เด็กไทยเสี่ยงตาย! ‘เบาะนิรภัย’ ไม่แพร่หลาย เหตุ ‘กฎหมายไม่บังคับ-ภาษีนำเข้าแพง’

ทีมข่าว TCIJ : 8 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 5477 ครั้ง

หลายประเทศในโลกมีกฎหมายบังคับใช้ ‘เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์’ ส่วนเด็กไทยได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยปีละ 4,000 คน เสียชีวิตจากการโดยสารรถยนต์100 กว่าคนต่อปี พบติดเบาะนิรภัยแค่ 1% เหตุมีราคาแพงเพราะภาษีนำเข้าอัตราสูง ผู้ปกครองรับได้ที่ราคาไม่เกิน 2 หมื่น ขอรัฐออกกฎหมายบังคับ-ลดภาษีนำเข้า ด้านบุคลากรการแพทย์เสนอให้สร้างความตระหนักรู้ตั้งฝากครรภ์ รัฐควรมีสวัสดิการช่วยประชาชนให้เข้าถึงเบาะนิรภัยได้แพร่หลายมากขึ้น ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

รู้หรือไม่ว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของเด็กในประเทศไทยนั้นอันดับแรกคือการ 'จมน้ำ' ส่วนลำดับที่ตามมาก็คือ 'อุบัติเหตุทางถนน' โดยสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยจากรายงานของสำนักระบาดวิทยากระทรวงสาธารณสุข ที่เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 33 แห่ง ระหว่างปี  2553-2556 พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่เป็นผู้โดยสารรถชนิดต่าง ๆ ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจำนวน 15,843 ราย หรือเฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 4,000 คน เมื่อพิจารณาตามประเภทรถพบว่าเด็กได้รับ ‘บาดเจ็บรุนแรง’ จากการโดยสาร ‘รถปิคอัพ’ เฉลี่ยปีละเกือบ 2,000 ราย ‘รถเก๋ง’ เฉลี่ยปีละ 400 ราย และเด็กไทยยัง ‘เสียชีวิต’ จากการโดยสารรถปิคอัพและรถเก๋งนี้เฉลี่ยถึงปีละ 100 กว่าราย

จากการประเมินโดยองค์การอนามัยโลกพบว่าแม้ไทยจะมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนน ตามมาตรฐานสากล เช่น มีการบังคับใช้กฎหมายคาดเข็มขัดนิรภัยและการใช้หมวกนิรภัย แต่ก็มีการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนี้เพียงร้อยละ 60 อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ และมีการประเมินได้ว่าปัจจุบันมีการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ผลศึกษาพบอุปสรรคของผู้ปกครองมีเพียบ

จากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ 'เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์: กรณีศึกษาของประเทศไทย' ของวิทยา ชาติบัญชาชัย และคณะ ได้ทำการศึกษาในพื้นที่นำร่องโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลตรัง และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โดยการเก็บข้อมูลจากการที่ผู้ปกครองได้ทดลองใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์สำหรับอายุต่ำกว่า 1 ปี ในช่วงเดือน ก.ค. 2557 -มิ.ย. 2558 จำนวน 120 ราย พบข้อมูลที่สำคัญในด้านอุปสรรคคือส่วนใหญ่ผู้ปกครองระบุว่าขาดความมั่นใจมากร้อยละ 65.8 รู้สึกว่าเสียเวลา ร้อยละ 61.7 ระบุว่ามีอุปสรรคเพราะพ่อแม่ขาดความรู้ ร้อยละ 55.8 มีอุปสรรคเพราะจากสภาพแวดล้อมในรถยนต์ไม่เหมาะสม ร้อยละ 55.8 มีอุปสรรคเพราะความไม่สะดวกในการติดตั้ง ร้อยละ 52.5 และมีอุปสรรคเพราะเด็กไม่สบายตัว/ไม่ให้ความร่วมมือมากที่สุด ร้อยละ 45.8

นอกจากนี้ผู้ปกครองมีความเห็นว่ารัฐบาลควรออกออกกฎระเบียบให้ผู้ปกครองต้องใช้เบาะนิรภัย ร้อยละ 90.8 แต่ก็ยังคิดว่าเบาะนิรภัยสำหรับเด็กราคาแพงเกินไป ถึงร้อยละ 81.7 และเห็นว่ารัฐบาลควรลดภาษีนำเข้าของเบาะนิรภัย ร้อยละ 97.5 โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ประมาณ 4,000 – 6,000 บาท หรือไม่เกิน 20,000 บาท และเบาะนิรภัยมือ 2 ราคาไม่ควรเกิน 3,000 บาท

ราคาแพงเพราะภาษีนำเข้า

นอกจากนี้ในการแถลงข่าวเรื่องการใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์โดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ในช่วงระหว่างสัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนของสหประชาชาติ เมื่อเดือน พ.ค. 2558 ตัวแทนบริษัทจำหน่ายรถยนต์ชั้นนำในไทยอย่าง TOYOTA และ HONDA ได้ให้ความเห็นว่ามีความเห็นว่าแต่เดิมทางผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ก็ได้เคยมีการเสนอทางเลือกในการแจกเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์เหมือนกัน แต่ว่าส่วนใหญ่ลูกค้าที่ซื้อรถจะเลือกของแถมเป็นประกันภัยหรือของตกแต่งรถมากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงเวลาที่ซื้อรถนั้นบุคคลในบ้านไม่ได้มีการตั้งครรภ์หรือเป็นเด็กเล็ก การไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ และไม่เคยทราบหรือรับรู้เกี่ยวกับเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์เลย ส่วนตัวแทนของบริษัท Kiddo Pacific ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เบาะนิรภัยสำหรับเด็กเปิดเผยว่าราคาเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในปัจจุบันถือว่าสูงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากภาษีนำเข้าโดยราคาขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ไปจนถึง 30,000 บาท แล้วแต่คุณภาพและอุปกรณ์เสริม ส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่นิยมติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก เพราะมองว่าเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือยดังนั้น หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมความปลอดภัย ก็ควรออกกฎหมายติดตั้งเบาะนิรภัยในรถยนต์ พร้อมสนับสนุนผู้นำเข้าเบาะนิรภัย ด้วยการลดภาษีลงรวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับบริษัทรถยนต์

และจากข้อมูลในปี 2554 พบว่าตลาดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์นั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้ามีมาตรฐานระดับโลก (ผลิตในยุโรปมีต้นทุนภาษีนำเข้าสูงประมาณ 25-30%) และ 2.กลุ่มผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนที่มีราคาจำหน่ายที่ถูกกว่า (เนื่องจากอัตราภาษี 0%) ทั้งนี้การนำเข้าสินค้าในปัจจุบันนั้นยังไม่มีหน่วยงานจากภาครัฐที่จะกำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ ทำให้ผู้บริโภคอาจจะได้ใช้สินค้าที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานหรือมีรูปแบบการใช้งานที่ไม่เหมาะสมกับการติดตั้งในรถยนต์ และไม่สามารถลดอัตราการสูญเสียจากอุบัติเหตุแก่เด็กในรถยนต์ได้ [ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 - 24 ก.ค. 2554]

งานศึกษาจากต่างประเทศ

องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่าเบาะนิรภัยสามารถช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กทารกได้ถึงร้อยละ 70 และร้อยละ 54-80 สำหรับเด็กโต ในปัจจุบันประเทศทั่วโลกมากกว่า 96 ประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง มีการบังคับใช้กฎหมายเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับประเด็นนี้ ที่มาภาพประกอบ: health.mil

ในหลายประเทศได้มีมาตรการป้องกันผู้โดยสารรวมทั้งเด็กไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้หมวกนิรภัยสำหรับเด็กเมื่อขับขี่รถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์และใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่าเบาะนิรภัยสามารถช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กทารกได้ถึงร้อยละ 70 และร้อยละ 54-80 สำหรับเด็กโต แต่ปัจจุบันมีเพียง 96 ประเทศในโลกเท่านั้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงที่มีการบังคับใช้กฎหมายเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางยังมีการบังคับใช้กฎหมายนี้น้อย และแม้นว่าหลายประเทศได้มีการดำเนินการในการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์แล้วก็ตาม ประมาณการว่าข้อบังคับการใช้เบาะนิรภัยมีการปฏิบัติตามเพียงร้อยละ 32 ของประชากรทั่วโลกเท่านั้น โดยในรายงาน 'เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์: กรณีศึกษาของประเทศไทย' ได้รวบรวมตัวอย่างงานศึกษาจากต่างประเทศไว้เป็นตัวอย่างดังนี้

สหรัฐอเมริกา มีผลการศึกษาเกี่ยวกับอุบัติเหตุในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 11 ปี จำนวน 5,972 ราย พบว่าเด็กที่ไม่ได้รับการยึดเหนี่ยวไว้จากเบาะนั่งนิรภัยหรือเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธีจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่รุนแรงเป็น 2 เท่าของเด็กที่ถูกยึดเหนี่ยวไว้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้เด็กอายุ 0-11 ปี จำนวน 129 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน และถูกนำส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลพบว่าเด็กที่นั่งโดยสารเบาะด้านหน้ารถยนต์ และไม่ได้ใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บรุนแรง สูงถึง 5 เท่าของเด็กที่นั่งเบาะหลังของรถยนต์และใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก 

ญี่ปุ่น มีการศึกษาการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุทางถนนก่อนและหลังการบังคับใช้กฎหมายเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ของ พบว่าภาพรวมมีการใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามพบว่าอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุทางถนนไมได้มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นเพราะว่าการใช้งานเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการสนับสนุนด้านความปลอดภัยการสร้างความตระหนักด้านสุขภาพชุมชนในประเด็นเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์จะช่วยลดโอกาสของการบาดเจ็บ ซึ่งการดำเนินการรณรงค์เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ในระดับชุมชนที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่

กรีซ พบว่าเด็กอายุ 0-11 ขวบที่นั่งโดยสารตรงเบาะนั่งด้านหน้าและไม่ได้ใช้ที่นั่งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บมากกว่ากลุ่มที่นั่งด้านหลังและใช้เบาะนั่งนิรภัยถึง 5 เท่าตัว 

จีน พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ของกลุ่มตัวอย่างคือการได้รับความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ของผู้ปกครอง และการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของประชาชน ดังนั้นจึงได้เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประชาสัมพันธ์ และให้เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ของเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์เข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียนสอนขับรถ และการขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงความสำคัญของเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์

อาร์เจนตินา มีการศึกษาเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ พบว่าเด็กอายุที่ต่ำกว่า 8 ปี มีขนาดร่างกายเล็กไม่สามารถที่จะใช้ระบบเข็มขัดนิรภัยตามปกติได้ต้องใช้ระบบเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมีนัยสำคัญในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตถึงแม้ว่าประเทศอาร์เจนตินายังไม่มีกฎหมายเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ แต่กุมารแพทย์ควรแนะนำให้ผู้ปกครองได้เข้าใจและใช้เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์

อิหร่าน มีการศึกษาเกี่ยวกับความเต็มใจในการซื้อเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์พบว่าความสามารถที่เต็มใจในการจ่ายสำหรับเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงของเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ และมีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่ยอมจ่ายเพื่อเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ทั้งนี้รายได้ของครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการเต็มใจจ่าย ดังนั้นผู้ที่มีรายได้ต่ำจึงเป็นส่วนน้อยที่จะเต็มใจจ่ายสำหรับเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ ซึ่งต้องมีการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการให้เงินอุดหนุน การให้เช่า และความครอบคลุมของหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ประชนชนที่มีรายได้ต่ำเข้าถึงเบาะนิรภัยได้

 

ยังไม่บังคับเป็นกฎหมาย กรมการขนส่งทางบกชี้ขอศึกษาก่อน

เมื่อเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมามีการแชร์คลิปเหตุการณ์ขณะรถเก๋งสีขาวคันหนึ่งจอดติดไฟแดงอยู่บริเวณถนนก่อนถึง 4 แยกมีนบุรี มุ่งหน้าตลาดมีนบุรี แล้วมีเด็กน้อยอายุประมาน 1-2 ขวบ เปิดประตูรถฝั่งตรงข้ามคนขับร่างร่วงลงมาบนถนนขณะนั้นรถเก๋งเคลื่อนตัวพอดี ซึ่งคลิปนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมกลับมาพูดถึงเบาะนิรภัยสำหรับเด็กอีกครั้งหนึ่ง

ต่อเหตุการณ์นี้นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ให้ความเห็นว่าขณะนี้เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้รถส่วนบุคคลต้องติดตั้งอุปกรณ์เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ (Car Seat) แต่เบื้องต้นมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ ในเรื่องดังกล่าวให้ไปศึกษาข้อมูลติดตั้งอุปกรณ์ที่นั่งสำหรับเด็กภายในรถยนต์ เพื่อให้มีการพัฒนาเท่ากับมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยการศึกษานี้ได้นำตัวอย่างในประเทศแถบยุโรปต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานสากลการติดตั้งอุปกรณ์ที่นั่งสำหรับเด็ก ทั้งเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น อายุเด็กที่โดยสาร ควรติดตั้งตำแหน่งไหนเหมาะสม ขนาดที่นั่งสำหรับเด็ก วิธีการติดตั้ง รวมทั้งรูปแบบเข็มขัดนิรภัย ทั้งนี้มาตรฐานสากลส่วนใหญ่นิยมติดไว้ที่ด้านหลังของคนขับ โดยอุปกรณ์ที่นั่งสำหรับเด็กนำมาติดยึดกับเบาะอีกครั้ง ซึ่งมีความพอดีกับช่วงตัวของเด็ก และมักใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นครอบครัวและมีเด็กมากกว่ารถสาธารณะ ซึ่งผลการศึกษาที่ได้รวบรวมไว้นำมาพิจารณาเตรียมปรับใช้กับไทยในอนาคตหากต้องออกกฎหมายกำหนดให้รถส่วนบุคคลต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่นั่งสำหรับเด็ก นอกจากนี้ติดตั้งอุปกรณ์ที่นั่งสำหรับเด็ก จะช่วยป้องกันการกันกระแทก และมีความปลอดภัยมากขึ้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องดังกล่าวใช้ [ข้อมูลจากเว็บไซต์เว็บไซต์เดลินิวส์ 11 ส.ค. 2560]

บุคลากรด้านการแพทย์เสนอให้บังคับใช้กฎหมาย

ส่วนความเห็นของบุคคลากรในโรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลตรัง และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ 'เบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์: กรณีศึกษาของประเทศไทย'  ได้เสนอแนวทางให้การผลักดันให้เกิดนโยบายและกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ในอนาคต ซึ่งก่อนการกำหนดเป็นกฎหมายควรมีกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักให้กับประชาชนเห็นความสำคัญของการใช้เบาะนิรภัย โดยเสนอรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณ และออกสื่ออรณรงค์ทางโทรทัศน์ ให้ความรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เบาะนิรภัย และโรงพยาบาลควรมีบทบาทมากกว่านี้ในการประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ตอนแม่มาฝากครรภ์ และสร้างการตระหนักการใช้เบาะนิรภัยโดยให้ความรู้ตั้งแต่โรงพยาบาล

ในด้านการเข้าถึงเบาะนิรภัยรัฐบาลควรมีการจัดสวัสดิการ โดยองค์กรหรือหน่วยงานมาสนับสนุนจะช่วยให้ความสามารถในการหาเบาะมาใช้จะเป็นไปได้มากขึ้น เช่น มีสวัสดิการช่วยจ่ายค่าเบาะ, ให้แถมมากับรถเลย, โรงพยาบาลน่าจะมีส่วนช่วยในการซื้อควรมีองค์กรมารณรงค์ช่วย, การมีเบาะมือสอง, มีระบบเงินผ่อน และแถมมากับรถแทนการแถมของอย่างอื่น เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลควรให้การสนับสนุนในเรื่องของราคาเบาะนิรภัยให้ถูกลงโดยปรับลดภาษีนำเข้า แต่ต้องได้คุณภาพและได้มาตรฐาน และรัฐบาลควรจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการรถยนต์ติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์มาพร้อมกับการซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงอย่างต่ำ 1 เบาะต่อรถยนต์หนึ่งคัน เช่นเดียวกับการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย การติดตั้งถุงลมนิรภัยในรถยนต์ ซึ่งไม่กระทบต่อผลกำไรของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และการกำหนดนโยบายแบบนี้จะทำให้รถยนต์ทุกคัน ออกแบบให้สามารถติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กได้ทุกคันโดยไม่มีข้อแม้

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ข้อควรปฏิบัติในการขับรถหากต้องเดินทางกับเด็ก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: