แจงข่าวปล่อยบนสื่อออนไลน์กรณีพบผลไม้กระป๋องปนเปื้อนเชื้อ HIV เป็นข้อมูลเท็จ

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3494 ครั้ง

แจงข่าวปล่อยบนสื่อออนไลน์กรณีพบผลไม้กระป๋องปนเปื้อนเชื้อ HIV เป็นข้อมูลเท็จ

กรมควบคุมโรคแจงข่าวปล่อยบนสื่อออนไลน์ กรณีพบผลไม้กระป๋องปนเปื้อนเชื้อ HIV เป็นข้อมูลเท็จ ยันเป็นข่าวเก่าที่ถูกปล่อยมานานแล้วแต่มีผู้ไม่ประสงค์ดีนำกลับมาโพสต์ใหม่ เพื่อดิสเครดิตสินค้าไทย เผยกรณีดังกล่าวมีหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ชี้กระบวนการผลิตอาหารกระป๋องผ่านความร้อนสูงเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาจะถูกทำลายหมด จึงไม่พบการปนเปื้อนเชื้อ HIV แน่นอน ย้ำชัดเชื้อเอดส์ติดต่อได้แค่ 3 ทางเท่านั้นคือ การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้มีเชื้อ HIV การมีเพศสัมพันธ์ และการติดต่อจากแม่สู่ลูก ที่มาภาพประกอบ: 445693 (CC0)

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมานายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงกรณีมีข่าวปล่อยตามสื่อต่างๆที่ระบุว่ามีการส่งต่อข้อความทางไลน์แจ้งเตือนให้ผู้ที่ได้รับข้อความงดเว้นการบริโภคผลไม้กระป๋องที่ผลิตจากประเทศไทย เนื่องจากพบการปนเปื้อนเชื้อไวรัส HIV นั้น ทางกรมควบคุมโรคขอชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความเท็จที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ รองรับ และเป็นข้อความเก่าที่มีการส่งต่อทางไลน์เมื่อหลายปีมาแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้มีผู้ที่ไม่ประสงค์ดีนำกลับมาโพสต์ใหม่ โดยอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิดและลดความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการไทย และผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องจากประเทศไทย

จากกรณีดังกล่าวได้มีหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้อง มีทั้ง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรวจสอบและได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วว่า ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องของไทยที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ผ่านการตรวจสอบและรับรองด้านสุขอนามัยและมาตรฐานการผลิตตามหลักสากล (GMP และ HAACP) กระบวนการวิธีการผลิตอาหารกระป๋องที่ต้องใช้ความร้อนสูงจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรครวมทั้งไวรัสอื่นที่อาจปนเปื้อนมาถูกทำลายหมดจากกรรมวิธีการแปรรูปด้วยการบรรจุกระป๋องนี้ จึงไม่สามารถที่จะพบการปนเปื้อนเชื้อ HIV ได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เชื้อ HIV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งจะมีชีวิตอยู่หรือทำให้เกิดโรคในคนได้

นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อไปว่าเชื้อ HIV พบได้มากที่สุดในเลือด น้ำเหลือง รองลงมา น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด ส่วนสารคัดหลั่งอื่น ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ เหงื่อ น้ำนม มีปริมาณเชื้อไม่มากพอที่จะทำให้ติดเชื้อได้ ส่วนการติดต่อของเชื้อ HIV นั้น สามารถติดต่อได้ 3 ช่องทางหลัก คือ การมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้มีเชื้อ HIV และการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก โดยข้อเท็จจริงก็คือเชื้อ HIV เป็นเชื้อไวรัสที่มีชีวิตอยู่ได้ในร่างกายของมนุษย์ สามารถติดต่อกันได้ คือเชื้อที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น เชื้อที่อยู่นอกร่างกาย บนพื้น หรืออยู่ในสัตว์อื่น ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ โดยทั่วไปเชื้อ HIV เป็นเชื้อที่ไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย เมื่อเชื้อ HIV ออกมานอกร่างกาย แม้ไม่ถูกยาฆ่าเชื้อใด ๆ ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนัก หากไม่มีอาหาร ความชื้น อุณหภูมิที่พอเหมาะ หรือยังไม่สามารถกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายของคนได้ เชื้อจะลดจำนวนลงและตายไปจนหมดในที่สุด

เชื้อ HIV จะอยู่ได้นานเป็นวันหรือเป็นชั่วโมง เชื้อจะตายเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายนอก เช่นเชื้อจะตายเร็วขึ้น ถ้าถูกอากาศร้อน ความแล้ง ความเป็นกรดด่าง แสงแดด แต่เชื้ออาจจะอยู่ได้นานหลายชั่วโมง หรือเป็นวันถ้าอยู่ที่อุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะ หรือถ้าอยู่ในห้องแอร์ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ก็อาจอยู่ได้นานหลายวัน แต่ไม่ถึงสัปดาห์ และต้องอยู่ในสภาพที่ยังเป็นของเหลว เช่น อยู่ในเลือดหรือในน้ำอสุจิ แต่ถ้าแห้งแล้วเชื้อก็จะตายไป ถ้าเชื้อ HIV ถูกความร้อน 56 องศาเซลเซียส นาน 10-15 นาที เชื้อจะตายหมด และนอกจากนี้ยังทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ เช่น น้ำยาซักผ้าขาว เป็นต้น

“ดังนั้นการส่งต่อข่าวหรือข้อความทางไลน์ว่าพบผลไม้กระป๋องปนเปื้อนเชื้อ HIV นั้น จึงเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎากล่าวในตอนท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: