ส่องบรรษัท: ทำความรู้จัก ‘BTS Group’ ในวันขึ้นราคาค่าโดยสาร

ทีมข่าว TCIJ : 8 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 7098 ครั้ง

ทำความรู้จัก 'BTS Group Holdings' บริษัทแม่ของรถไฟฟ้า BTS หลังประกาศขึ้นราคาค่าโดยสาร 1 ต.ค. 2560 นี้ พบติดอันดับ 50 บริษัทใหญ่ที่สุดของไทย มีมูลค่าตลาดถึง 1.02 แสนล้านบาท นอกจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชนแล้วยังมีธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านที่ใหญ่ที่สุด, อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ Forbes Asia ประเมิน 'คีรี กาญจนพาสน์' ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีสินทรัพย์ถึง 5.08 หมื่นล้านบาท

เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 บริษัทฯ จะปรับขึ้นราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ในส่วนของเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร จากราคา 15 บาท – 42 บาท เป็น 16 บาท – 44 บาท โดยจะเรียกเก็บสถานีแรก 16 บาท สองสถานี ราคา 23 บาท สามสถานี ราคา 26 บาท สี่สถานี ราคา 30 บาท ห้าสถานี ราคา 33 บาท หกสถานี ราคา 37 บาท เจ็ดสถานี ราคา 40 บาท แปดสถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท ซึ่งอัตราใหม่นี้เพิ่มขึ้น 1 – 3 บาทเมื่อเทียบกับค่าโดยสารเดิม ทั้งนี้การปรับราคาค่าโดยสารใหม่ยังคงอยู่ต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานที่อยู่ในอัตรา 20.11 – 60.31 บาท ซึ่งการปรับอัตราค่าโดยสารครั้งนี้จะปรับราคาจำหน่ายเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทั้งสำหรับประเภทบุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นบัตรโดยสารราคาพิเศษด้วย โดยปรับขึ้นเที่ยวละ 1 บาท ดังนี้คือ สำหรับบุคคลทั่วไป ประเภท 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท และ 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท สำหรับนักเรียนนักศึกษา ประเภท 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท และ 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท

TCIJ ขอพาไปทำความรู้จักกับ บริษัท บีทีเอส กรุ้ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (หรือ BTS Group) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS กันดู

มหาอำนาจ 'ระบบขนส่ง’ ทำ ‘ธุรกิจโฆษณา-อสังหาริมทรัพย์-ธุรกิจบริการ’ ด้วย

BTS Group ไม่เพียงทำธุรกิจระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจโฆษณา-อสังหาริมทรัพย์และ ธุรกิจบริการด้วย ที่มาภาพประกอบ: รายงานประจำปี 2559/60 ของ BTS Group

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย [1] [2] (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 5/9/2560) ระบุว่าบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่อาคารทีเอสที ทาวเวอร์, 21 ซอยเฉยพ่วง ถนนวิภาวดี-รังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. ก่อตั้งเมือวันที่ 27 มี.ค. 2511 จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2534 ประกอบธุรกิจ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ (1) ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (2) ธุรกิจสื่อโฆษณา (3) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ (4) ธุรกิจบริการ  คณะกรรมการบริษัทฯ ประกอบด้วย 1.นายคีรี กาญจนพาสน์ (ประธานกรรมการ / ประธานคณะกรรมการบริหาร) 2.นายกวิน กาญจนพาสน์ (กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ / กรรมการ) 3.นายพอล ทง (กรรมการ) 4.นายอาณัติ อาภาภิรม (กรรมการ) 5.นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา (กรรมการ) 6.นายรังสิน กฤตลักษณ์ (กรรมการ) 7.นายชิ เคือง คง (กรรมการ) 8.นายจุลจิตต์ บุณยเกตุ (กรรมการ) 9.นายการุญ จันทรางศุ (กรรมการ) 10.พลโท พิศาล เทพสิทธา (กรรมการอิสระ / ประธานกรรมการตรวจสอบ) 11. นายสุจินต์ หวั่งหลี (กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ) 12.นายเจริญ วรรธนะสิน (กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ) 13. นายยิง ชิว เฮนรี่ ชอง (กรรมการอิสระ) และ 14. นางพิจิตรา มหาพล (กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก (ณ 4 ส.ค. 2560) ได้แก่ 1.นายคีรี กาญจนพาสน์ 3,281,164,652 หุ้น คิดเป็น 27.48% 2.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 931,996,481 หุ้น 7.81% 3.นายกวิน กาญจนพาสน์ 602,459,295 หุ้น 5.05% 4.ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 545,466,733 หุ้น 4.57% 5.บริษัท เค ทู เจ โฮลดิ้ง จำกัด 360,000,000 หุ้น 3.01% 6.UBS AG HONG KONG BRANCH 350,543,000 หุ้น 2.94% 7. CREDIT SUISSE AG, SINGAPORE BRANCH 260,000,000 หุ้น 2.18% 8. สำนักงานประกันสังคม 208,159,700 หุ้น 1.74% 9. UOB KAY HIAN PRIVATE LIMITED 164,153,103 หุ้น 1.37% และ 10.CHASE NOMINEES LIMITED 132,498,012 หุ้น 1.11% ทั้งนี้ BTS Group มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยคิดเป็น 57.36% (ณ 13 มิ.ย. 2560) การถือครองหุ้นต่างด้าวคิดเป็น 15.28% (ณ 4 ก.ย. 2560) และจากงบการเงิน ไตรมาส 1/2561 (30 มิ.ย. 2560) พบว่า BTS Group มีสินทรัพย์รวม 101,271.59 ล้านบาท หนี้สินรวม 54,030.43 ล้านบาท รายได้รวมจากงบปี 2560 (31 มี.ค. 2560) 10,405.77 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,003.48 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 1/2561 (30 มิ.ย. 2560) BTS Group มีรายได้รวม 3,440.28 ล้านบาท กำไรสุทธิ 404.59 ล้านบาท

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560/61 รายได้หลักของ BTS Group คือรายได้จากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (64%) ตามมาด้วยสื่อโฆษณา (27%) อสังหาริมทรัพย์ (5%) และธุรกิจบริการ (4%)

ใน รายงานประจำปี 2559/60 ของ BTS Group ระบุว่า BTS Group เป็นผู้นำในธุรกิจระบบขนส่งมวลชนที่ติดอันดับอยู่ใน 50 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ณ วันที่ 31 พ.ค. 2560 บริษัทฯ มีมูลค่าตามราคาตลาดถึง 1.02 แสนล้านบาท มีพนักงานรวมกันทั้งหมด 4,248 คน ปี 2559/60 มีรายได้จากการดำเนินงาน 8,606.2 ล้านบาท แบ่งการทำธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน, สื่อโฆษณา, อสังหาริมทรัพย์และบริการ

บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ BTS Group (โดยมีบริษัทฯ STEC และ RATCH ร่วมถือหุ้นในแต่ละบริษัท) ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองกับ รฟม. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 ที่มาภาพ: BTS Group

ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ในปี 2559/60 จำนวนผู้โดยสารรวมในส่วนรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักเพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อนหน้า เป็น 238 ล้านเที่ยวคน นับเป็นสถิติรายปีสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการ อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยในส่วนรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักเพิ่มขึ้น 1.3% จากปีก่อนหน้า เป็น 27.9 บาทต่อเที่ยว รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็น 1,661.0 ล้านบาท นอกจากนี้เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 BTSC ได้บรรลุข้อตกลงในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและใต้ระยะทางรวม 30.8 กิโลเมตร  ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 BTSC ได้เปิดให้บริการเดินรถสถานีสำโรง ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถานีแรกของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากการลงทุนในกองทุน BTSGIF (กองทุนลงทุนในรายได้ค่าโดยสารสุทธิของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพสายหลัก) เพิ่มขึ้น 11.5% จากปีก่อนหน้า เป็น 945.0 ล้านบาท เนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้นในส่วนของรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าระบบโมโนเรลสายสีชมพูและสายสีเหลือง ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ที่มีวงเงินลงทุนในทั้งสองโครงการกว่า 100,000 ล้านบาท BTS Group ได้เชิญบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เข้าร่วมลงทุนในนามกิจการร่วมค้า BSR ในการเข้าประกวดราคา ซึ่งต่อมา BSR ก็เป็นผู้ชนะการประมูลราคาทั้งสองเส้นทางนี้ ทั้งนี้ BTS Group ระบุว่ายังมีความพร้อมสำหรับการเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ จากโครงข่ายรถไฟฟ้าของไทยที่คาดว่าในปี 2572 จะเพิ่มขึ้นเป็น 515.2 กิโลเมตร (ปัจจุบันมีระยะทางอยู่ที่ 109.6 กิโลเมตร)

ธุรกิจสื่อโฆษณา ในปี 2559/60 ธุรกิจสื่อในเครือ BTS Group อย่างบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ได้กลายเป็นผู้ประกอบการสื่อโฆษณานอกบ้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีจอดิจิทัลมากกว่า 4,000 จุดทั่วประเทศและครอบคลุมหลากหลายแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นสื่อโฆษณาในระบบขนส่งมวลชน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน สนามบินในประเทศ (ทั้งสนามบินที่มีเที่ยวบินภายในประเทศและสนามบินที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ) นอกจานี้ VGI ยังได้เข้าซื้อกิจการภายในกลุ่มบริษัท กล่าวคือ บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ BSSH (ประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงินออนไลน์ อาทิเช่น การให้สินเชื่อบุคคล ธุรกิจขายประกันออนไลน์ ธุรกิจขายสินค้าและบริการผ่านทางโทรศัพท์–Telemarketing เป็นต้น) และบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทมจำกัด หรือ BSS (ประกอบธุรกิจให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตรแรบบิท ซึ่งปัจจุบันมีบัตรแรบบิทมากกว่า 7 ล้านใบในระบบโดยบัตรแรบบิทสามารถใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า BTS ใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการในร้านค้าพันธมิตรและผู้ให้บริการต่าง ๆ) การผนึกกำลังในครั้งนี้ทำให้สื่อในเครือ BTS Group สามารถนำเสนอรูปแบบการให้บริการ สื่อโฆษณาที่หลากหลายผ่านสื่อโฆษณานอกบ้านและธุรกิจบริการด้านดิจิทัล (สื่อออนไลน์) ภายใต้การดำเนินงานของ VGI และนอกจากนี้ VGI ยังได้ก้าวเข้าสู่ตลาดสื่อโฆษณาในต่างประเทศผ่านบริษัทร่วมทุน Titanium Compass Sdn Bhd บริษัทคู่ค้าในประเทศมาเลเซีย โดยเข้าไปบริหารสื่อโฆษณาในรถไฟฟ้าสาย Sungai Buloh-Kajang (SBK) หรือรถไฟฟ้าสาย Klang Valley MRT (KV MRT) ที่เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบในเดือน ก.ค. 2560

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2559/60 บริษัทในเครือ BTS Group ได้เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ และแสนสิริอีก 5 โครงการ โดยมีมูลค่าโครงการรวมกว่า 19,000 ล้านบาท ทำ ให้มีโครงการที่เปิดตัวไปแล้วทั้งหมดรวม 8 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 30,000 ล้านบาท ตามแผนจะมีอีกประมาณ 17 โครงการ ที่มีกำหนดการเปิดขายภายในปี 2564 โดยโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในแนวสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเอื้ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้อยู่อาศัย จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่ส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ เชิงพาณิชย์ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U City ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของ BTS Group ยังคงเติบโต ผ่านการเข้าซื้อกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้ประจำทั้งในและต่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2559 U City ได้เข้าซื้ออาคารสำนักงานให้เช่าระยะยาวกลางกรุงลอนดอนโดยมีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน ทั้งนี้ธุรกิจของ U City โดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในธุรกิจบริการ (Hospitality) อีกทั้งเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560 U City ยังได้เข้าซื้อกลุ่มโรงแรมในแถบยุโรปกว่า 9 ประเทศ ทั้งหมด 24 โรงแรม

ธุรกิจบริการ ในปัจจุบันประกอบด้วยธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมและธุรกิจร้านอาหารเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมนั้น ดำเนินงานผ่านบริษัท แอ๊บโซลูท โฮเท็ล เซอร์วิส จำกัด หรือ AHS ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ BTS Group โดย AHS นั้นเป็นบริษัทบริหารจัดการโรงแรมที่ใหญ่สูงสุดเป็นอันดับ 4 ในไทย (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 AHS มีจำนวนห้องพักภายใต้การบริหารถึง 9,350 ห้อง) และในส่วนธุรกิจห้องอาหาร เชฟแมนซึ่งเป็นห้องอาหารจีนระดับชั้นนำ (ณ วันที่ 31 มี.ค. 2560 ได้ขยายสาขาไปแล้วถึง 11 สาขา) ประกอบด้วยห้องอาหารหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหารจีนแนวใหม่ระดับพรีเมี่ยม (ห้องอาหาร M Krub) ห้องอาหารในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย (casual all-day dining) และห้องอาหารประเภทบุฟเฟต์ในศูนย์การค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังมีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนา

[คลิกดูข้อมูลบริษัทย่อย บริษัทร่วมและกิจการที่ควบคุมร่วมกัน ของ BTS Group (ตัดมาจาก รายงานประจำปี 2559/60 ของ BTS Group)]

รู้จัก 'คีรี กาญจนพาสน์' ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BTS Group

 

'คีรี กาญจนพาสน์' ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BTS Group จากการประเมินสินทรัพย์ของเขาโดย Forbes Asia ระบุว่ามีมูลค่ารวมถึง 5.08 หมื่นล้านบาท 

นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือน มี.ค. 2560 ได้ระบุว่า 'คีรี กาญจนพาสน์' ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BTS Group พื้นเพเป็นลูกของชาวจีนที่อพยพมาสู่ประเทศไทย ในอดีตครอบครัวของเขาเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวจากการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในย่านเยาวราช ก่อนจะย้ายไปทำธุรกิจที่ฮ่องกง พ่อของเขาได้ก่อตั้งร้านขายนาฬิกาที่ต่อมามีสาขามากกว่า 400 แห่งทั่วฮ่องกง จีน มาเก๊า และไทย รวมทั้งประสบความสำเร็จกับร้านแว่น Optical 88 ที่มีสาขาทั่วเอเชียด้วยเช่นกัน  คีรีตามครอบครัวไปฮ่องกงในวัย 13 ปี และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 30 ปี ได้เริ่มทำธุรกิจหลายอย่าง แต่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดก็เห็นจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับชุดกีฬา บริษัทจัดจำหน่ายชุดกีฬาของเขาได้สิทธิ์จัดจำหน่ายแบรนด์ Puma แต่เพียงเจ้าเดียวทั่วเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น

คีรีกลับมาทำธุรกิจในไทยกับพี่ชายของเขา ‘อนันต์ กาญจนพาสน์’ ทั้งคู่เริ่มทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยการสะสมที่ดิน เนื่องจากราคาที่ดินในไทยถูกกว่าฮ่องกงเป็นอย่างมาก ต่อมาคีรีได้ก่อตั้ง บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) (ซึ่งก็คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC บริษัทในเครือของ BTS Group ในเวลาต่อมา) ส่วนอนันต์พี่ชายของเขาก็ได้บุกเบิก บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ทั้งสองได้กลายมาเป็นบริษัทคู่แข่งกันเองในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย ในปี 2533 กรุงเทพมหานคร ได้เปิดประมูลโครงการทางด่วนและระบบรถไฟฟ้า 3 ระบบ โดยบริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ของคีรี, บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ของอนันต์ และ Hopewell Holdings ของมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง Gordon Wu ต่างประมูลชนะกันได้บริษัทละระบบ แต่โครงการของบางกอกแลนด์และ Hopewell ต่างต้องมีอันเป็นไปก่อนที่รถไฟฟ้า BTS ของคีรีจะสร้างเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือน ธ.ค. 2542 และดำเนินธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ Forbes Asia ประเมินว่าสินทรัพย์สุทธิของคีรีมีมูลค่ารวมถึง 5.08 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์กันว่ากำไรของ BTS Group น่าจะเติบโตยิ่งขึ้นเมื่อคว้าโครงการใหม่มาอยู่ในมือ

 

หุ้น BTS วิ่งฉิว หลังประกาศขึ้นค่าโดยสาร

หลังจากการประกาศขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS เว็บไซต์ moneychannel.co.th ได้รายงานรวมบทวิเคราะห์ ‘Volume Alert-หุ้น BTS วิ่งฉิว จ่อขึ้นค่าโดยสาร 1ต.ค.นี้’ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 ระบุว่า บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่าการปรับเพิ่มค่าโดยสารสำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าระยะทาง 23.5 กิโลเมตรที่จะเกิดขึ้น จะช่วยทำให้รายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 1% จากระดับปัจจุบัน และมีผลบวกต่อกำไรสุทธิเต็มปีราว 3% อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะยังไม่เห็นผลบวกทันทีในปีนี้ เนื่องจากการปรับเพิ่มค่าโดยสาร จะถูกหักล้างโดยจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงในช่วงแรก (ประมาณ 3 เดือน) ซึ่ง 'เคจีไอ' ประเมินเบื้องต้นว่า การปรับอัตราค่าโดยสารครั้งนี้ จะมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2.6% จากระดับราคาเป้าหมายปัจจุบันที่ให้ไว้ 10.60 บาท จึงยังคงแนะนำ "ซื้อ"

ส่วนบทวิเคราะห์ของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่าการดำเนินการนี้ BTS สามารถทำได้ เนื่องจากค่าโดยสารเรียกเก็บปัจจุบัน ยังต่ำกว่าเพดานค่าโดยสารในสัมปทานกับ กทม. ซึ่งตรงนี้จะส่งผลบวกต่อผลกำไรโดยตรงของ BTSGIF และจะสะท้อนกลับมาหา BTS Group จากการถือหุ้นอยู่ 1/3 ของทั้งหมด 'เมย์แบงก์ กิมเอ็ง' ระบุด้วยว่า ทิศทางดัวงกล่าวอยู่ในประมาณการของตลาดแล้ว จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 10.54 บาท

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ภาพรวมระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: