยนั้นด้วยว่า สิ่งที่เขาเห็นแบบนี้ไม่ได้เห็นมานานแล้ว

“อย่างตอนปี 2499 มันย้ำภาพจำอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะคนอายุสัก 30 ปีขึ้นไป เขาอยากเห็นบรรยากาศเดิม ๆ มันมี อะไรแบบนี้นะ แล้วผมเชื่อว่าคนในครอบครัวคงมีการคุยกันว่ายุคสมัยของพ่อเป็นแบบนี้นะ แต่งตัวแบบนี้ พับแขนเสื้อแบบนี้ หนังเลยไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ตัววัยรุ่น กลุ่มเป้าหมายมันก็เลยกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ มันมีการย้ำถึงยุคสมัย โดยเฉพาะ 2499 มันไม่ได้ไกลมาก”

นนทรีย์ ยังเล่าอีกว่าในยุคเดียวกัน ถ้าเป็นกรณีของ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ของ วิศิษณ์ ศาสนเที่ยง ที่เป็นคนชอบดูหนังไทยโบราณมาก เขาเป็นคนบูชาครู ชอบหนังสมัยก่อน “วันที่เขาบอกอยากทำฟ้าทะลายโจร ไม่มีใครนึกออกเลยว่า ฟ้าทะลายโจรเขาคืออะไร จนกระทั่งเขาบอกมาว่าเป็นไทย ‘คาวบอยสไตล์’ เราก็อ๋อ เขาชอบงานแบบนี้ งานบูชาครู” และด้วยความที่เรียนศิลปะมาเขาก็จะเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาดัดแปลงให้เป็นตัวตนของเขาเอง มันก็เลยประสบความสำเร็จในแง่ของความแปลกใหม่ในอีกมุมมองหนึ่ง

หนังไทยอีกเรื่องหนึ่งอย่าง‘บางระจัน’ นนทรีย์เล่าเสริมว่าเป็นหนังมาถูกเวลา ถูกที่ ถูกทาง เพราะก่อนยุคที่บางระจันจะฉาย เป็นยุคที่ประเทศเราเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงมาก ก่อนจะเกิดฟองสบู่แตกของจริง ตอนนั้นทุกคนทำงานด้วยความสุขสบายใจ เพราะเฟื่องฟูมาก งานในแวดวงศิลปะ โฆษณา มิวสิควีดีโอก็เฟื่องฟูมาก เป็นยุคที่เติบโตของทุก ๆ คนหลังจากเราเรียนรู้ในปี 2530 พวกเราก็เติบโตขึ้นมา เราทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ขึ้นมาจนถึงประมาณปี 2537-2539

“เป็นยุคที่เฟื่องฟูจริง ๆ จำได้สมัยนั้น เพื่อนผมดื่มไวน์กันขวดละหมื่นกว่าบาท ตีกอล์ฟ ซื้อรถซื้อรากันแบบว่า โห! เป็นช่วงที่ทุกคนมีเงินสะพัดเต็มประเทศ ผมก็มีสตอรี่บอร์ดจากลูกค้าส่งมา ทั้งทางออฟฟิศ ทั้งทางบ้าน วางงานได้ตั้งแต่เดือนมกราคม งานเต็มไปจนถึงเดือนธันวาคม”

กระทั่งพอขึ้นปี 2540 เท่านั้นเอง ทุกอย่างมันก็พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ งานหดหาย ผู้คนเริ่มโวยวายว่าจากที่เคยกินไวน์ขวดละหมื่นเหลือมากินไวน์ขวดละพัน “มันมีลักษณะอาการโวยวายแบบนี้เต็มประเทศไปหมด หรือบางเจ้าของบริษัทที่ออกมาขายแซนวิชข้างถนน แบบพวกที่ทำใจได้ มีพี่ชายเพื่อนผมที่ไปตลาดหลักทรัพย์แล้วเอาปืนยิงตัวเองตาย มันเป็นวิกฤตที่พลิกชีวิตของมนุษย์เลย ณ เวลานั้น” ผู้กำกับผู้คร่ำหวอดหล่นประโยคสุดท้าย

‘บางระจัน’ ประจันหน้าสงครามและเพรียกหาสามัคคี

เมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘บางระจัน’ (2543) เข้าฉาย ก็เป็นที่ยอดนิยมอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพราะวีรกรรมของบุคคลระดับชาวบ้านที่ง่ายต่อการเข้าใจ ประกอบกับช่วงเวลานั้นใกล้จะถึงการเลือกตั้ง 6 ม.ค. 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ได้รับการกล่าวกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมร่างมากที่สุดในขณะนั้น

ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับเล่าว่าเพราะอยากทำหนังแอคชั่นให้ออกมาประทับใจ ตอนนั้นไปเดินกับเพื่อนแถวสยามสแควร์ เห็นร้านชื่อ’หมึกจีน’ติดโปสเตอร์ใบหนึ่งพื้นท้องฟ้าเป็นสีแดง กรุตัวอักษรที่มีรูปนักรบเป็นสีขาวเด่นชัด ตัวอักษรนั้นเขียนว่า ‘บางระจัน’ จึงมีความรู้สึกว่านี่เป็นภาพที่ทำให้เขาอยากทำหนังแอคชั่นขึ้นมา “ตอนนั้นทำแค่หนังสงครามที่เราอยากทำ เรารู้สึกว่าอยากถ่ายทอดยังไงบ้าง ในขณะที่เรามีข้อมูลอ้างอิงหนังเยอะ เราไปค้นพบอันหนึ่งว่าผู้กำกับต่างชาติคนหนึ่งเคยพูดว่าเขาจะเอาความรุนแรงต่อต้านความรุนแรง เราเลยคิดว่าจะทำหนังเรื่องนี้ให้มันถึง”

ด้วยคอนเซปท์ที่อยากเน้นเรื่องความสมจริงของการทำสงคราม เพื่อให้คนดูเข้าถึงได้ว่าการทำสงครามมันโหดร้ายแค่ไหน “ช่วงนั้นสังคมมันเคว้งคว้างหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนไม่เจอ อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจในช่วงนั้นมันทำให้เกิดการล่มสลาย การฆ่าตัวตายหนีปัญหา ซึ่งการที่หนังออกในช่วงนั้น มันไปกระทบจิตใจผู้คนว่ายังมีเรื่องราวที่บางคนเขาต่อสู้ หนังเลยไปปลุกจิตสำนึกของคนว่า เราสามารถชนะได้ถ้าเราร่วมมือกัน บางระจันเลยเป็นเซ้นส์หนังรักชาติไปเฉยเลย” ผู้กำกับแถวสรุปมุมมองต่อหนังของเขา

‘ฟ้าทะลายโจร’ การตามหาอัตลักษณ์ไทยในแผนที่โลก

เรื่องราวความรักที่ผู้สร้างใช้คำอธิบายว่า "รักซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศ” อิงแอบภาพยนตร์คาวบอยย้อนยุค เหมือนหนังคาวบอยไทยในอดีต ผู้กำกับจงใจเขียนบทให้ใช้คำพูดเชย ๆ และใช้เทคนิคพิเศษย้อมสีภาพยนตร์ให้ฉูดฉาดสีจัดเกินจริง

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เผยว่า ‘ฟ้าทะลายโจร’ (2543) มาจากความชอบส่วนตัว ในการดูหนังไทยตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นความบันเทิงราคาถูก ยิ่งหนังกางแปลงยุค ‘มิตร –เพชรา’ ความรู้สึกนึกคิดขณะทำหนังเรื่องแรกของเขาคือ อยากรวมความชอบในอดีต ทั้งเพลงเก่า ภาพยนตร์เก่า ด้วยมุมมองใหม่ให้คนรุ่นใหม่ดู เหมือนอยากบันทึกประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยให้อยู่ในเรื่องเดียวกันทั้งหมด วิธีการเฉพาะตัวของเขากับเรื่องนี้คือ ย้อนกลับไปหาอดีต สำรวจเพื่อต่อยอดงานเก่า ๆ แล้วนำมาสู่ความทันสมัยในแบบฉบับตัวเอง เกิดเป็นฟ้าทะลาย

เมื่อพูดถึงหนังโฆษณาในยุคฟองสบู่แตกนั้น เขาเล่าย้อนไปว่าเป็นลักษณะการให้กำลังใจให้ความหวัง อยากให้คนลุกขึ้นมา มีการสอนการใช้เงิน “มันจะพูดเรื่องอย่างนี้กันเยอะมากช่วงนั้น พยายามปลุกความหวัง ปลุกความเชื่อ คำว่าพอเพียงจะเริ่มมาจากแถวนั้น กลับไปหาชีวิตแบบเดิม ๆ ดีกว่าไหม โฆษณาสร้างให้คนฟุ้งเฟ้อ พอมันฟุบปุ๊ป ก็กลายเป็นอีกแบบ กลับไปใช้ชีวิตพอเพียงดีกว่า อาจจะเป็นแรกยุคที่ผู้คนอยากออกไปแสวงหาชีวิตที่ดั้งเดิมก็ได้” วิศิษฏ์ ระบุ

เขายอมรับว่า ตอนหลังมาคิดว่ามันไม่ใช่แค่นั้น แต่อาจเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้มีการวางแผนการพัฒนาที่ถูกต้อง คนไทยปล่อยเศรษฐกิจไปอยู่ในมือคนบางคนที่บริหารจัดการไม่เป็น หรือในประเด็นการพัฒนา “ถ้าพัฒนาดีมันจะยั่งยืน อย่างน้อยทุกคนจะฟื้นมาพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่บางคนฟื้นบางคนสลบอยู่อะไรแบบนี้” ผู้กำกับหนังสุดเซอร์เรียลกล่าวทิ้งท้ายถึงบทเรียนและบาดแผลทางอารมณ์ที่ย้ำชัดว่า สังคมไทยไม่ควรจะกลับไปซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อสองทศวรรษนั้นอีก

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ภาพยนตร์ไทยที่ฉายระหว่างปี 2540-2543

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: