คนไทยรู้ยัง: แรงงานพม่า ตจว. ใช้จ่ายค่า‘อาหาร-ที่พัก’มากที่สุด 156 บาท/วัน

ทีมข่าว TCIJ : 8 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6006 ครั้ง

ผลสำรวจแรงงานจากพม่า 312 คน ที่ทำงานใน จ.ตาก กาญจนบุรี และสมุทรสาคร พบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่จ่ายไปกับค่าอาหารเฉลี่ยวันละ 102 บาท รองลงมาคือค่าที่พัก 54 บาท (รวมกัน 156 บาท) ตามมาด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 39 บาท ค่ายา 29 บาท  ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

รายงานวิจัยเรื่อง 'แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากประเทศใน AEC กับนัยทางการคลังสำหรับประเทศไทย' (Unskilled Migrant Workforce from AEC Countries and Fiscal Implications for Thailand) โดย รศ. ดร. เอื้อมพร พิชัยสนิธ และ รศ.ดร.กิริยา กุลกลกาล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (เริ่มโครงการวิจัยเมื่อ มิ.ย. 2558 เผยแพร่งานวิจัยเมื่อ มี.ค. 2560) ได้ทำการศึกษาแรงงานข้ามชาติจากพม่า 312 คน (มีทั้งชาติพันธุ์ พม่า มอญ กะเหรี่ยง ทวาย ไทใหญ่ ยะไข่ ปะโอ คะเรนนี และตองสู) ที่ทำงานใน จ.ตาก กาญจนบุรี และสมุทรสาคร พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

เหตุผลที่แรงงานต่างชาติเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย อันดับหนึ่งคือเนื่องจากความยากจน รองลงมาคือค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยสูงกว่าประเทศต้นทาง เหตุผลที่สามคือการเมืองในประเทศบ้านเกิดไม่สงบ เหตุผลอื่น ๆ อาทิ ติดตามพ่อ-แม่ เพื่อนหรือครอบครัวเข้ามา, รู้จักนายจ้าง, ไม่มีงานทำที่ประเทศของตน หางานที่ประเทศไทยง่ายกว่า, ในประเทศบ้านเกิดมีโอกาสทำงานน้อย ส่วนเหตุผลที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพราะสวัสดิการที่ได้รับจากรัฐบาลไทย พบมีจำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 94.89 ทำงานสัปดาห์ละ 6-7 วัน มีเพียงร้อยละ 2.24 เท่านั้นที่ทำงานต่ำกว่า 5 วันต่อสัปดาห์

ประเภทงานที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยที่สูงที่สุด คือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร คิดเป็นร้อยละ 28.12 รองลงมา คือทำงานก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 25.56 ส่วน อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น โรงงานผลิตน้ำดื่ม, ช่างไฟในโรงงาน, โรงงานพลาสติก, โรงงานรองเท้า, โรงงานทำโครงเหล็ก และโรงงานเฟอร์นิเจอร์ มีประมาณร้อยละ 5.43 และงานอื่น ๆ เช่น ช่างแกะสลักไม้ หรือทำงานในร้านขายข้าวสาร อีกร้อยละ 0.64 แรงงานต่างชาติกว่าร้อยละ 46.13 ทำงานประจำที่รับค่าจ้างเป็นรายวัน อีกร้อยละ 28.39 ทำงานประจำเช่นกันแต่รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ส่วนแรงงานที่ทำงานชั่วคราวมีถึงร้อยละ 18.39 รับเป็นค่าจ้างรายวันร้อยละ 14.52 และรับค่าจ้างเป็นแบบเหมาจ่ายร้อยละ 3.87 นอกจากนี้ยังมีแรงงานกว่าร้อยละ 7.10 ที่มีลักษณะงานอื่น ๆ เช่น งานประจำ, จ่ายค่าจ้างแบบเหมาชิ้นงาน, รับจ้างทั่วไป, งานรายวันจ่ายค่าจ้างรายเดือน, ขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่ทำไม่ระบุตายตัว, แล้วแต่ผู้ว่าจ้าง และแล้วแต่ผู้มาใช้บริการเหมาจ่าย

ค่าจ้างที่แรงงานต่างชาติได้รับส่วนใหญ่วันละ 251-300 บาท หรือเดือนละ 7,500-9,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.89 รองลงมา คือได้รับค่าจ้างวันละ 100-200 บาท หรือเดือนละ 3,000-6,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 29.07 นอกจากนี้ พบว่ามีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างลักษณะนอกเหนือจากที่ระบุ เช่น ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันวันละประมาณ 301 -500 บาท หรือได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนประมาณเดือนละ 10,000 – 20,000 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15.34 ของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ตอบแบบสอบถาม ด้านสวัสดิการต่าง ๆ ที่แรงงานข้ามชาติได้รับจากนายจ้างมีทั้งในรูปของที่พัก, อาหารและน้ำดื่ม, ยารักษาโรค, ค่ารักษาพยาบาล, เครื่องแบบและเครื่องแต่งกาย และค่าเดินทาง ในด้านวันหยุดส่วนใหญ่มีวันหยุดเฉลี่ย 4 วันต่อเดือน ส่วนค่าล่วงเวลาเฉลี่ยชั่วโมงละ 57 บาท

ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเฉลี่ยต่อวันของแรงงานข้ามชาติอยู่ที่ประมาณวันละ 126 บาท โดยค่าใช้จ่ายต่ำสุดอยู่ที่วันละ 10 บาท และสูงสุดคือประมาณวันละ 457 บาท เมื่อพิจารณาแยกตามรายการค่าใช้จ่าย พบว่าแรงงานเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงสุดในเรื่องค่าอาหารเฉลี่ยวันละ 102 บาท รองลงมาคือค่าที่พักเฉลี่ยวันละ 54 บาท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เช่น เหล้า เบียร์) เฉลี่ยวันละ 39 บาท ค่ายา (ยาดม ยาหอม ยาหม่อง ยาลดไข้ฯ) เฉลี่ยวันละ 29 บาท เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ (เช่น น้ำ น้ำอัดลม) เฉลี่ยวันละ 28 บาท ค่าบุหรี่ ยาสูบ เฉลี่ยวันละ 27 บาท เสื้อผ้า เครื่องประดับ เฉลี่ยวันละ 26 บาท ค่าเดินทางเฉลี่ยวันละ 20 บาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าขนม ค่าน้ำมันรถ ให้ลูกไปโรงเรียน ค่าหมาก ของใช้ เป็นต้น อีกวันละประมาณ 19 บาท

แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเหล่านี้ ในแต่ละเดือนจะส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิดเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,919 บาท โดยจำนวนเงินมีตั้งแต่ประมาณเดือนละ 500 ถึง 9,000 บาท ซึ่งลักษณะการส่งเงินมีทั้งส่งแบบรายเดือน รายไตรมาส ราย 4 เดือน ราย 6 เดือน และรายปี ช่องทางที่แรงงานข้ามชาติใช้ส่งเงินกลับไปยังประเทศบ้านเกิดส่วนใหญ่ร้อยละ 56.08 คือผ่านนายหน้า รองลงมาคือฝากญาติ ร้อยละ 24.32 มีเพียงร้อยละ 1.35 เท่านั้นที่เดินทางนำกลับไปเองนอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติยังมีช่องทางอื่น ๆ อีกที่จะส่งเงินกลับไปยังประเทศบ้านเกิดที่สะดวกและรวดเร็วกว่า โดยการฝากผ่านธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 18.24 เท่านั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: